มีวันนี้ได้ เพราะกล้าให้พนักงานทดลองทำสิ่งใหม่!

เรียนรู้เคสระดับโลก Booking.com ด้วยการนำ Experimentation Culture มาใช้ในองค์กร

Last updated on ก.พ. 19, 2024

Posted on ธ.ค. 8, 2023

🔥 เชื่อพี่! พี่ทำมาก่อน
🔥 เชื่อพี่! พี่อาบน้ำร้อนมาก่อน
🔥 เชื่อพี่! พี่ว่าดีนะ แต่…………..
🔥 เชื่อพี่! แบบนี้ไม่เวิร์กหรอก อย่าหาทำ!

เพื่อน ๆ เคยเจอคำพูดเหล่านี้ในการทำงานกันไหม ?
ขออนุญาตตบบ่าเบา ๆ แล้วอยากให้กำลังใจว่า
“ผู้นำที่ดีเขาไม่ทำแบบนี้กัน!”

หนึ่งในวัฒนธรรมที่องค์กรระดับโลกนำมาปรับใช้เหมือน ๆ กันคือ Experimentation Culture เป็นหนึ่งในวิธีคิดของการทำงานยุคใหม่ที่กล้าให้ทีมงาน ‘ทดลองทำสิ่งใหม่’ โดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างอายุ หรือ Generation ใครเกิดก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน พวกคุณเท่าเทียมกัน เป็นหนึ่งใน Culture ขององค์กรที่ทำให้เกิด Experimentation Encourages Innovation หรือ การทดลองส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยบริษัทชั้นนำทั่วโลกมักใช้วิธีคิดนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น Apple, Amazon, Booking.com, Facebook, Google, Microsoft และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย

🎯 ตัวอย่างจากบริษัทระดับโลก

จากข้อมูลของ Harvard Business Review ที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวจากบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Booking.com โดยในปี 2017 ได้มีการทดลองครั้งใหญ่คือการ ‘รื้อ’! หน้าแรกของเว็บ’ ตั้งแต่รูปภาพ, ปุ่มกด, ข้อความ, เพียงเพราะต้องการยกระดับประสบการณ์ให้กับลูกค้า แค่เข้าเว็บมาก็เจอ 3 ปุ่มง่าย ๆ “ที่พัก + เที่ยวบิน + รถเช่า” ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการปรับ แต่…… มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกนะ

Gillian Tans (กิลเลี่ยน แทนส์) อดีต CEO ของ Booking.com เธอเป็นห่วงมากว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ลูกค้าประจำของบริษัทเกิดการสับสน ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขของบริษัทลดลง มีผู้เข้ามาใช้น้อยลง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ระงับแผนการนี้ เหตุเพราะวัฒนธรรมที่มีกฎเหล็กในเรื่องของ

“ทุกคนในบริษัทสามารถทำการทดลอง ทดสอบอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหาร”

กฎเหล็กนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่!

Booking.com ได้ทำการทดสอบเว็บไซต์อย่างเข้มงวดด้วยการทำ A/B Test ซึ่งมีการทดสอบมากกว่า 25,000 ครั้งต่อปี ตัวอย่างเช่น ทดลองการแสดงราคาโรงแรมที่แตกต่างกัน, ทดสอบฟีเจอร์ให้ลูกค้าจองเที่ยวบินและรถเช่าผ่านเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งความเร็วในการเข้าเว็บไซต์ ต้องไม่อืด ไม่ช้า โดยการทดลองทั้งหมดนี้ส่งผลให้บริษัทจาก Startup เล็ก ๆ ที่คนรู้จักแค่กลุ่มนึง ไปสู่ แพลตฟอร์มที่พักออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ทันที ด้วยเหตุผลเล็ก ๆ ที่เกิดจากการทดลองเรื่องใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ในทางกลับกันถ้าการทดลองส่งผลเสียกับบริษัทก็สามารถยกเลิกการทดลองได้ทันที


🎯 Experimentation Culture ที่ดีต้องมีหน้าตาอย่างไร

คงตอบได้ยากว่า Experimentation Culture แบบไหนที่ดีที่สุด เพราะแต่ละองค์กรมีความแตกต่างในปัจจัยหลากหลายด้าน แต่ในบทความนี้อยากพาทุกคนไปดูเทคนิคที่ได้เรียนรู้จาก Booking.com ว่าเขามีเทคนิคอย่างไรถึงทำให้ผู้นำเปิดใจ และพนักงานกล้าลองสิ่งใหม่

👍 1. องค์กรต้องปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็น

ทุกคนในองค์กรตั้งแต่ผู้นำลงมา ต้องให้ความสำคัญกับ ‘Surprises’ ของไอเดียที่เกิดขึ้น แม้ไอเดียเหล่านั้นอาจจะตีเป็นตัวเลขได้ยาก แต่ต้องมองว่านี่คือโอกาสในการให้ทีมได้เรียนรู้ หล่อหลอมคนทำงานให้กล้าฝันใหญ่ เป็นองค์กรที่กล้าคิดไอเดียใหม่ ๆ แบบไม่เขิลอาย โดยที่ Booking.com มีเพียง 10% เท่านั้นในการทดลองแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีในเชิงบวก แม้ตัวเลขอาจจะไม่เยอะ แต่ทุกการทดลองทุกคนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดอยู่เสมอ แถมการทดลองยังสามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และลดความกลัวที่พนักงานต้องเผชิญความล้มเหลวได้ดี

👍 2. การทดลองที่มีข้อมูลรองรับ สำคัญกว่าความคิดเห็นทั่วไป

ในการประชุม หรือนำเสนอไอเดียใด ๆ ก็ตามไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะเป็นของใคร ถ้าหากข้อมูลที่นำเสนอถูกทดลองและมีการพิสูจน์มาแล้วว่าดีจริงลูกค้ามาใช้บริการชื่นชอบ ต่อให้คุณเป็นผู้บริหารระดับสูงแค่ไหนก็ต้องยอมรับกับข้อมูลที่เกิดขึ้น นี่คือจุดแข็งซึ่งเป็นทัศนคติที่ Booking.com ใช้เสมอมา

👍 3. ต้องยอมรับโมเดลผู้นำที่แตกต่าง

ไม่ว่าคุณจะอยู่ตำแหน่งไหน ทีมไหนก็ตามคุณสร้างเป็นผู้นำการทดลองเพื่อพัฒนาไปสู่โปรเจกต์ใหม่ ๆ ได้ Booking.com ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้พนักงานเป็นผู้นำ ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และเร่งให้เกิดนวัตกรรม เกิดการเรียนรู้แม้จะผิดพลาดก็ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีกฎให้ทุกคนในบริษัทสามารถทำการทดลอง ทดสอบอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหาร!

👍 4. ไอเดียที่ดีต้องมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพ

หน้าที่สำคัญของผู้บริหาร หรือหัวหน้าฝ่ายที่ดี นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้กับทีมงานแล้ว คุณจะต้องหาวิธีวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดขอบเขตให้กับการทดลองแต่ละโปรเจกต์ และให้อิสระพนักงานในการออกแบบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคได้อย่างอิสระ โดยไม่หลุดโฟกัสจากขอบเขตที่กำหนดไว้

👍 5. Be a role model….ผู้นำจงเป็นแบบอย่าง

สิ่งสำคัญในการทำการทดลองอะไรใหม่ ตัวผู้นำต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบแบบเดียวกับคนอื่น ๆ ต้องยอมรับในไอเดียของทีม ห้ามคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีม และต้องไม่กลัวการยอมรับว่าเราไม่รู้อะไร และเปิดใจเพื่อเรียนรู้ คอยซัพพอร์ตทีมงาน เตรียมอุปกรณ์, เตรียมเงินลงทุน, ไม่แน่ว่าไอเดียที่เรากำลังทดลอง อาจจะเปลี่ยนโฉมบริษัทเหมือนกับ Booking.com ที่มีวันนี้ได้เพราะเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลอง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวมาจนถึงทุกวันนี้


ปิดท้ายนี้มาบอกกันหน่อยสิว่า องค์กรของเพื่อน ๆ เป็นองค์กรแห่งการทดลอง แล้วหรือยัง ? 😊 👍


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags