โฟกัสงานได้ แต่อย่าลืมโฟกัสตัวเอง เหตุใดผู้นำถึงควรเอาตัวเองออกมาจากงานบ้าง

สำหรับคนทำงานอย่างเรา ๆ ยิ่งขึ้นตำแหน่งสูง ก็ยิ่งอยู่ใกล้ความเสี่ยง ไม่เพียงแค่ความคาดหวังที่ผู้นำต้องแบกรับ แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพที่กำลังแย่โดยที่หลายคนไม่รู้ตัว

Last updated on มี.ค. 6, 2024

Posted on ก.พ. 27, 2024

ยิ่งสูงยิ่งหนาว คำกล่าวนี้ ไม่ว่านานเท่าไหร่ก็ยังเป็นจริงอยู่เสมอ

ผู้นำคือหนึ่งในกลุ่มคนที่เสียชีวิตเร็วที่สุด

ปีที่แล้วไม่ใช่ปีที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้นำเท่าไหร่ เพราะตามข้อมูลของ Challenger, Grey & Christmas นั้น พบว่ามี CEO เสียชีวิตในขณะทำงานอยู่ถึง 19 คน ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ผู้นำหลายคนต้องหันกลับมาโฟกัสที่ตัวเองมากขึ้น เนื่องจากผู้บริหาร และเหล่าผู้นำหลายคนนั้น ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดีได้

ไม่ใช่แค่นั้นการศึกษาของ Deloitte ปี 2023 พบว่าผู้บริหารกว่า 82% มีอาการเบิร์นเอาต์ และผู้นำกว่า 96% ก็รู้สึกว่าสุขภาพจิตของตนย่ำแย่ลง นั่นจึงทำให้ปี 2023 มีผู้บริหารกว่า 1,914 ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นอัตราการลาออกของผู้นำที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002

ผู้นำ คือกลุ่มคนที่อยู่บนหอคอยงาช้างอันว่างเปล่า การเป็นผู้นำขององค์กรที่ยิ่งมีคนมากเท่าไหร่ งานก็ยิ่งเครียด เพราะเราไม่ได้ทำงานตามหน้าที่อย่างเดียว แต่เรายังทำงานให้กับคณะกรรมการ นักลงทุน ผู้ถือหุ้น แถมยังต้องติดต่อกับสหภาพแรงงาน กฏหมาย และหน่วยงานมากมาย เรียกได้ว่าผู้นำแทบไม่มีวันพัก เพราะต้องคอยสอดส่องตลอดเวลา

ฉะนั้นแล้วไม่แปลกใจเลยว่าหลายครั้ง ผู้นำเองก็ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ตั้งใจ และเมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพการทำงานก็จะถดถอยตาม

เวลาผู้นำพบเจอกับเรื่องเครียด สารสื่อประสาทจะถูกปล่อยออกมา ซึ่งในช่วงนั้น ๆ เราจะพบว่าช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ทว่าหากเกิดความเครียดเป็นเวลานาน มันก็จะส่งผลเสียตามมาด้วยการเกิดพฤติกรรมเชิงลบ อาทิ การขาดการฟังที่ดี, วิเคราะห์มากเกินไป, ล้มเหลวในการตัดสินใจ และ อารมณ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย

หากจะชนะสิ่งนั้นได้ ผู้นำจึงจำเป็นต้องกลายเป็น ‘นักกีฬาขององค์กร’ ที่ดีขึ้น

นิชิล เดอกุน (Nikhil Deogun) ที่ปรึกษาผู้บริหารด้านความสำคัญของบทบาทการทำงาน กล่าวว่าวินัยเป็นกุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงอาการเบิร์นเอาต์ ซึ่งผู้นำสามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยวินัย เพื่อทำให้ตัวเองเป็นนักกีฬาที่ดี

นักกีฬาในที่นี้ไม่ใช่การที่เราต้องโฟกัสกับทุกอย่าง แต่คือคนที่มีตารางชีวิตที่ชัด สามารถแบ่งสัดส่วนในชีวิตได้ เพราะผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากมายก็สร้างกิจวัตรหรือนิสัยที่ทำให้พวกเขาสามารถตัดขาดจากงานได้ ตัวอย่างเช่น ลักษมัน นราสิมัน (Laxman Narasimhan) CEO ของ Starbucks นั่งสมาธิเป็นเวลา 20 นาทีในตอนเช้า และ 10 นาทีก่อนนอนเพื่อจัดการความคิด

เกร็ก เรนฟรูว์ (Gregg Renfrew) ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ Beautycounter บอกว่าเธอสามารถสร้างความสมดุลของชีวิตด้วยการให้ความสำคัญกับครอบครัว แม้ในเวลางานเธอก็จะรับโทรศัพท์ทุกครั้งที่ลูก ๆ โทรมา เพื่อให้ลูก ๆ รู้ถึงความสำคัญของพวกเขาในชีวิตของเธอ และเรนฟรูว์ ยังเสริมว่า ทุกคืนเธอจะอาบน้ำเพื่อใช้เวลาตามลำพัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของวันที่ทำให้เธอสามารถทบทวนตัวเอง หายใจ และผ่อนคลาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานบริหารองค์กรมีความซับซ้อนมากขึ้น นั่นทำให้ผู้นำหลายคนสร้างสมดุลระหว่างชีวิต และการทำงานได้ยากกว่าที่เคย

ผู้นำจำเป็นต้องบริหารจัดการพนักงานให้มีประสิทธิภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ไม่เพียงแค่นั้นผู้นำต้องรับมือกับความท้าทายทางสังคม และการเมืองที่กำลังส่งผลต่อองค์กรของเรามากขึ้น นั่นจึงทำให้เรามักมีปัญหาด้านความเครียดโดยไม่รู้ตัว

เมื่ออายุมากขึ้น เราจะพบว่าสิ่งต่าง ๆ มากมาย กำลังผลักดันให้ชีวิตเราเดินทางไปในจุดที่ไม่สามารถสร้างสมดุลได้ จนเราลืมเลือนความสำคัญในส่วนนี้ไป ฉะนั้นแล้วการปรับที่ดีบางครั้งมันอาจจะไม่ใช่การหาจุดสมดุล แต่คือการหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ

อย่าลืมหาสิ่งนั้นให้เจอ เพราะเราทุ่มให้กับงานได้ แต่อย่าลืมทุ่มให้กับตัวเองก่อนที่มันจะสายไป


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags