จัดการอย่างไร เมื่อเรามีไอเดียมหาศาล 4 วิธีบริหารให้ลูกทีมตามทันไอเดียใหม่

เมื่อเราดันเป็นหัวหน้าประเภทอายุน้อยร้อยไอเดีย งานเก่ากำลังจะจบ ไอเดียใหม่ก็โหมเข้ามา อันนั้นก็ดี อันนี้ก็อยากปั้น แล้วจะทำยังไงให้ลูกทีมตามทันไอเดียใหม่ของเรากันนะ

Last updated on เม.ย. 10, 2024

Posted on เม.ย. 1, 2024

“ทุกคน วันนี้ผมมีไอเดียใหม่!”

ในฐานะหัวหน้าแล้ว ทุก ๆ วันของเรามักเป็นรูทีนที่เหมือนได้ฝึกกล้ามเนื้อสมองไปในตัว เวลาทำงานที่ยาก อยู่ ๆ สมองก็ดันมีไอเดียใหม่ขึ้นมาซะงั้น ซึ่งมันทำให้เราอยากจะจับสิ่งนั้นมาทำให้เป็นรูปร่างซะตอนนี้เลยจริง ๆ

การมีไอเดียใหม่พรั่งพรูออกมา บางคนอาจเรียกอาการนี้ว่า ‘Shiny Object Syndrome’ ซึ่งเป็นคำที่ถูกบัญญัติจาก Highlands ability Battery (HAB) โดยเป็นอาการที่คนนึงสามารถสร้างไอเดียต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย ซึ่งถ้าเรามีทักษะด้านนี้สูง ก็แปลว่าเรามีความครีเอทีฟสูงนั่นเอง 

ทว่าสิ่งนี้มันจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าเราไม่เกิดอยากทำนั่นนี่เต็มไปหมด นั่นทำให้บางครั้ง Shiny Object Syndrome จึงทำให้คนรอบตัวเราเหนื่อยขึ้นได้ เพราะลูกทีมก็ต้องตามให้ทันไอเดียใหม่ ในขณะที่โปรเจกต์เก่าก็ยังไม่เรียบร้อยดี ซึ่งหลายครั้ง เราต้องยอมรับว่าสิ่งนี้กำลังขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานของลูกทีมอยู่

แล้วเราจะทำยังไง เมื่อพบว่าตัวเองท่วมท้นไปด้วยไอเดียใหม่มากมาย เสร็จงานนี้ อยากไปต่องานนั้น มูฟฟาสต์ยิ่งกว่ายูเซน โบลต์ ที่ติดเทอร์โบซะอีก

ทว่าเมื่อมองไปยังลูกทีมพวกเขากลับวิ่งไม่ทันเราซะงั้น นั่นจึงทำให้ชาเลนจ์หนึ่งของการเป็นหัวหน้าคือ จะทำยังไงให้ลูกทีมสามารถตามทันความคิดสร้างสรรค์ของเรา โดยที่ไม่เหนื่อย ซึ่งเป็นถือเป็นทักษะการจัดการสมดุลที่ลีดเดอร์ทุกคนควรมี เพื่อเสริมความคิดสร้างสรรค์ และรักษาประสิทธิภาพการทำงานของลูกทีม

1. เคารพกันด้วยความแตกต่าง

การเคารพเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องตระหนัก เพราะสมาชิกในทีมจะนำจุดแข็งที่แตกต่างกันมาไว้บนกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่เราควรทำจึงเป็นการปลูกฝังสภาพแวดล้อมของการเห็นคุณค่าในความแตกต่าง แม้ว่าเราจะเป็นคนกำหนด Vision แต่ก็ไม่ควรลืมว่าลูกทีมคือคนที่ Take Action สิ่งนั้น

จงหลีกเลี่ยงกับดักที่จะเกิดขึ้น และเลือกโฟกัสไปที่ความเข้าใจ เวลาเกิดไอเดียใหม่ มันอาจเป็นเรื่องจริงที่บางครั้ง ลูกทีมปฏิบัติงานได้ดีกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เราเลือกเขาเข้ามา แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เราช่วยตัดสินใจว่าควรทำอะไรดี และป้องกันไม่ให้ทีมมีปัญหา แทนที่จะมองว่าความแตกต่างเป็นสิ่งที่ไม่ดี การมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สิน จะช่วยนำประโยชน์มาสู่ทีมได้


2. ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกไอเดียใหม่ที่จะต้องทำทันที

แม้คนที่เป็น Shiny Object Syndrome จะสามารถคิดไอเดียใหม่ได้ 100 ไอเดียก่อนมื้อเช้า แต่ก็ไม่มีทางที่เราจะหาคนที่ตามความคิดเราได้ทัน

ดังนั้นแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการทำ ‘Parking’ สิ่งนี้คือการที่เรามีโฟลเดอร์หรือที่เก็บข้อมูลสำรองไว้ ซึ่งเราสามารถเก็บข้อมูลไอเดียใหม่ที่ยังไม่ได้ทำ หรืออาจได้ใช้ในอนาคต

การมี Parking จะช่วยให้ทีมสามารถลำดับความสำคัญดีขึ้นได้ แทนที่จะคาดหวังให้ทุกไอเดียเป็นจริงในตอนนี้ การมีสต็อกไอเดียเก็บไว้ จะช่วยลดแรงกดดันกับลูกทีม และช่วยให้พวกเขาสามารถประเมินอย่างรอบคอบ ก่อนนำไอเดียใหม่เหล่านั้นมาปั้นให้เป็นจริง


3. เวลาของเราไม่เท่ากัน

เราทุกคนต่างรู้ดีว่าเวลามีไอเดียใหม่ จนความคิดพรั่งพรูออกมา เรามักจะมีปัญหาด้านเวลากับคนอื่นอยู่เสมอ เพราะหลายครั้ง เราประเมินเวลาด้วยความรู้สึกที่บอกว่า “ฉันทำได้” โดยไม่ได้เช็กกับลูกทีมให้ดี ว่าเขาทำได้แบบเราไหม

การให้อำนาจแก่ทีม เพื่อกำหนดเวลาการทำงาน จะช่วยทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ความคาดหวังของการปั้นไอเดียใหม่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามั่นใจว่าไอเดียใหม่ที่เรามีจะสอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมของทั้งทีม


4. ฝากเอาไว้ก่อน

หากเรามักจะว่อกแว่กกับไอเดียใหม่ ๆ เป็นไปได้ว่าเราอาจมีปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญ แทนที่จะพยายามลบความรู้สึกในการอยากทำไอเดียใหม่ออกไป ให้ลองโฟกัสความตั้งใจกลับไปยังงานหลักที่เป็นแผนรายเดือนหรือรายไตรมาสของทีม

การโฟกัสที่งานหลักก่อน จะช่วยให้เราสามารถสร้างไอเดียใหม่ภายใต้กรอบแนวคิดเดิมที่กว้างขึ้นได้ ซึ่งการโยนหัวข้อประชุมให้สอดคล้องกับการลำดับความสำคัญ จะช่วยกระตุ้นความมุ่งมั่นของทีมขึ้นมาได้

เมื่อกลับไปโฟกัสที่งานหลัก จะช่วยให้เราสามารถประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับงานของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคนิคนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าความพยายามของเราจะช่วยนำไอเดียใหม่ มาต่อยอดภายใต้โจทย์ที่กำลังทำในปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่าได้


การที่เรามีไอเดียใหม่ตลอดเวลา หรือเป็นคนแบบอายุน้อยร้อยไอเดียอาจเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ถ้าหากเรารู้จักวิธีดีลกับลูกทีม อดเปรี้ยวไว้กินหวานได้ เราจะมีสต็อกความคิดสร้างสรรค์ ที่สดใหม่มหาศาล ในขณะเดียวกันก็ลดความเครียด และความยุ่งยากของลูกทีมในการพยายามตามให้ทัน ซึ่งจะทำให้การทำงานทุกวัน มีแต่ความรู้สึกสนุกไปพร้อมกัน มากกว่าเหนื่อยล้า


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags