ผัก Done – ถังหมักเศษอาหารที่มีหมุดหมายอยากให้คนเมืองอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข

Last updated on พ.ค. 2, 2023

Posted on พ.ค. 22, 2020

“แรกเริ่มตอนที่ลาออกจากงาน เราอยากมีพื้นที่อาหารที่ปลอดภัย แล้วก็มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก่อนหน้าทำผัก Done เราเริ่มจากทำพื้นที่สร้างอาหาร ปรากฏว่าดินในพื้นที่มันแย่มาก เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้เรามีดินที่ดีที่สร้างอาหารให้เราได้โดยที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่าย เพราะความฝันและเป้าหมายของเราต้องการพึ่งพาตัวเอง” นิต้า-มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย ผู้ร่วมก่อตั้งผัก Done เล่าถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งถังหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร ร่วมกับบี-อรสรวง บุตรนาค

ไม่ใช่เพียงเป้าหมายที่อยากพึ่งพาตัวเองของนิต้าและบีเท่านั้น ทั้งคู่ยังมีเป้าหมายว่าผัก Done จะทำให้คนเมืองอยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขแล้วก็ธรรมชาติไม่ถูกทำลายด้วย

“เราใช้เรื่องของการจัดการขยะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเรื่องราวและนำไปสู่เป้าหมายที่ว่านี้ค่ะ” นิต้าเริ่มบทสนทนาด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและสดใส

ย้อนกลับไปเมื่อสามปีก่อน จุดเริ่มต้นของผัก Done นิต้าเล่าว่า หลังออกจากงาน เธอต้องการพื้นที่สำหรับสร้างอาหารหรือการเกษตรแต่ปรากฏว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างแย่ จึงเป็นโจทย์แรกที่นิต้าตั้งใจหาคำตอบว่า เธอสามารถทำอย่างไรได้บ้างโดยที่ไม่ต้องซื้อดินหรือสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หลังจากที่ไปเข้าคอร์สอบรม หาข้อมูล บ่มเพาะความรู้ตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว นิต้าพบว่าขยะเศษอาหาร ผักและผลไม้เป็นสิ่งที่คนใช้บำรุงดิน

“เริ่มจากเราไปเอาขยะจากตลาดที่ใกล้พื้นที่ที่เราสร้างอาหารอยู่มาหมักทุกวัน พอเริ่มทำเราก็เริ่มอินปัญหาเวลาที่เราไม่ได้เอามาเศษอาหารเหล่านี้ คนที่คอยเก็บไว้ให้เขาก็โทรมาบอกว่าถ้าไม่ได้มาเอาเขาต้องทิ้งเศษอาหารนะ เราก็รู้สึกว่าเสียดายและฉุกคิดว่าทำไมเราไปเอาขยะมาแต่ว่าคนก็ยังมองขยะในรูปแบบเดิม คือเป็นของที่อยากจะทิ้งให้พ้นๆ ตัวไป”

และนี่เป็นโจทย์ต่อมาของนิต้าที่นำไปสู่ผัก Done ในที่สุด นิต้านั่งคิดถึงวิธีที่ไม่ต้องไปเอาเศษอาหารทุกวัน เพราะการไปเอาเศษอาหารทุกวันทำให้นิต้าปลีกตัวไปทำอย่างอื่นไม่ได้

“นิต้าคุยกับบีว่า ถ้าเราโปรโมทให้คนรณรงค์จัดการให้ตั้งแต่ต้นทางเลย ถ้าเศษอาหารอยู่ในรูปแบบของปุ๋ยหมักล่ะ เพราะเราก็เรียนมาว่าดินยิ่งบำรุงมันนานๆ หรือยิ่งหมักมันนานๆ จะยิ่งดี แล้วเป็นไปได้ไหมว่าเราให้ทุกบ้านช่วยกันจัดการ หนึ่งคือคนที่ได้ลงมือจัดการ เขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเองด้วย แล้วก็สองเศษอาหารก็อยู่ในรูปแบบที่คนไม่รังเกียจแล้ว ถ้าเราอยากไปเอาสัปดาห์ละครั้งหรือว่าเดือนละครั้งมันก็ยังทำได้ ก็เลยค่อยๆ เป็นที่มาของผัก Done เราอยากให้ทุกคนได้จัดการขยะของตัวเองค่ะ”

แม้ทั้งคู่จะมีแนวคิดที่ดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการสร้างจิตใต้สำนึกที่ดีต่อตัวบุคคลเอง แต่นิต้าก็ยอมรับว่าช่วงแรกคนยังสนใจผัก Done น้อยมาก เฉลี่ยขายได้ 20 ชุดต่อเดือน โจทย์ที่ใหญ่พอๆ กับเป้าหมายคือการพึ่งพาตัวเองในด้านธุรกิจด้วยเช่นกัน เธอบอกว่า ช่วงนั้นก็ถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่าธุรกิจยังจะอยู่รอดไหม เพราะความไม่ชัดเจนว่าอยากทำอะไรกับธุรกิจทำให้นิต้าต้องประสบกับปัญหาการเงินด้วยเช่นกัน

นิต้าถอยกลับมาตั้งต้นใหม่อีกครั้งพร้อมกับประเมินว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผัก Done ยังขายได้ในหลักสิบต่อเดือน

ช่วงแรกเราขายอุปกรณ์เฉยๆ เสร็จปุ๊ปแล้วก็เหมือนไม่ได้มีการติดตามลูกค้าเหมือนขายแล้วก็จบไป ลูกค้าก็กระจัดกระจาย เวลาลูกค้าที่มีปัญหาส่วนใหญ่พอเจอปัญหาปุ๊บเขาก็จะเลิกทำเลย เหมือนลูกค้าบางคนเขาไม่มีเพื่อนที่รู้จักหรือทำการหมักขยะเศษอาหารเป็นบวกกับเป็นคนเมืองหากเขาไม่เคยทำก็จะรู้สึกว่ายากค่ะ

เราเลยกลับมามองว่า ถ้าเราเป็นเพื่อนช่วยเริ่มเดินทางกับเขาไปด้วยเขาจะไม่ท้อไปก่อนค่ะ เราเลยตั้งเป้าว่าจะวิ่งไปส่งอุปกรณ์ลูกค้าเอง ถ้าลูกค้าต้องการคำแนะนำหรือว่ามีปัญหาช่วงแรกๆ เราจะไปแก้ไขถึงที่พอเขาทำได้แล้วเขาก็อยากจะบอกต่อสิ่งดีๆ กับคนอื่น”

นิต้าบอกเราว่า จากการแก้ไขและตั้งเป้าใหม่ครั้งนี้นำไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ผัก Done ได้มาถึงทุกวันนี้

“สิ่งสำคัญคือความจริงใจและการสร้างสัมพันธ์กันกับคนเมืองที่เราอยากจะช่วยให้เขาจัดการขยะได้ค่ะ”

นิต้าเสริมว่าปัญหาลูกค้าเจอคือกล่องพลาสติกที่ใช้หมักเศษอาหารเมื่อแฉะแล้วก็เน่า มีหนอนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณรอบๆ นั้นทันทีที่เปิด แต่นิต้าไม่ได้เปลี่ยนวัสดุโดยทันที เธอใช้การสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อลูกค้าว่า หากเราเทน้ำลงไปหมักเยอะๆ หรือสูตรผสมต่างๆ ผสมได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็จะเกิดปัญหาเหล่านั้น เมื่อนิต้าเข้าไปแนะนำ พูดคุยมากขึ้นกับลูกค้าเอง ปัญหาเหล่านั้นก็คลี่คลายดีขึ้น ท้ายสุดแล้วผัก Done ก็เปลี่ยนโฉมเพื่อให้จัดการง่ายขึ้นและดูเป็นมิตร

“เราอยากปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อขยะด้วย ฉะนั้นแล้วต้องทำให้การจัดการง่ายขึ้นและสองก็คือสวยแชร์กันได้ ก็เลยค่อยๆ ปรับรูปแบบขึ้นจนกลายเป็นผัก Done แบบปัจจุบัน”

ปีนี้ผัก Done ก้าวสู่ปีที่ 4 เราถามนิต้าว่า เป้าหมายต่อไปของผัก Done คืออะไร

“อย่างที่นิต้าเล่าไปข้างต้นว่า อยากให้คนเมืองอยู่กับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตรแล้วมีความสุข ปีนี้เราอยากทำให้ผัก Done ครบวงจรมากขึ้น เราตั้งเป้าว่า เราจะทำผัก Done ใหห้กินได้จริงๆ จากวงจรขยะกลับมาสู่ผักให้ได้ ให้สมกับชื่อ

“นอกจากนั้นแล้วก็ปีนี้อยากทำเรื่องบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจวบเหมาะกับว่าเรากำลังอยากสร้างบ้านหรือว่ารีโนเวทบ้านให้ยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้หรือว่าทำลายให้ได้น้อยที่สุด เพราะว่าตอนที่นิต้าไปอินเดีย ก็มีสถาปนิกคนหนึ่งเขาก็มาพรีเซ้นต์ให้ฟังว่าจริงๆ แล้ว ขยะจากอุตสาหกรรมการสร้างบ้านหรืออุตสาหกรรมการสร้าง ปล่อยมลภาวะและสร้างขยะมากที่สุด เราก็เลยรู้สึกว่าการสร้างบ้านหรือการรีโนเวทบ้านสามารถทำบนพื้นฐานของ การคิดแบบเอื้อสิ่งแวดล้อมได้ นิต้าคิดว่าสิ่งนี้จะสร้างผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นได้
และเสริมสร้างให้ผัก Done ครบวงจรมากขึ้น”

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : ผัก Done


บทความที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags