รู้จักภาวะหมดไฟ เพราะ ‘ไม่มีอะไรทำ’ คุณอาจกำลังเผชิญภาวะ ‘Rust-out’

เชื่อเลยว่าหลายคนที่ทำงานหนักมักจะเกิดภาวะเบิร์นเอาท์จนหมดไฟ งั้นขอเชิญทุกคนมารู้จัก รัสท์เอาท์ (Rust-out) สภาวะหมดไฟของการไม่มีอะไรจะทำ

Last updated on ส.ค. 8, 2023

Posted on ส.ค. 4, 2023

ลองนึกภาพวันที่อินบ็อกซ์ไม่มีอีเมลเข้ามา หรือในเช็กลิสต์งานที่ทำก็ไม่เหลืออะไรให้เคลียร์แล้วดูสิ ช่วงเวลาเหล่านี้ช่างดูเหมือนฝันที่แสนดี แต่อยู่ ๆ ภายในใจนี้กลับรู้สึกว่างเปล่าเหมือนขาดแรงฮึดขึ้นมา สิ่งนี้ถูกเรียกว่า ‘รัสท์เอาท์’ หรือก็คืออาการสนิมเกาะนั่นเอง

รัสท์เอาท์ เป็นความทุกข์ทรมานเหมือนมีสนิมมาเกาะกินจิตใจ อาจรู้สึกกระสับกระส่าย ทำให้สมาธิสั้น หรือมีภาวะวิตกกังวล และทำให้เราเป็นคนขี้เกียจเพราะอยากหลีกเลี่ยงงานที่ไม่อยากทำ ในบางกรณีแล้ว รัสท์เอาท์ก็มีอาการเหมือนเบิร์นเอาท์เลยนะ เพียงแต่ต้นเหตุของอาการนั้นจะต่างกัน หากปล่อยให้ตัวเองเกิดภาวะรัสท์เอาท์โดยไม่ทำอะไร อาจทำให้ความเบื่อหน่ายส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน กับการนอนจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

สิ่งนี้อาจไม่ปรากฏให้เห็นในทันที เพราะมันจะค่อย ๆ แฝงตัวเหมือนปรสิตในจิตใจ ซึ่งความรู้สึกติดอยู่กับกิจวัตรที่ซ้ำซาก ไม่ได้ทำในสิ่งที่ถนัด และไม่มีโอกาสเติบโตก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ นอกจากนั้นความรู้สึกของการทำงานน้อยเกินไปหรือเป็นส่วนเกินของออฟฟิศ ก็อาจทำให้เกิดภาวะรัสท์เอาท์ได้เช่นกัน

ผู้หญิงมีโอกาสเกิดภาวะรัสท์เอาท์มากกว่าผู้ชาย

จากงานวิจัยของ McKinsey ในปี 2022 ระบุว่า ผู้หญิงมักจะประสบปัญหาในก้าวแรกของอาชีพการทำงาน โดยในอัตราส่วนที่เท่ากันจะพบว่าสำหรับผู้ชายทุก ๆ 100 คนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จะมีผู้หญิงเพียง 86 คนเท่านั้น

นั่นทำให้เหล่าสุภาพสตรีรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพเช่นเดียวกับผู้ชาย จนเกิดเป็นความหงุดหงิดจากการทำงานหนักแต่ไม่ได้รับโอกาสที่เหมาะสม และนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้ในที่สุด

แล้วเราจะเคาะสนิมที่เกาะกินในใจได้ยังไงนะ?

1. รู้เท่าทันตัวเอง

เมื่องานเริ่มน่าเบื่อ เป็นเรื่องง่ายที่เราจะคิดว่าต้องมองหาโอกาสที่ดีกว่า แต่งานใหม่อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป ลองหาทางคุยกับหัวหน้าของเราอย่างเปิดใจ ในเรื่องของวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อหาเนื้องานที่เข้ากับเราได้มากขึ้น

2. หาคุณค่าของตัวเองให้เจอ

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงานก็เพราะ ‘งานเหล่านั้นไม่สะท้อนถึงคุณค่าของพวกเขา’ ถ้ารู้สึกไม่มีคุณค่า ให้ลองคิดถึงช่วงเวลาที่รู้สึกมีความสุขที่สุด ภูมิใจที่สุด และเติมเต็มมากที่สุดในชีวิตของเราดูสิ

เมื่อเรารู้แล้วว่าต้องทำอะไร ชีวิตถึงจะมีคุณค่าก็ลองจัดลำดับความสำคัญของงาน และพาตัวเองไปอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อหาโอกาสที่สอดคล้องกับคุณค่าของเรา

3. อย่าทิ้งความสามารถพิเศษที่มี

เรามีความสามารถพิเศษ หรือสกิลที่ยังไม่ได้ใช้งานหรือเปล่า? ตัวอย่างเช่น เป็นคนทำการตลาดแต่ความจริงแล้วก็สามารถครีเอทีฟงานได้ บางครั้งเมื่อจุดแข็งของเราถูกมองข้าม นั่นเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เราสูญเสียแรงจูงใจไป

วิธีการแก้ปัญหาก็เพียงเข้าพบหัวหน้า เพื่อบอกจุดแข็งให้หัวหน้ารู้ว่าอะไรที่เราทำได้ดี และมีโอกาสไหมที่จะนำสิ่งนั้นมาใช้กับงานของเรา หรืออาจจะขอทดลองทำงานตำแหน่งอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับชุดทักษะของเรามากขึ้น


ในโลกที่ภาวะหมดไฟเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย การทำความเข้าใจเรื่องภาวะสนิมเกาะกินจิตใจก็สำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าการเกิดรัสท์เอาท์อาจทำให้ท้อแท้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราค้นพบตัวเอง และนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว ตลอดจนก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตได้


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags