ทำอย่างไรถึงจะได้ใจทีม ให้ทีมกล้าเปิดใจคุยกับเรา

Last updated on พ.ย. 23, 2023

Posted on พ.ย. 23, 2023

รวม 4 เทคนิคสื่อสารอย่างเข้าใจเหมือนคนรู้ใจ จากรายการ The ORGANICE

🤔 เรื่องพื้นฐานคือสิ่งที่เรามักมองข้ามกันโดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสาร เราจะทำอย่างไรให้คนถามได้คำตอบที่ตรงใจ และคนที่ตอบก็อยากตอบได้ตรงใจคนถาม วันนี้อยากชวนคุยเรื่องของ คุยกับทีมอย่างไร ให้ทีมเปิดใจคุยกับเรา กับ 4 เทคนิคที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที!

🎯 1. คุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานบ้าง!

อยากได้ใจทีม อยากให้ทีมบอกในเรื่องที่เขาคิด ลองคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานบ้าง เพราะคนเราเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เขาจะปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมา เปรียบเสมือนเรื่องเดตกับคนที่เรารัก แน่นอนว่าตอนคบกันใหม่ ๆ เราไม่เป็นตัวของตัวเองแน่นอน เราจะตื่นเต้น เราจะคิดเยอะมากกว่าปกติ แต่พอเราได้คบกันเวลาผ่านไป 1 เดือน 1 ปี เราจะรู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป เราสบายใจขึ้นทันที ซึ่งเรื่องนี้คล้าย ๆ กับตอนเราเข้ามาทำงานใหม่ ๆ วันแรกนี่เกรงมาก แต่พอเราได้เริ่มคุยกับเพื่อนใหม่ วันเวลาผ่านไปเราจะผ่อนคลายขึ้น เมื่อได้คุยเรื่องอื่น ๆ ได้แชร์โมเมนต์กับคนในออฟฟิศใหม่


🎯 2. ฟังเค้าบ้าง! อย่าเอาแต่ถามอย่างเดียว

แน่นอนว่าในวงสนทนาต้องมีคนเริ่ม แต่อย่าเป็นคนที่ถามเพียงอย่างเดียว แล้วรอให้คำตอบ คุณก็ไม่ต่างอะไรจากผู้สื่อข่าว ดังนั้นในวงสนทนาเราจะรู้สึกดีที่สุด คือการที่เราพูดออกไปแล้วมีคนฟังเรา

ลองเทียบสัดส่วน [เราพูด 20%] [ฟัง 80%]
ถ้าเราอยากทำความรู้จักคนคนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ให้ลองเทียบสัดส่วนแบบนี้

เรื่องของฟังให้เยอะ ฟังเพื่อให้ได้อะไร ?
จังหวะที่ฟังที่ดีคือ การฟังให้เจอ 3 อย่าง

👉 2.1 ฟังว่าความสนใจของเขาคืออะไร (interest)

อะไรที่เขาทำได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เช่น เธอชอบทำอะไรบ้างในวันหยุด ถ้าอีกฝ่ายตอบแล้วมีอารมณ์ร่วมสามารถคุยเรื่องนี้ได้ทั้งวัน แล้วเขาสนใจจนลืมเวลาความเหน็ดเหนื่อย แสดงว่าเขาชอบ เขาสนใจ เป็นต้น

👉 2.2 เป้าหมายของเขาคืออะไร ? (Goal)

อะไรคือสิ่งที่เขาจะภูมิใจถ้าเขาทำได้ แล้วเป้าหมายของเขาอยากทำได้ ตัวอย่างที่คุณโจ้เคยสัมภาษณ์คุณทอย Datarockie คือเรื่องของการศึกษา เพราะในวงการศึกษาสอนทฤษฎีมามากพอแล้ว และคุณทอยก็อยากสอนเรื่องที่คนทำงานต้องนำทักษะไปใช้ให้ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของคุณทอย และเป็นเรื่องที่คุณทอยสนใจ หรือ เป้าหมายคุณโจ้ก็อยากไปวิ่งมาราธอนสัก (42km) ครั้งหนึ่งในชีวิตก็เป็นเป้าหมาย และความสนใจที่ชอบวิ่งออกกำลังกาย เป็นต้น

👉 2.3 อะไรคือความยาก ความท้าทายของเขาคืออะไร ? (Challenge)

จากตัวอย่างเรื่องวิ่งมาทาธอน (42km) แน่นอนว่ามันคือความยาก ความท้าทาย ลองสังเกตดี ๆ ว่าจากตัวอย่างที่ยกมา เมื่อเราฟังอย่างตั้งใจ เราจะเห็นว่า คุณโจ้มีความสนใจ, มีเป้าหมาย และยังได้ความท้าทาย ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราได้จากคนฟัง เราจะสามารถตกผลึกได้ว่าคุณโจ้เป็นคนรักสุขภาพ แถมยังมีความสม่ำเสมอฝึกซ้อมเพื่อให้ตัวเองไปวิ่งระยะที่ไกลมาก ๆ ได้ และเขามีเป้าหมายที่ชัดเจน มุ่งมั่น แน่วแน่ จริงจังไม่จิงโจ้อีกต่างหาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสกิลสำคัญในการถอดรหัสของคนที่เราคุยด้วย และเห็นภาพรวมว่าคน ๆ นี้มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ


🎯 3. เล่า ‘ความบ้ง’ ของเราให้เค้าฟังบ้าง

ความบ้งคือความไม่สมบูรณ์แบบของเรา เพราะแทนที่เราจะเล่าแต่ความสำเร็จ ฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ บางครั้งความล้มเหลวของเราก็เป็นประโยชน์ให้เขาได้เรียนรู้เหมือนกัน เราผ่านมาได้อย่างไร ใครที่ช่วยเรากันนะ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้และผ่านความบ้งนั้นมาได้

หรือเวลาที่ทีมทำงานผิดพลาด ซึ่งหัวหน้าหลายคนชอบโกรธโมโหทันที! แต่ลองกลับไปคิดใหม่ให้เล่าเรื่องเคสความบ้งที่เราเคยพลาด เราผ่านมาได้อย่างไร นอกจากไม่ทำให้น้อง ๆ รู้สึกโดดเดี่ยว และไม่กลัวกับตัวหัวหน้า แถมรู้สึกอุ่นใจว่าเคยอยู่กับคนที่ผ่านเรื่องผิดพลาดมาเหมือนกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องพิจารณาปัญหาอีกที ว่าปัญหานั้นใหญ่เล็กมากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญคืออย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจมากกว่าใช้เหตุผล ตกตะกอนวิเคราะห์ว่า ‘บ้ง’ นั้นเกิดจากอะไร และผ่านมาแล้วเรียนรู้อะไร สะท้อนให้เขาเข้าใจได้อย่างไร ?


🎯 4. พิสูจน์ตัวคุณเองด้วยความสม่ำเสมอ และรอให้เป็น

อยากได้ใจ! เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ไม่มีลูกน้องคนไหนได้ใจหัวหน้าตั้งแต่ครั้งแรก แต่เมื่อไหร่ที่คุณลงมือทำ หรือสื่อสารให้เห็นถึงความจริงใจ และความสม่ำเสมอ เราต้องสร้างความเชื่อใจ เชื่อมั่น (Trust) ทำให้เขาเห็นถึงเรื่องนั้นจริง ๆ แล้วลูกน้องของคุณจะเดินไปหาคุณเอง ตัวอย่างจากคุณโจ้ จากหนังสือ The Happiest Person in the Room มีเรื่องนึงที่ใกล้เคียงกับเคสนี้คือถ้าหากเรามีเงิน 1 ล้าน เราจะมีความสุขที่สุดได้อย่างไร โดยแบ่งเคสนี้เป็นคน 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1: 🎁
มีเงิน 1 ล้าน ซื้อตู้มเดียวหรือ ซื้อของชิ้นใหญ่ 1 ล้านบาท ทันที!

กลุ่มที่ 2: 🎁🎁🎁🎁🎁
มีเงิน 1 ล้านเช่นกัน แต่ซื้อแบบเป็นงวด ๆ อาจจะซื้อทีละ 10-20 ครั้ง และทยอยซื้อของที่อยากได้เหมือนกัน ให้สม่ำเสมอ

ซึ่งจากงานวิจัยนี้อัตราความสุขที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือกลุ่มที่ 2 เพราะเขาได้รับต่อเนื่องเรื่อย ๆ คนมีความสุขกับสิ่งนั้นมากกว่าการได้รับความสุขก้อนใหญ่ครั้งเดียว เพราะรู้สึกกับความสุขเล็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยในการซื้อสินค้า และเกิดความสม่ำเสมอที่ได้รับความสุข ในเคสนี้ส่งผลในเรื่องของคนในองค์กรเช่นกัน หากเราทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นตัวจริงในด้านนั้น ทำให้เขามีความสุขอย่าสม่ำเสมอก็จะเกิด “ความเชื่อใจ” น้องในทีมอยากมาปรึกษากับเราก็จะกล้ามากขึ้นที่จะเดินมาถาม เพราะเราได้สร้างความสุข ความเชื่อ ให้กับเขานั่นเอง

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับไหน อยู่ในตำแหน่งไหน เทคนิคเหล่านี้ต้องหมั่นฝึกซ้อม และทำอย่างสม่ำเสมอ!


ไหนใครที่พร้อมจะลงมือทำกันแล้ว!


เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ดูอีพีนี้เต็มรูปแบบได้ที่

คุยกับทีมยังไง ให้เปิดใจคุยกัน - The ORGANICE 316
ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะสำคัญ และได้รับการจัดอันดับเทรนด์มาตลอดหลายปี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นทักษะที่ต้องประยุกต์ใช้ตามบุคคล และสถานการณ์พอสมควรพุธนี้เราจะมาค…
trending trending sports recipe

Share on

Tags