สรุป 5 เทคนิคการฟัง เพื่อเป็นผู้นำนักฟังที่ดี ไม่ใช่แค่สั่งแต่ต้องฟังให้เป็น

หากการลงมือทำเป็นทักษะอย่างหนึ่งของผู้นำ การรับฟังก็เป็นอีกหนึ่งทักษะจำเป็น ที่ทำให้ลีดเดอร์เข้าใจลูกทีมมากขึ้น

Last updated on ก.ย. 25, 2023

Posted on ก.ย. 12, 2023

การเรียนรู้ศิลปะของการฟังอย่างตั้งใจ ช่วยเพิ่มพูนทักษะความเป็นผู้นำที่ดีได้ เพราะผู้นำต้องไม่เพียงแค่ได้ยินคำพูด แต่ควรเข้าใจแก่นแท้ของสิ่งที่ลูกทีมอยากจะสื่อสาร ซึ่งการให้ความสำคัญกับความเข้าใจ จะกลายเป็นทักษะที่ทำให้เรากลายเป็นผู้นำนักฟังที่ดีได้

โดยทักษะ 5 ข้อนี้จะช่วยเปลี่ยนเราให้เป็นผู้นำนักฟัง และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับทีมมากขึ้น

1. ปิดปากตัวเองด้วยเทคนิค WAIT

WAIT ย่อมาจาก Why Am I Talking? ที่แปลว่า "ทำไมฉันถึงต้องพูด" ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยรักษาอาการคันปากของเราได้ เพราะลีดเดอร์ที่ดี จะเข้าใจว่าความเงียบนั้นไม่ใช่ช่องว่างที่ควรหาอะไรมาเติมเต็ม แต่เป็นโอกาสที่จะซึมซับสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด

ผู้นำนักฟังจึงสามารถใช้เทคนิค WAIT มาถามตัวเอง ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปได้ ด้วยคำถาม เช่น “เรื่องนี้จำเป็นต้องพูดหรือเปล่า?”, “นี่ฉันต้องพูดเรื่องนี้ด้วยเหรอ?”, “เรื่องนี้จำเป็นต้องพูดต่อหน้าคนอื่นหรือไม่?”
ซึ่งชุดคำถามเหล่านี้จะช่วยอุดรอยรั่วของอาการคันปาก และทำให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีมากขึ้น


2. ถามกลับมากกว่าตอบ

ผู้นำนักฟังจะให้ความสำคัญกับการซักถามกลับ มากกว่าการตอบคำถาม เพราะการถามคำถามที่ดี สามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ นอกจากนั้นการซักถามกลับจะช่วยให้ลีดเดอร์สามารถช่วยเคลียร์สิ่งที่สงสัย พร้อมทั้งเป็นการถามอีกฝ่ายถึงความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาจะพูด สิ่งสามารถนำไปสู่การเพิ่มพูนความสามารถให้คู่สนทนาได้

ฉะนั้นการสนับสนุนให้สมาชิกในทีมหัดตั้งคำถามมากกว่าตอบ ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาได้ความรู้เชิงลึกอันมีค่าเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมของการเคารพซึ่งกันและกัน


3. จงรับฟังคนอื่นก่อน เพื่อทำความเข้าใจ

รับฟังคนอื่นก่อน เพื่อทำความเข้าใจ (Seek First To Understand) ของ Stephen Covey เป็นกลยุทธ์ที่ธรรมดา แต่ไม่ง่ายในการฝึกฝน ซึ่งการรับฟังคนอื่นก่อน จะบอกเราถึงวิธีการเข้าหาผู้อื่นด้วยกรอบความคิดในการฟัง เพื่อทำความเข้าใจ และอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ซึ่งช่วยให้การฟังพัฒนาขึ้นอย่างมาก ฉะนั้นการรู้จักรับฟังคนอื่น แล้วทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น จึงถือเป็นรากฐานสำหรับผู้นำนักฟัง โดยเน้นความสำคัญของการฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ และนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


4. ฝึกทวนคำถาม เพื่อขยายความเข้าใจ

หัดใช้ประโยค “ขอโทษทีนะ ฉันพลาดอะไรไปหรือเปล่า” ให้เป็น เพราะนี้เป็นตัวอย่างของการฟังอย่างกระตือรือร้น ซึ่งช่วยให้เราสามารถสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมา และยังทำให้ผู้พูดมีโอกาสชี้แจง หรือขยายเรื่องที่อยู่ในสมองของพวกเขา ซึ่งทักษะนี้ช่วยให้เราสามารถทวนบทสนทนาได้โดยไม่ลืม พร้อมทั้งยังทำให้เราเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นมากขึ้น


5. สร้างโลกที่เงียบ เพื่อทำให้คู่สนทนารู้สึกถึงความจริงจัง

ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ การค้นหาช่วงเวลาแห่งความเงียบสงบสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่งไปได้ เพราะผู้นำนักฟังจะเข้าใจถึงแก่นของสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการคุยแบบตัวต่อตัว หรือการประชุมทีมก็ตาม ซึ่งช่วยให้เราสามารถสร้างพื้นที่แห่งความสงบ ที่สามารถสื่อสารได้ดีขึ้น

ในการทำเช่นนี้ ให้เริ่มด้วยตัดสิ่งรบกวนสมาธิตั้งแต่การปิดแล็ปท็อป ปิดเสียงโทรศัพท์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นต้นตอของเสียง ซึ่งช่วยให้เราสามารถมีสมาธิ และมีส่วนร่วมกับคู่สนทนา ทำให้เขาพูดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีอะไรรบกวน ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่จริงใจมากขึ้น


การเป็นผู้นำนักฟังไม่ใช่แค่การได้ยินคำพูดเท่านั้น มันเกี่ยวกับการทำความเข้าใจความหมายอันลึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะสื่อสาร ซึ่งการตั้งใจเข้าใจคู่สนทนาจะช่วยปลูกฝังความสัมพันธ์ที่ดีให้กับเรา และทีมได้ ด้วยเหตุนี้ เราจะไม่เพียงแต่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างสภาวะที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ การทำงานร่วมกัน จนถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ ฉะนั้นแล้วโปรดจำไว้ว่า สำหรับผู้นำนั้นการฟังไม่ใช่การกระทำที่ไม่แสดงอะไร แต่เป็นการกระทำที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags