7 เรื่องที่องค์กรต้องเข้าใจทีมงาน เพื่อการทำงานในปี 20

Last updated on ม.ค. 20, 2022

Posted on ม.ค. 12, 2022

ก้าวเข้าสู่ปี 2022 แล้ว หนึ่งสิ่งที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญในแผนการดำเนินงานในแต่ละปีนั้นหนีไม่พ้นเรื่องของ “ทีมงาน”

เพราะความท้าทายขององค์กรในปีนี้เป็นผลกระทบจากเรื่อง The Great Resignation ที่เป็นเรื่องใหญ่ของปี 2021ดังนั้นโจทย์ใหม่ของปี 2022 จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านจาก “องค์กร” เป็น “บุคคล” และจาก “ฉัน” เป็น “เรา” 

บทวิเคราะห์ของ Korn Ferry พบว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเข้าใจและพัฒนาทั้ง 7 ด้าน ต่อไปนี้ คือ 1. การเปลี่ยนแปลงองค์กร 2. ภาวะขาดแคลน 3. พลังชีวิต 4. ความยั่งยืน 5. ปัจเจกภาพ 6. ความเป็นพวกพ้อง และ 7. ภาระรับผิดชอบ เพื่อการพัฒนาทั้งตัวองค์กรและทีมงานไปพร้อมๆ กัน


ซึ่งสำหรับบทความในพาร์ทแรกนี้เราจะพามาดูกันก่อน 3 เรื่อง 

1. ด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร

อนาคตการทำงานจากนี้ไปเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสภาพแวดล้อมหรือโลกดิจิทัลที่เร่งรัด ไหนจะปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จนทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทุกองค์กรต้องงัดทุกกระบวนท่าออกมาเพื่อปรับตัว และปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเพื่อให้อยู่รอด พูดได้ว่าหากปี 2020 และ 2021 คือ ปีแห่งการปรับโครงสร้างการทำงานแบบไม่คาดฝัน ปี 2022 นี้ก็คือ ปีที่องค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง โดยในข้อนี้ เราก็มีอยู่ 6 ข้อย่อยที่จะมาช่วยแนะนำว่าสิ่งที่องค์กรต้องปรับเปลี่ยนนั้นมีอะไรบ้าง

‘6 สิ่งที่องค์กรต้องปรับเปลี่ยนในปี 2022’

1.1 ‘เปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มและตลาดซื้อขาย’
เพราะธุรกิจยุคใหม่มีการกระจายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดรูปแบบของงานรวมถึงวิธีการทำงานและโครงสร้างทางธุรกิจแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้หลายองค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มและยกระดับทักษะของทีมงาน รวมถึงหาการจ้างงานแบบเป็นโปรเจ็คต์

1.2 ‘คิดแบบลื่นไหล’
รูปแบบโครงสร้างทีมงานจะแบนขึ้น และจะไม่มีการแบ่งเป็นลำดับขั้นอีกต่อไป เป็นรูปแบบองค์กรที่ใครก็สามารถเข้าถึงหัวหน้าได้ และองค์กรต้องหาหัวหน้าที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นการทำงานรูปแบบใหม่ได้ทั่วทั้งองค์กร ผู้นำด้านบริหารจะต้องกลายเป็นผู้นำแบบ “เถ้าแก่” และการทำงานแบบโครงการจะต้อง “เปิด” เสมอ เพื่อตอบรับรูปแบบการทำงานที่หลากหลายของคนในทีม แต่ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกพรรคพวก โดยกว่า 69% ของบริษัทชั้นนำมองหาทีมงานที่ยืดหยุ่นและช่างสงสัยมากกว่ามองแค่ประวัติการทำงานเพียงอย่างเดียว

1.3 ‘สร้างความหลากหลายในองค์กรเพื่อให้ได้เข้าใจคนแต่ละกลุ่ม’
องค์กรจำเป็นต้องจ้างคนจากหลากหลายกลุ่มความสามารถเพื่อสร้างกลยุทธ์ในการจัดการแบบเฉพาะกลุ่ม เพราะสินค้าและการบริการในยุคนี้เป็นแบบเฉพาะกลุ่ม การทำความเข้าใจความคิดของคนแต่ละแบบจึงต้องอาศัยทีมงานที่หลากหลาย

1.4 ‘ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์’
องค์กรจำเป็นต้องดูว่าเครื่องมือหรือเทคโนโลยีกับความสามารถของทีมงานสามารถเสริมกันและกันได้อย่างไร นัยหนึ่งองค์กรต้องมี “Digital Natives” ที่เรียนรู้ได้ไว ปรับตัวเก่ง แถมยังเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และอีกนัยหนึ่ง องค์กรก็ต้องการ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล” ที่จะคอยประสานความสัมพันธ์กับคนภายในองค์กร นำด้านการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมขององค์กร มีความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีประสบการณ์ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน

1.5 ‘จัดรูปแบบการทำงานทางไกลแบบใหม่’
โรคระบาดที่ผ่านมาทำให้เกิดการทำงานแบบ WFH และการทำงาน Hybrid ซึ่งองค์กรจะต้องรู้ว่าการทำงานแบบไหนทำงานทางไกลได้ดี และเปลี่ยนการทำงานให้เป็นจังหวะเดียวกันของทีมให้เป็นการทำงานตามจังหวะของละคนเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุดของบุคคล

1.6 ‘สร้างการร่วมมือกันจากหลายวงการ’
ปี 2022 จะเป็นปีแห่ง Collaboration ซึ่งจะสร้างให้เกิดงานรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยีผสมเข้ากับการค้าปลีก จนเกิดเป็นการซื้อของผ่านโลกเสมือน หรือแผนการทำ Metaverse ของ Meta กำลังจะสร้างงานอีกกว่าพันตำแหน่งในยุโรป 


2. ภาวะขาดแคลน

ปัญหาการขาดแคลนทีมงานในปี 2022 ยังไม่หายไปไหน เพราะในสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็มีตำแหน่งงานกว่า 11 ล้านตำแหน่งที่ยังว่าง การปรับตัวขององค์กรในปีนี้จึงไม่ใช่แค่การหาทีมงานที่เหมาะสม แต่รวมถึงการรักษาคนที่ยังอยู่และพัฒนาศักยภาพของคนเหล่านั้นด้วย

มีเรื่องน่าสนใจบอกว่ากว่า 50% ของทีมงานที่องค์กรมีในตอนนี้จะต้องพัฒนาทักษะภายในปี 2025 และองค์กรจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับทีมงานที่ยังอยู่กับองค์กร ไม่ว่าจะเรื่องค่าตอบแทน , สวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ , ความสำเร็จ รางวัล และเรื่องของ DE&I (ความหลากหลาย ความเท่าเทียมและความเป็นพวกพ้อง) ยื่นข้อเสนอดีๆ เพื่อรักษาทีมงานเอาไว้ รวมถึงเรื่องของการจ้างทีมงานใหม่ๆ ที่องค์กรจะต้องมองหาคนปรับตัวเก่งเรียนรู้ไว และมีทักษะสำคัญ อย่าง soft skills ที่จำเป็นต่ออนาคต แทนการมองว่าจบอะไรมา


3. ด้านพลังชีวิต

มีรายงานว่าพนักงานกว่า 89% ประสบปัญหา Burnout และ 81% ประสบปัญหา Burnout มากกว่าตอนช่วงแรกเริ่มของโรคระบาด

สุขภาวะและสวัสดิการของพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่องค์กรต้องคำนึงถึงในแผนงานปีนี้ เพื่อดูแลการทำงานของทีมงานและการทำงานร่วมกับองค์กรให้ดีขึ้น  เพราะฝั่งพนักงานก็ต้องการให้องค์กรมีความเห็นใจในฐานะมนุษย์มากขึ้น และมีความเข้าใจคนทำงานเรื่องการทำงานแบบยืดหยุ่น ให้สวัสดิการด้านสุขภาพที่เพียงพอ คอยดูแลความเป็นไปของพนักงาน และปลูกฝังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ขององค์กร เพื่อช่วยทีมงานให้มีพลังงานพอเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่หนักหนาต่างๆ

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะของพนักงาน ส่งผลต่อเรื่องการลางาน ประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความพอใจโดยรวมของพนักงานด้วย และเพื่อเป็นการเพิ่มสุขภาวะให้กับทีมงาน องค์กรอาจลองตั้งคำถามเหล่านี้กับทีมงาน เช่น พนักงานชอบงานที่ทำอยู่ไหม และงานนี้เชื่อมโยงกับเป้าหมายในชีวิตพวกเขาหรือเปล่า?หรือพวกเขามีงานอดิเรกที่ดีไหม? และพวกเขามีช่องทางทางการเงินที่เพียงพอที่จะสนับสนุนตัวเองและครอบครัวหรือเปล่า? แล้วสุขภาพร่างกายโดยรวมของพนักงานเป็นอย่างไร? มีความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นกับสถานการณ์ความเครียดหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นไหม?

สำหรับสามด้านแรกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กร ภาวะขาดแคลนบุคลากร หรือพลังชีวิตของพนักงาน ต่างก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่หากองค์กรสามารถเข้าใจทีมงานได้ก็จะช่วยให้การทำงานภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนพาร์ทสอง เราจะมาเล่ากันต่อว่าอีก 4 ด้านที่เหลือสำคัญแค่ไหน ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานและองค์กร ติดตามต่อได้ในพาร์ทหน้า

อ่านต่อ – 7 เรื่องที่องค์กรต้องเข้าใจทีมงาน เพื่อการทำงานในปี 2022 (Part II)

ที่มาของข้อมูล Korn Ferry – The 7 areas dominating future of work trends in 2022

trending trending sports recipe

Share on

Tags