จาก Zoom สู่ Class โปรแกรมที่อาจเปลี่ยนโฉมการเรียนออนไลน์ไ?

Last updated on ก.พ. 17, 2023

Posted on ก.ย. 15, 2021

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เราอาจจะเห็นแล้วว่า หลายสายงานสามารถทำงานออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบได้และมีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ในเรื่องการเรียนนั้นต่างออกไป เครื่องมือออนไลน์ยังไม่ดีพอที่จะทำให้นักเรียน “มีส่วนร่วม” ได้มากพอ ส่งผลทำให้การเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพ

จึงทำให้ Class พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือการเรียนการสอนมาต่อยอดในการใช้งานผ่าน Zoom เพื่อช่วยแก้ปัญหาและอุดทุกช่องโหว่ของการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ

เพราะในความเป็นจริง การเรียนที่บ้านก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ คือ การมีสิ่งรบกวน (Distraction) มากเกินไป ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะหลุดจากบทเรียน (Lose Focus) ได้มาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ขณะที่ฝั่งอาจารย์เองก็พบปัญหาเช่นกันว่า การเรียนแบบนี้เหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) แบบเวลาที่เราฟังวิทยุ ดูทีวี เป็นต้น และอาจทำให้ผลลัพธ์ในการเรียนไม่ได้ประสิทธิภาพมากพอ

และจากการที่ Zoom ได้มีการศึกษาและทำการสำรวจกับคนที่ใช้โปรแกรม Zoom ในการเรียนออนไลน์มาเป็นปี ได้ค้นพบว่า การมีส่วนร่วม (Engagement) จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นกันมาตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนในห้องเรียนปกติด้วยซ้ำ ว่าคนที่มีส่วนร่วมจะได้เรียนรู้อะไรที่ดีกว่าการไม่มีส่วนรวม อาจส่งผลให้มีผลสอบหรือผลเรียนที่ดีกว่า

Zoom ได้นำข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปพัฒนาโปรแกรมใหม่ล่าสุด ชื่อว่า Class ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ


Class เติมเต็มห้องเรียนออนไลน์ให้สมบูรณ์แบบ

Class เป็นโปรแกรมที่มีฟีเจอร์ที่จะช่วยแก้โจทย์ในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ทั้งยังมีฟังก์ชัน Support อาจารย์และนักเรียนที่ละเอียดอ่อนครบครัน ทำให้การเรียนการสอนสมบูรณ์มากขึ้น และยังคงเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่ายเหมือนกับ Zoom โดยแต่และฟีเจอร์ของ Class มีดังนี้ 


ฟีเจอร์สำหรับใช้ในการเรียนการสอนสะดวกขึ้นโดยเฉพาะ (Teaching & Learning Tools)

ดูรายละเอียดของการเรียนวิชานั้นได้ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนหลุดไปว่าเรียนอะไร, สร้างแบบฝึกหัด แบบทดสอบทั้งแบบเติมคำและตัวเลือก ให้ผู้เรียนทำระหว่างเรียนได้แบบทันที, Polling เครื่องมือทำโพลสำหรับพูดคุยในคลาสต่อไป, Link to LMS ลิงก์กับ Learning Management System สำหรับเก็บเอกสารหรือสิ่งที่ใช้ประกอบการเรียนเอาไว้เป็นระบบ, ระบบการแชร์หน้าจอที่สามารถเลือกรูปแบบให้ตรงกับบรรยากาศของวิชานั้นได้ด้วย, เปิดเว็บไซต์ที่น่าสนใจหรือแชร์วิดีโอให้ทุกคนในคลาสดูได้ทันที โดยไม่ต้องออกจากโปรแกรม และดาวน์โหลดไฟล์และเอกสารการเรียนต่างๆ ได้ทันทีผ่านโปรแกรม


ฟีเจอร์ที่จะทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น (Student Engagement Functionality)

ปัจจุบัน โปรแกรม Class ที่ได้เปิดให้ใช้งานแล้ว มีฟีเจอร์ที่จะช่วยทำให้การเรียนการสอนนั้นเกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้สอนและผู้เรียน ดังนี้

  • Instructor Podium แบ่งหน้าจอสำหรับผู้สอนโดยเฉพาะ เพื่อให้โฟกัสได้ถูกต้อง ไม่ให้สับสน
  • Front of Class มีจอแยกไว้ด้านบนสำหรับ Speaker และผู้ช่วยอาจารย์ในคลาส รวมถึงเมื่อนักเรียนคนไหนพรีเซนต์งานก็จะแยกจอขึ้นมาด้านบนเพื่อให้เห็นชัดเหมือนกำลังพรีเซนต์งานหน้าห้อง
  • Tabs แยกแถบชัดเจน ให้ผู้เรียนสามารถสลับไปใช้ฟังก์ชันอื่น เช่น Poll และ Quiz ได้ง่าย
  • Raise Hand ผู้เรียนเรียนกดปุ่มยกมือได้ทันทีหากมีคำถาม โดยจะเรียงลำดับจากคนที่ยกนานสุด
  • Feedback ช่องทางสำหรับให้ผู้เรียนฟีดแบ็คกับผู้สอนได้โดยเฉพาะ หรือจะแชร์กับทุกคนในคลาสก็ได้
  • Chat ช่องแชทที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถพูดคุยแบบเป็นส่วนตัวได้
  • Student View ผู้เรียนสามารถดูรายละเอียดวิชา เกรด และดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ทันทีในระหว่างที่อยู่ในคลาส

และเร็วๆ นี้ จะมีฟังก์ชันอื่นๆ ตามมาอีก ได้แก่

  • Hybrid Class Support สำหรับเรียนผสมผสานทั้งออนไลน์และเรียนที่บ้าน ผู้ที่เรียนที่บ้านสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนได้แบบสดๆ
  • Instructor Camera 2 จอที่ 2 ฉายคู่สำหรับผู้สอนที่สอนบนกระดานหรือกระดาษ
  • Sign Language Camera จอสำหรับผู้ถ่ายทอดภาษามือ
  • One-on-One Discussions ผู้สอนและผู้เรียนสามารถแยกคุยตัวต่อตัวได้โดยไม่ต้องออกจากโปรแกรม
  • Closed Caption / Class Transcript ถอดสิ่งที่พูดคุยในห้องเรียนออกมาเป็นตัวหนังสือให้อัติโนมัติ
  • Class Recording เลือกอัดภาพและเสียงเฉพาะเนื้อหาการสอนในคลาสได้ โดยไม่ติดผู้เรียนมาด้วย

ฟีเจอร์ที่ช่วยเรื่องเช็คชื่อเข้าเรียนอย่างเป็นระบบ (Attendance & ID Verification) 

Class ยังเก็บตกรายละเอียดที่เกิดขึ้นในห้องเรียนออฟไลน์มาใส่ไว้ในโปรแกรมด้วย เช่น ยังมีระบบเช็คชื่อแบบไม่ต้องขานเรียก ซึ่งสามารถตรวจสอบเวลาที่ผู้เรียนเข้าห้องได้ แยกรายชื่อของผู้เรียนที่ไม่ได้เข้าห้องเรียนไว้อัตโนมัติ โดยผู้เรียนสามารถกรอกเหตุผลที่ขาดเรียนไว้ที่นี่ได้, ระบบจะจับสังเกตเห็นว่าผู้เรียนคนไหนที่ไม่ได้อยู่ที่หน้าจอคลาส เพื่อผู้สอนสามารถเรียกความสนใจให้กลับมาในบทเรียนได้ และการมี ID Verification เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้เรียนคลาสนี้จริง ป้องกันเรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงสามารถเรียงลำดับชื่อผู้ที่อยู่ในคลาสจากตัวอักษร เป็นต้น


ฟีเจอร์ป้องกันการโกงข้อสอบ (Proctored Exam)

หนึ่งปัญหาสำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ ระบบการทำข้อสอบ เพราะยากที่จะควบคุมให้เหมือนการทำข้อสอบในห้องเรียนจริง แต่ Class กำลังพัฒนาเพื่อที่จะได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ โดยจะมีจอแยกที่โชว์แบบเต็มสกรีนสำหรับการทำข้อสอบโดยเฉพาะควบคู่ไปกับจอของใบหน้า เพื่อให้เห็นว่าผู้ทำข้อสอบไม่ได้สลับหน้าจอไปยังจออื่น และในการทำข้อสอบ ผู้สอนสามารถมองเห็นข้อสอบในระหว่างทำได้ เพื่อโน้ตไว้แล้วนำกลับมาสอนและทำความเข้าใจในบทเรียนต่อไปได้


ฟีเจอร์เลือกที่นั่งได้เหมือนอยู่ในห้องเรียน (Seating Charts)

อย่างเวลาที่เราเลือกที่นั่งในห้องเรียน เราก็จะเลือกที่ที่เราสบายใจ ที่น่าสนใจ คือ ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าไม่ต้องการให้ผู้เรียนคนอื่นๆ เห็นหน้าได้ ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่น่าสนใจมาก


เครื่องมือช่วยสอน (Classroom Management Tools)

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ก้าวกระโดด เครื่องมือช่วยสอน (Classroom Management Tools) เพื่อให้ผู้สอนเตรียมการสอน จัดการสิ่งต่างๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นในคลาส เช่น การสอบ สมุดเกรด ไปจนถึง Dashboard เพื่อดูสถิติของการมีส่วนร่วมในคลาสได้ด้วย

ปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษาต่างประเทศได้เริ่มใช้โปรแกรม Class แล้วกว่า 200 แห่ง ส่วนในประเทศไทยเองก็กำลังมีหลายที่ให้ความสนใจและกำลังจะลงสนามตามมาเร็วๆ นี้ จากนี้ไปเรามารอดูกันเลยว่า แม้โควิด-19 จะผ่านไปแล้ว แต่ Class ที่นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเรียนออนไลน์ไปได้ถึงไหน 

หากต้องการข้อมูลแพ็คเกจ สามารถติดต่อที่ 1-to-All ตัวแทนประเทศไทยของ Zoom และ Class ได้โดยตรง ที่นี่ อ่านแล้วคิดเห็นอย่างไร พูดคุยกันต่อได้ที่เฟซบุ๊ก Creative Talk นะครับ

trending trending sports recipe

Share on

Tags