GREEN SKILLS ทักษะที่จะถูกจ้างงานมากขึ้นในอนาคต

5 อาชีพเกิดใหม่ของกลุ่มงานสีเขียวที่น่าจับตามองในปี 2024 สรุปเทรนด์จาก TCDC, World Economic Forum และรีพอร์ตเรื่องทักษะสีเขียว

Last updated on ธ.ค. 5, 2023

Posted on พ.ย. 28, 2023

☃️ เดี๋ยวก็อากาศหนาว 🥵 อีกสักแปปก็ร้อน 🌧 อีกสักพักก็ฝนตก

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างผิดแปลกธรรมชาติ รวมถึงปัญหาโลกเดือดที่ลุกลามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุถึงการบริโภคและการผลิตวัสดุของมนุษย์ในปัจจุบัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตและนำมาสู่ 3 เรื่องใหญ่ ๆ ให้กับโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะขยะมูลฝอย

เรื่องเหล่านี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่คนทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของทักษะสำคัญในยุคนี้นั่นคือ GREEN SKILLS

🌳 GREEN SKILLS หรือทักษะสีเขียว คืออะไร ?

จากข้อมูลของ TCDC โดยกล่าวถึงข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กลุ่มงานสีเขียว (Green Jobs) หมายถึง กลุ่มงานที่มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการสนับสนุนการพัฒนามนุษย์ ในการทำธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศ หรือชุมชนท้องถิ่นทั้งยังช่วยให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืน และมีความเป็นอยู่ที่ดี และในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลพบว่ามีการจัดจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 237% ระหว่างปี 2017 - 2022 ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียง 19% ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ

ในวันนี้คำว่าความยั่งยืนเป็นมาตรฐานและนโยบายหลักสำหรับธุรกิจทุกประเภท รายงาน Global Green Skills โดย Linkedin ระบุว่ามีการจัดจ้างงานที่ต้องการผู้มีความรู้และทักษะสีเขียวเพิ่มขึ้น 6% โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ที่มีความต้องการตำแหน่งอย่าง "ผู้จัดการด้านความยั่งยืน" เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2015 - 2021 โดยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 40% จีน 33% และออสเตรเลีย 24%


🌳 5 กลุ่มงานสีเขียวที่น่าจับตามองในปี 2024

จากข้อมูลของ TCDC ระบุถึงสายงานใหม่ที่เกี่ยวกับข้องกับ GREEN SKILLS ดังนี้

💚 1. ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability Manager)

ผู้จัดการด้านความยั่งยืน หรือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนมีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบทางนิเวศวิทยาและสังคมของบริษัท พัฒนากลยุทธ์ระยะสั้น และระยะยาวในการปรับโมเดลธุรกิจ และการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตแบบหมุนเวียน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

💚 2. ช่างเทคนิคกังหันลม (Wind Turbine Technician)

บทบาทนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตั้งใช้งาน บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลม ข้อมูลจากสมาคมพลังงานลมโลก (World Wind Energy Association:WWEA) พบว่ามูลค่าธุรกิจกังหันลมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในปี 2021 โดยกังหันลมที่มีกำลังการผลิตรวม 97.5 กิกะวัตต์ได้ถูกติดตั้งแล้วทั่วโลก

💚 3. นักนิเวศวิทยา (Ecologist)

นักนิเวศวิทยาทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจผลกระทบที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน รวมถึงศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและพัฒนาวิธีการแก้ไข

💚 4. ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Consultant)

ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ เนื่องด้วยการเพิ่มการผลิตหมุนเวียนทั่วโลกในปี 2020 ขยายตัวมากกว่า 45% จากปี 2019 ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือลูกค้า ทั้งเชิงพาณิชย์และเอกชนในการเลือกระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประสิทธิภาพสูงสุดตามความต้องการ

💚 5. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

(Environmental Health and Safety Specialist)
ตำแหน่งทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามเทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยรัฐบาลระดับชาติและนานาชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานของธุรกิจ โดยจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับนโยบายและข้อกำหนดในหลายอุตสาหกรรม


🌳 GREEN SKILLS คือทักษะของทุกคนที่ต้องเรียนรู้

จากข้อมูลของ World Economic Forum ระบุว่า เศรษฐกิจสีเขียวขับเคลื่อนโดยทักษะหลัก 6 ประการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์, สถาปัตยกรรมและการวางแผน, วิศวกรรมศาสตร์, เกษตรกรรม, ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการคิดเชิงระบบ

และจากข้อมูลในปี 2022 World Skills UK ได้ตีพิมพ์รายงานชื่อ ‘Green Skills Report’ จากการสำรวจคนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักร (อายุ 16 - 24 ปี) พบว่าอย่างน้อย 9 ใน 10 ไม่รู้สึกว่าพวกเขารู้ว่าทักษะสีเขียวคืออะไร และยังขาดแรงจูงใจสนับสนุนให้ผู้คนตระหนักถึงสิ่งนี้ ในด้านของ AimHi Earth ได้มุ่งเน้นการฝึกอบรมในด้านความยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยมีข้อมูลระบุแบบเข้าใจง่ายถึงทักษะสีเขียวที่จำเป็นถึง 15 ทักษะ แต่วันนี้เราขอนำเสนอ 9 ทักษะที่ใกล้ตัวพวกเรามากที่สุดมาฝากกันครับ ดังนี้

🟢 1. Critical Systems & Nature-Centric Thinking

การคิดเชิงวิพากษ์ ระบบนิเวศและธรรมชาติ
โดยเน้นไปที่ฝึกการตั้งคำถามถึงการเข้าใจโลกของเราว่าจะเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างไร และกลับมาใส่ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของวิธีคิด โดยเน้นไปที่การออกแบบที่เน้นให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ตลอดไปจนถึงการออกแบบห่วงโซ่อุปทานใหม่, การออกแบบเศรษฐกิจใหม่ และการออกแบบความยืดหยุ่นใหม่

🟢 2. Long-term Thinking หรือ การคิดระยะยาว

ถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นเก่าต้องคิดถึง ‘คนรุ่นอนาคต’ ให้ความสำคัญให้เขามีบทบาทเข้ามาอยู่ใจกลางเรื่องการตัดสินใจทั้งหมด เพราะโลกใบนี้คนรุ่นใหม่จะเป็นคนสานต่อเพื่อช่วยโลก รวมถึงวางแผนพัฒนาความเป็นผู้นำ ต้องมีวิวัฒนาการที่ยั่งยืน องค์กรต้องลงทุนกับการสร้างอนาคตให้มากยิ่งขึ้น

🟢 3. Dynamic Operations & Crisis Management

การบริหารงานแบบไดนามิกและการจัดการวิกฤต
มุ่งเน้นการบริหารงานที่สร้างสรรค์และสามารถปรับตัวได้ รับมือกับความไม่แน่นอนของโลก และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ เพื่อออกแบบระบบที่มีความยืดหยุ่น และที่สำคัญต้องมีความเด็ดขาดในเรื่องของการตัดสินใจ

🟢 4. Historical & Cultural Understanding

ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
เรื่องของประวัติศาสตร์มีความจำเป็น ต้องมีทักษะทำความเข้าใจ, เคารพ และเรียนรู้จากวัฒนธรรมโลกที่หลากหลายที่ไม่ใช่แค่ประเทศของตัวเอง ตั้งแต่การสร้างสรรค์ไปจนถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องของทักษะภาษาที่ต้องพูดหลายภาษามากยิ่งขึ้น

🟢 5. Monitoring Skills หรือ ทักษะการตรวจสอบ

คือการเข้าใจกรอบงานอย่างครบถ้วน สามารถตรวจสอบการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปล่อยมลพิษได้ เข้าใจการประมาณปริมาณธรรมชาติ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และสุดท้ายคือการพิจารณาความเสี่ยงด้านการเงิน

🟢 6. Baseline Fallback Skills

ทักษะการสำรองข้อมูลเบื้องต้น ทักษะทางเลือกพื้นฐาน การรู้วิธีรับมือจัดกับทั้งในเชิงทฤษฎี และปฏิบัติเกี่ยวกับตนเองและชุมชนจะมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับ Life Support System ที่จะเกิดขึ้น เช่น การปลูก, การเก็บ และการถนอมอาหาร เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้นานขึ้น กับสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้, การก่อสร้างที่พักพิงหรือสุขาภิบาลน้ำ เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น และสุดท้ายการยกระดับชุมชนให้เกิดความเข้าใจและทำงานร่วมกัน

🟢 7. Pioneer & Entrepreneurial Skills

ทักษะการเป็นผู้บุกเบิกและการเป็นผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องมองเห็นภาพที่กว้างมากกว่าเดิม มีการริเริ่มไอเดียใหม่ ๆ ท้าทายการทำรูปแบบเดิม ๆ และเน้นการลงมือทำหรือหาพาสเนอร์มาร่วมมือเพื่อให้เกิดขึ้น รวมไปถึงการดูแลทีมงานคุณต้องกระตุ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทีมงานเห็นคุณค่า ความสำคัญ และหากลุ่มคนที่มีความสามารถที่หลากหลายมาเติมให้กับองค์กร รวมถึงส่งเสริมทักษะใหม่ ๆ ให้ทีมงานอย่างสม่ำเสมอ

🟢 8. Interpersonal Skills & Kindness

ทักษะการเข้าสังคมและความเมตตา
Empathy จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากสถานการณ์สงคราม, ผู้ลี้ภัย หรือเหตุการณ์ความรุนแรง ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึง Psychological Awareness หรือการตระหนักรู้ในการรับมือกับคนโรคจิต, หัวรุนแรง, คนเห็นแก่ตัวที่ครอบงำทางการเมือง ซึ่งอาจจะเกิดในออฟฟิศของเราก็ได้เช่นกัน

🟢 9. Artistry & Storytelling Skills

ทักษะทางศิลปะและการเล่าเรื่อง
คนที่สามารถสร้างเรื่องราวก็ไม่ต่างจากคนที่ร่ายเวทมนตร์ การสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ของผู้คนจะมีผลมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้คนตระหนักรู้ถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม


แม้ว่าทักษะสีเขียว (GREEN SKILLS) อาจจะยังอยู่ห่างไกลจากคนไทยมากนัก แต่เรื่องของ ‘โลก’ คือเรื่องของเราทุกคน อันไหนทำได้เริ่มทำก่อน แล้วค่อย ๆ แบ่งปันคนรอบข้างเพื่อทำให้โลกของเราไม่ใช่แค่น่าอยู่ขึ้น แต่ยังช่วยยืดระยะเวลาให้โลกได้อยู่คู่กับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นอนาคตสืบต่อไป


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags