เป็นผู้นำก็อ่อนแอได้ แต่ต้องบริหารความรู้สึกให้เป็น

หัวหน้าจะบริหารความเปราะบางของตัวเองอย่างไรให้ทีมเข้าใจ และสร้างผลลัพธ์งานได้ดียิ่งขึ้น

Last updated on ธ.ค. 4, 2023

Posted on พ.ย. 27, 2023

“ความอ่อนแอ คือเครื่องวัดความกล้าหาญ”

ประโยคทรงพลังจากเบรเน่ บราวน์ (Brené Brown) เธอเป็นนักวิชาการ นักพูดติดท็อปโลกของ Ted Talk และยังเป็นเจ้าของหนังสือ The Power of Vulnerability

แต่บทความนี้เราไม่ได้จะมาคุยประวัติของคุณเบรเน่ เราอยากจะชวนหลาย ๆ คนมาตั้งคำถามถึงความอ่อนแอในฐานะลีดเดอร์ หรือผู้นำองค์กร ว่าสามารถแสดงออกได้มากแค่ไหน?

เคยสังเกตไหมว่าคนที่เป็นหัวหน้ามักไม่แสดงความอ่อนแอให้เราได้เห็น หรือตัวเราที่เป็นหัวหน้าเองก็ไม่ค่อยอยากจะโชว์ว่าเราเหนื่อย ท้อกับบางเรื่อง อยากให้แสดงความเข้มแข็งให้ทุกคนได้เห็นอยู่เสมอ

เบรเน่เน้นย้ำว่าความเปราะบางไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นตัวชี้วัดความกล้าหาญ ผลการวิจัยของเบรเน่ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้นำที่เต็มใจที่จะเสี่ยง และยอมรับความเสี่ยงมีแนวโน้มที่สร้างแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไว้วางใจ จริงใจ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรเติบโตได้ดีกว่าเดิม

ไซมอน ซิเน็ค (Simon Sinek) นักเขียนชื่อดังและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ก็เชื่อในพลังของความอ่อนแอในการเป็นผู้นำเช่นกัน ในหนังสือ Leaders Eat Last: Why Some Teams Pull Together and Others Don't ของเขาเอง บอกว่าผู้นำที่ยอมรับ และเต็มใจที่จะแบ่งปันจุดอ่อนของตัวเองกับทีมบ้าง ช่วยทำให้ทีมรู้สึกปลอดภัย และได้ความไว้วางใจ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกันมันโอเคขึ้น

เล่ามาถึงตรงนี้ไม่ได้จะบอกให้ผู้นำหรือลีดเดอร์ทุกคนเดินไปคุยกับทุกเรื่อง ทุกความลับ ทุกปมปัญหาในชีวิตแต่อย่างใด แต่อยากชวนให้เรายอมรับว่าการที่ตัวเราเองในฐานะลีดเดอร์จะมีมุมที่อ่อนแอบ้างไม่ใช่เรื่องผิด และในบางสถานการณ์ก็อาจช่วยให้เราผ่านพ้นบางวิกฤตไปได้เช่นเดียวกัน

😢 แล้วเราจะเป็นคนที่มีความอ่อนแอบ้างในแบบของลีดเดอร์ได้อย่างไรบ้าง? 😢

1. เรียนรู้ช่องโหว่ของตัวเองอย่างมีคุณค่า

การเป็นคนอ่อนแอไม่ได้ทำให้คุณอ่อนแอ แต่ช่วยให้คุณแสดงตัวตนที่แท้จริงของคุณให้คนอื่นเห็นได้ เบรเน่บอกว่าอาจจะต้องมีบางครั้งที่เราต้องละทิ้งตัวตนของคนที่เรา ‘อยากจะเป็น’ และยอมรับในสิ่งที่เราเป็นให้ได้

2. ยอมรับความรู้สึกไม่สบายใจของตัวเอง

แพททริก เลนโชนี (Patrick Lencioni) ผู้เขียนหนังสือ The Five Dysfunctions of a Team: A Leadership Fable บอกว่าผู้นำที่ยอมรับข้อผิดพลาด และความเปราะบางของตัวเองจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการเปิดกว้างและการเรียนรู้ได้ดี

3. ใช้ความอ่อนแอให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

หากเราฝึกฝนการแสดงออกเรื่องนี้ได้บ่อย ๆ จัดการจุดอ่อน และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม กับคนที่เหมาะสม จะช่วยสร้างพลัง และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับตัวเองแล้วก็ทีมรอบข้างได้ด้วย เหมือนเวลาที่เราได้มีโอกาสไปฟังงาน Talk หรืองานเสวนาของคนที่มาแชร์ความล้มเหลวของตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง จนเกิดเป็นไฟในการทำงานของเราต่อไป

เมื่อเรารู้จักบริหารความอ่อนแอ ความเปราะบางของตัวเองแล้ว การทำสิ่งนี้จะสร้างเรื่องดี ๆ อะไรให้กับเราในฐานะลีดเดอร์บ้าง เพราะพอพูดเรื่องความอ่อนแอ คนก็มักจะมองไปในทางลบเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเผยจุดอ่อนให้คู่แข่งรู้ การตกเป็นเป้าหมายของคนที่เหนือกว่า การดูไม่เก่งในสายตาคนอื่น เป็นต้น


ความอ่อนแอช่วยให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น เป็นมนุษย์คุยกัน แลกเปลี่ยนโมเม้นท์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่แค่ทำงานไปเรื่อย ๆ

ความอ่อนแอช่วยนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า ช่วยให้ทีมกล้าที่จะออกจาก confort zone กล้ารับความเสี่ยง พร้อมเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ความไม่แน่นอน อย่างที่ผู้นำเองก็เป็น

ความอ่อนแอช่วยให้เรารู้ที่จะ ‘รับ’ มากขึ้น บางทีพอเป็นหัวหน้าก็อยากจะจัดการทุกอย่างให้จบในตัวเอง แต่ความท้าทายหนึ่งคือการที่เรากล้าที่จะมอบหมายงานให้ผู้อื่น กล้าที่จะยอมรับว่าเรากำลังถืองานมากเกินไป และยอมให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานไปด้วยกัน

ความอ่อนแอทำให้เราเจอปัญหาได้ไวขึ้น เพราะเรากับทีมมีการคุย และแชร์ริ่งหลาย ๆ เรื่องร่วมกัน ทำให้เกิดการเปิดกว้างทางการสื่อสารมากขึ้น คนจะกล้ายอมรับความผิดพลาดเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่ใช่การตำหนิ หรือการใช้บทลงโทษ


แล้วผู้อ่านแต่ละคนมีวิธีการบริหารความอ่อนแอของตัวเองอย่างไรกันบ้าง มาแชร์ริ่งกันได้นะคะ 😄


แปล เรียบเรียง: ชญานิศ จำปีรัตน์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags