Performance Tracking ทีมอย่างไรให้ทีมโอเค ไม่ดูจู้จี้เกินไป

Last updated on ก.พ. 8, 2024

Posted on ม.ค. 31, 2024

เวลาทำงาน จะแน่ใจได้ยังไงว่าลูกทีมไม่แอบไปอู้นะ 🤔

เทรนด์การทำงานแบบ Work From Anywhere กลายเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่หลายคนมองหาจากองค์กร เพราะบริษัทมากมายได้ตัดสินใจให้พนักงานเข้าออฟฟิศเป็นบางวัน หรือบางที่ก็ไม่เข้าถาวรเลยก็มี

การที่ไม่ได้เห็นพนักงานทำงานตลอดเวลา จึงกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ของหัวหน้าอย่างเรา เพราะในยุคที่มีสิ่งรบกวนในโลกออนไลน์อยู่มากมาย จนบางครั้งเรายังเผลอไถโซเชียลอยู่หลายนาที เราจะแน่ใจได้ยังไงว่าพนักงานจะไม่แอบหนีไปเล่นเกม หรือดู Netflix ในเวลาที่ควรจะทำงาน

บางคนก็แก้ปัญหาด้วยการนำระบบ Monitoring หรือ Tracking Performance มาใช้ เพื่อให้สบายใจว่าพนักงานกำลังตั้งใจทำงานอยู่ ซึ่งที่ทำแบบนี้ก็เพื่อประสิทธิภาพที่ดีของงานทั้งนั้นแหละ เพราะเราก็คงไม่อยากมานับจับผิดลูกทีมอยู่ตลอดหรอก แต่ว่าหลายครั้งคำถามใหญ่ที่เรามักสงสัยซะเองคือ การคอยมานั่ง Tracking ลูกทีม มันช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นจริง ๆ ไหม

แม้ว่าเวลาที่เราคอยจับตามองพวกเขา จะสร้างแรงกดดันจนงานออกมาเสร็จทันเวลาก็จริง แต่หลายครั้ง เรากลับหลงลืมไปว่า การ Tracking Performance ก็มีผลเสียที่เราไม่อาจมองข้ามได้

การที่เราจับตามองพนักงานอยู่ตลอดเวลา หรือคอยจ้ำจี้ Tracking พวกเขาตอน Work From Anywhere นั้น นอกจากจะทำให้ลูกทีมรู้สึกว่าเราไม่ไว้ใจแล้ว สิ่งนี้ยังดูเหมือนกับว่าเราพยายามจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา รวมถึงไม่เชื่อว่าเขาจะทำงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กรในเวลางาน

แพทริเซีย สวีนีย์ (Patricia Sweeney) ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า “การสร้างวัฒนธรรมในการ Tracking พนักงานตลอดเวลา เปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความไม่ไว้วางใจให้กับลูกทีม”

💁‍♂️ เมื่อขวัญกำลังใจตกต่ำ พนักงานจะรู้สึกภักดีต่อบริษัทน้อยลง และมีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพจะแย่ 💁‍♂️

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ระบุประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ไว้ว่า ‘การ Tracking พนักงานทำให้แรงจูงใจของลูกทีมลดลงอย่างมาก’ เพราะมันนำไปสู่ความพึงพอใจที่น้อยลง และทำให้อัตราการลาออกสูงขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตลกร้ายเลยล่ะ เพราะเรามักจะได้ยินว่าการ Tracking เป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มศักยภาพของพนักงานที่ดี แต่ความจริงกลับไปลดแรงจูงใจของพวกเขา

แต่ถ้าไม่ให้ตามติดลูกทีมเลย ก็เหมือนเราปล่อยปละละเลยพวกเขา แล้วอะไรคือทางออกที่ดีกว่า


✨ ทางออกของเรื่องนี้จึงเป็นการ ‘วัดผลลัพธ์ ไม่ใช่กิจกรรม’ ✨

แทนที่จะโฟกัสไปที่ว่าระหว่างวันพนักงานทำอะไร แอบอู้หรือไม่ ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับพวกเขา จากนั้นก็ดูว่าพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือเปล่า

เกรย์ ไอดอล (Grey Idol) ผู้ร่วมก่อตั้ง PayrollFunding กล่าวว่า "ฉันไม่สนใจหรอกว่า ระหว่างวันลูกทีม จะดูคลิปแมวไปกี่คลิปในเวลางาน ตราบใดที่พวกเขาส่งงานฉันได้เมื่อจำเป็น เพราะฉันจ้างผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก และฉันไว้วางใจให้พวกเขาบริหารเวลาอย่างเหมาะสม”

สิ่งที่ไอดอล กล่าวคล้ายกับวิธีที่ Netflix ปฏิบัติต่อพนักงานขององค์กร โดยในหนังสือ Great Leaders Have No Rules ก็ได้เล่าไว้ว่า ผู้นำของ Netflix เชื่อว่าคนที่มีความรับผิดชอบที่บริษัทได้จ้างนั้น ไม่เพียงแต่คู่ควรกับอิสรภาพเท่านั้น แต่ยังคู่ควรกับความสำเร็จด้วย ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานไม่มีกฏเกณฑ์นั้น ช่วยทำให้ลูกทีมกลายเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเองได้

เมื่อไม่มีกฏเกณฑ์ ไม่มีการ Tracking แล้ว วิธีการให้เขาทำตามใจ โดยที่ยังส่งมอบงานให้ได้ตรงเวลา ช่วยให้เราสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจภายในบริษัท ในขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะยังดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น

ดังนั้นแล้ว แทนที่จะคอยมา Tracking ว่าพวกเขาทำอะไร ลองใช้เครื่องมือจัดการทีมที่ทำให้พวกเขาสามารถส่งมอบงานได้อย่างตรงเวลาจะช่วยให้ลูกทีมสบายใจกว่า


แม้บางครั้งลูกทีมอาจจะมีเถลไถลไปบ้าง เพราะแน่นอนว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่มีใครสามารถเป็นเครื่องจักรที่ไม่มีวันหยุดหรอก แต่ถ้าหากเราสร้างวัฒนธรรมแห่งความเชื่อใจขึ้นมาได้ เราจะไม่ต้องกังวลกับการ Tracking พวกเขาเลย และการให้อิสระพวกเขาก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมกับการที่ลูกทีมจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับองค์กรล่ะ


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags