บาลานซ์ความงามในอุดมคติกับความจริง คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องทำตลอดชีวิต

ถอดบทเรียนวิชาครีเอทีฟของ POEM โดย ชวนล ไคสิริ ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อแบรนด์ไทย POEM

Last updated on พ.ย. 26, 2023

Posted on พ.ย. 26, 2023

ใครในนี้ที่ชอบเรียนภาษาหรือเรียนศิลปะ มากกว่าวิชาคำนวณบ้าง

เชื่อเลยว่าหลายคนนั้น มีวิชาที่ชอบไม่เหมือนกัน บางคนบาลานซ์ได้ดี หรือบางคนก็ชอบแต่ละวิชาแบบสุดโต่งไปเลยก็มี คุณชวนล ไคสิริ (ฌอน)  ดีไซเนอร์ และผู้ก่อตั้งห้องเสื้อแบรนด์ไทย POEM ก็เป็นหนึ่งในคนที่ชอบเรียนศิลปะ มากกว่าวิชาคำนวณ สิ่งนี้มันได้ผลักดันเขาจนกลายเป็นดีไซเนอร์ระดับโลกอย่างทุกวันนี้

ที่งาน TEDxBangkok นั้นคุณชวนลก็ได้ถอดบทเรียนจากเรื่ององค์ประกอบคู่ตรงข้าม (Juxtaposition) เพื่อตามหา  ‘สมดุล’ มาเป็นคำตอบของทุกคำถามในชีวิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ POEM ไปจนถึงชีวิตส่วนตัวของเขา อะไรกันที่จุดประกายให้คุณชวนลครีเอทีฟดีไซน์ของ POEM ออกมาได้อย่างลงตัว

วิชาสถาปัตย์คือ วิชาที่เรียนศิลปะกับวิทยาศาสตร์แบบลงลึกไปพร้อมกัน มันนำมาซึ่งแนวความรู้บางอย่างที่ทำให้คุณชวนลได้ความคิดมาสร้างแบรนด์ POEM 

คูณชวนลเล่าว่า ตอนเช้า 8 โมงของทุกวัน เขาต้องตื่นไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบมาก เพราะในการเรียนคณะสถาปัตย์  อาจารย์จะสอนตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เรียนวิชาออกแบบเลยว่า ‘ในการออกแบบ มันจะมีองค์ประกอบคู่ตรงข้ามคู่หนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเราต้องมอง และวิเคราะห์การออกแบบจากสิ่งนี้ให้ได้’ 

องค์ประกอบคู่ข้ามนั้นก็คือ ความงามกับการใช้สอย (Form & Function) เราจะต้องบาลานซ์ทั้งสองสิ่งนี้ให้ดี และคนออกแบบแต่ละคนก็จะบาลานซ์โฟกัสคนละจุดไม่เหมือนกัน โดยหนึ่งในคนที่คุณชวนลนำมายกตัวอย่างคือแฟรงค์ เกห์รี่ (Frank Gehry) ผู้ออกแบบ Walt Disney Concert Hall ผู้ที่ยึดถือเรื่องความงามเป็นหลัก กับหลักการของ มีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Mies van der Rohe) บิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งยึดหลักการที่ว่า ‘ความงามทั้งหมดจะมาจากการใช้สอยเท่านั้น’

สถาปนิกทั้ง 2 คนค้นพบความงามกับการใช้สอยจากเวลา และบริบทที่เกิดขึ้นต่างกัน

การเรียนสถาปัตย์นั้นจึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้คุณชวนลได้ค้นพบเรื่องความงามกับการใช้สอยไปด้วย โดยในการทำละครสถาปัตย์ของทุกปีที่จุฬา มันทำให้เขาได้เข้ามาลงลึกถึงการศึกษาสิ่งนี้มากขึ้น 


ละครสถาปัตย์จุดประกายความฝัน

ด้วยความที่คุณชวนล ต้องแบกคอสตูมของละครสถาปัตย์กลับมาทำที่บ้านทุกปิดเทอม เพราะที่บ้านเขาเป็นร้านตัดเสื้อ นั่นทำให้คุณชวนลได้ทำงานกับแม่จนพบองค์ประกอบสำคัญในชีวิต 

“ผมโตมาในร้านตัดเสื้อของคุณแม่ แต่ไม่เคยชอบงานที่คุณแม่ทำอยู่ เพราะความชอบของผมกลับไปอยู่ในนิตยสารแฟชั่นที่เห็นประจำบ้านมากกว่า”

สิ่งนี้ได้สร้างความขัดแย้งในใจของคุณชวนลขึ้นมา เพราะเขาอยากสร้างสิ่งที่เป็นตัวของตน นั่นทำให้คุณชวนลตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อผ้า ในช่วงที่เรียนสถาปัตย์ปี 3 ซึ่งเป็นช่วงยุคฟองสบู่แตกพอดี โดยยุคนั้นเงินเดือนเด็กจบใหม่มันน้อยจนน่ากลัว ประกอบกับช่างตัดเสื้อในร้านก็ว่างอยู่แล้ว คุณชวนลจึงได้สร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมา พร้อมทั้งใช้องค์ประกอบของที่บ้านเพื่อคุมต้นทุน

ทว่าในวันที่เขาเอาเสื้อไปฝากขาย เจ้าของร้านกลับถามว่าคุณชวนลเอาเสื้อเหล่านี้มาจากไหน เพราะเสื้อผ้าที่เขาตัดนั้นคืองานระดับแบรนด์เนม

“นั่นคือวันที่ผมเห็นคุณค่า ในงานที่แม่ผมทำ”

ก่อร่างสร้างแบรนด์

หลังจากขายเสื้อไปไม่นาน คุณชวนลกลับพบว่ารายได้จากการขายเสื้อผ้า หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างไปแล้ว มันมากกว่ารายได้ของสถาปนิกจบใหม่ในขณะนั้นมาก ๆ 

สิ่งนี้มันต่อยอดออกมาเป็นแบรนด์ POEM โดยช่วงแรกของการสร้างแบรนด์นั้น ดีไซเนอร์ต้องมีแบรนด์ Identity ในใจก่อน ทว่าความยากคือ ในแต่ละซีซันนั้นมันจะมีเทรนด์ที่มักจะทำให้งานดีไซน์เขวไปทางอื่นได้เสมอ อีกทั้ง POEM ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แทบจะหลุดออกจากภาพจำของผู้หญิงในสมัยนั้น เพราะยุคนั้นผู้หญิงมักจะแต่งตัวเป็นตุ๊กตา แต่ POEM นั้นให้ผู้หญิงแต่งตัวแบบสุดโต่ง

คุณชวนลใช้เวลา 6 ปีในการบาลานซ์เทรนด์แฟชั่นจนเป็นที่รู้จักขึ้นมา ทว่าจนวันหนึ่ง ก็มีคำถามหนึ่งที่เข้ามาท้าทายกับเขา เพราะในฐานะที่สร้างเสื้อผ้าให้กับสตรี ‘แบรนด์นี้มันสร้างพลังให้กับผู้หญิงยังไง’ 

“เราทำให้ผู้หญิงเป็นพริตตี้มอเตอร์โชว์หรือเปล่า เราเผยสรีระเขามากเกินไปไหม”

จุดนั้นคือสิ่งที่ทำให้คุณชวนลคิดได้ว่า แบรนด์ต้อง Empower Human ไปพร้อมกัน

คำถามนั้น จุดประกายให้คุณชวนลได้แนวคิดใหม่ขึ้นมา โดยเขาต้องการส่งต่อคุณค่าให้คนในเจนเนอเรชั่นนี้ เหมือนกับเขาที่เห็นคุณค่าคุณของการตัดเย็บจากคุณแม่ ซึ่งคุณชวนลก็ต้องการส่งต่อคุณค่านี้ไปให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ 

สิ่งเหล่านี้ส่งต่อไปถึงการดีไซน์แบรนด์ POEM เพราะเขาอยากทำให้ ‘ผู้หญิงสามารถแต่งแบบไหนก็ได้ที่อยากแต่ง แต่ต้องมาควบคู่ไปกับการรู้จักกาลเทศะ และรู้จักการบริหารจัดการเงิน’ คุณค่านี้คือสิ่งที่ POEM ยึดถือมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา


บาลานซ์คุณค่าของอุดมคติและความจริง

ทว่าในช่วงโรคระบาดนั้น โควิดเป็นตัวเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทย และสังคมโลกทั้งหมดขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง เพราะคนในสังคมให้คุณค่าของความหลากหลายขึ้นมามากขึ้น นั่นจึงทำให้ POEM  จึงอยากส่งต่อพลังของความหลากหลายนี้ไปสู่ทุกคน

ในปี 2022 นั้น POEM ได้ออกสินค้าแฟชั่นมา โดยให้นางแบบสาวสวยมาเป็นแบบในลุ๊คบุ๊ค ทว่าในวันที่เดินบนรันเวย์เขากลับให้นางแบบที่มีรูปร่างอวบมาเดินแทน ซึ่งคุณชวนลกล่าวว่า แม้ว่าในลุ๊คบุ๊คอาจจะเป็นภาพความงามในอุดมคติ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนรันเวย์คือภาพความหลากหลายแท้จริงที่เขาอยากเห็น

ตราบใดที่แฟชั่นดีไซเนอร์สามารถส่งต่อพลังให้กับสังคม เขาเชื่อว่าสังคมจะเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความงามแบบไหน เราก็ต้องบาลานซ์ความเป็นองค์ประกอบคู่ตรงข้ามให้ได้

ดังเช่นที่เขา เห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณแม่ทำ จนพัฒนามันให้กลายเป็น Poem แบบทุกวันนี้ 

หลายคนบอกว่าการทำธุรกิจกับครอบครัวนั้นยาก แต่ถ้าเราบาลานซ์ให้ดี ธุรกิจครอบครัวจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเรา ในชีวิตนั้น มีองค์ประกอบคู่ตรงข้ามอีกเยอะแยะที่อยู่รอบตัวของเรา เขาจึงอยากให้ทุกคนมองตัวเองว่าในไทม์เฟรมของชีวิตของเรา นั้นมีอะไรที่ต้องบาลานซ์ให้ดีบ้าง บางทีก็เป็นเรื่องเวลา บางทีก็เป็นเรื่องมุมมอง และบางทีก็เป็นเรื่องของการสื่อสาร  

“การบาลานซ์เรื่องความงามที่แท้จริงกับภาพในอุดมคติ คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องทำตลอดชีวิต” - ชวนล ไคสิริ

เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

trending trending sports recipe

Share on

Tags