เป็นลีดเดอร์จะกางร่มให้ทีมตลอดไปไม่ได้

5 วิธีเตรียมเสื้อกันฝนให้ทีมเผชิญพายุ เมื่อหัวหน้าไม่อยู่

Last updated on ธ.ค. 27, 2023

Posted on ธ.ค. 18, 2023

ในช่วงปลายปี มักจะเป็นเวลาที่พนักงานใช้วันลากันอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงแต่พนักงานระดับปฏิบัติการ เพราะหัวหน้าอย่างเรา ๆ ก็มักจะลากันช่วงนี้เพื่อให้สมกับความเหนื่อยล้าที่ทำมาทั้งปีนี่แหละ

การใช้ช่วงเวลาหยุดยาวถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิต และการทำงาน มันเติมพลังให้เรา มีแรงไปไฝว้กับงานในวันต่อ ๆ ไป ทว่าอย่างหนึ่งที่ลีดเดอร์หลายคนมักจะมีความกังวลใจคือ เวลาเราไม่อยู่ ลูกทีมจะแก้ปัญหาได้ไหม ยิ่งหยุดไปหลายวัน ก็ยิ่งมีสิ่งที่ทำให้เราต้องตัดสินใจมากขึ้น แถมการที่เราแบกรับทุกอย่างไว้ ก็ยิ่งมีความกังวลใจว่าทีมจะผ่านมันไปไม่ได้เมื่อเราไม่อยู่

ลีดเดอร์ประเภทนี้มักจะถูกเรียกว่า ‘หัวหน้าผู้คอยกางร่ม’ (The Umbrella Manager) ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มหัวหน้าที่มักจะออกรับทุกอย่าง เพื่อปกป้องลูกทีมจากปัญหา

ทว่าหลายต่อหลายครั้งหัวหน้าผู้คอยกางร่มนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเป็นร่มกันฝนให้กับลูกทีมได้เสมอไป เพราะพวกเขาก็มีวันที่ต้องปล่อยให้ทีมเผชิญพายุเอง ฉะนั้นเมื่อมีพายุแล้วเราไม่สามารถกางร่มได้ทุกครั้งไป เราจะทำอย่างไรให้ทีมมีเสื้อกันฝนเพื่อฝ่าพายุใหญ่ ในวันที่เราไม่อยู่ได้

1. เผชิญกับความกลัวมันตรง ๆ ☔ ☔

ขั้นตอนแรกคือการทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้เราพยายามหาร่มมาบังให้พวกเขา ซึ่งมายด์เซตแบบไหนที่ทำให้เรากลัว ไม่ว่าจะเป็น

👉 ความกังวลว่าลูกทีมจะพังทลายภายใต้แรงกดดัน เมื่อเราไม่อยู่
👉 ความกลัวว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพวกเขา จะส่งผลกระทบต่อโปรเจกต์
👉 ความลังเลใจว่าเมื่อเราไม่อยู่ จะทำให้พวกเขานำปัญหาปวดหัวมาสู่เราได้

เมื่อรู้แล้วว่ากังวลเรื่องอะไร ลองถามตัวเองว่าผู้นำคนอื่น ๆ นั้นเผชิญปัญหาเหล่านี้หรือไม่ จากนั้นก็ท้าทายตัวเองด้วยการดูว่า ระบบการทำงานของเราส่งผลเสียต่อทีมเมื่อเราไม่อยู่บ้างไหม เมื่อเรารู้จักเผชิญหน้า เราจะรู้ว่าอะไรคือต้นตอของความกลัวในใจ


2. สมมติว่าทีมของเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ ☔ ☔

ลองมอบอำนาจให้ทีมของเราแก้ปัญหาด้วยตนเองดูก่อน โดยเราสามารถแสดงความไว้วางใจ และความมั่นใจในการจัดการปัญหา ถ้ายังพอมีเวลา ลองหลีกเลี่ยงการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เร็วเกินไป เพราะการไม่เฉลยวิธีแก้ปัญหา ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในทีมได้คิดอย่างอิสระ และสามารถคิดวิธีแก้ปัญหาอย่างด้วยความครีเอทีฟ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม


3. ยอมรับความสะดุดในระยะสั้น ☔ ☔

การสะดุดในระยะสั้นทำให้เกิดประสบการณ์ และโอกาสการเรียนรู้ สิ่งนี้ทำให้ลูกทีมรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไร พลาดตรงไหน จากนั้นจึงหาวิธีการพัฒนาเพื่อปรับปรุงปัญหา เพราะการปล่อยให้ทีมเผชิญกับความ ‘ล้มเหลว’ (และได้เรียนรู้) อย่างอิสระ จะเป็นเส้นทางสู่การเติบโตในระยะยาวที่เร็วกว่าการควบคุมผลลัพธ์ในระยะสั้นได้อย่างดี


4. ทดลองให้ทั้งทีม และเราได้ออกจากคอมฟอร์ตโซน ☔ ☔

ไม่มีใครที่จะรู้สึกสบายใจเมื่อต้องเผชิญปัญหาใหม่ ๆ หรอก เพราะแม้แต่คนที่ชอบความท้าทาย ก็ยังต้องการโอกาสในการปรับตัว ลีดเดอร์อย่างเราเองก็เช่นกัน เพราะการปล่อยให้พวกเขาจัดการปัญหาเมื่อเราไม่อยู่ มันก็เป็นหนึ่งในก้าวที่ออกจากคอมฟอร์ตโซน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากให้ทีมได้เผชิญกับความท้าทาย เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมบางอย่าง เพื่อจำลองให้ทีมเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้นะ อาทิ

👉 สร้างสภาพแวดล้อมของทีมที่สามารถ ‘ทดลองได้อย่างปลอดภัย’ และยอมรับกรอบความคิดในการเติบโตของพวกเขา
👉 ปลูกฝังมายด์ว่า เมื่อเห็นปัญหาให้เข้าใกล้มันด้วย ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ แทนความกลัว
👉 ขจัดปัญหาเรื่อง Miscommunication ด้วยการลดการคาดเดาการสื่อสาร และสร้างวิธีการบรีฟงานที่ชัดเจน
👉 ทดลองด้วยแนวคิด เมื่อมีปัญหาให้มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน จากนั้นค่อยมุ่งเน้นหาวิธีแก้ปัญหา


5. พึ่งพาจุดแข็งของทักษะความเป็นผู้นำ ☔ ☔

ท้ายที่สุด เราต้องยอมรับว่า เมื่อจะโตเป็นผู้นำนั้น ขอบเขตความรับผิดชอบของเราก็ขยายใหญ่ขึ้น นั่นทำให้ทักษะต่าง ๆ จะน้อยลง เพราะเราจะให้ความสำคัญกับความเป็นผู้นำมาเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้นำหลายคนมีปัญหาในส่วนนี้ เพราะมักเอาเวลาไปไล่ตามทุกรายละเอียด และเป็นเดอะแบกของทีมด้วยการเข้าไปอยู่ในทุกปัญหา ดังนั้นจงรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรปล่อย จากนั้นก็พึ่งพาทักษะความเป็นผู้นำที่เรามีก็พอ


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags