หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา กับแพลทฟอร์ม Flower Hub Space นำชุมชนปากคลองตลาดสู่อนาคต

Last updated on มี.ค. 3, 2023

Posted on พ.ค. 1, 2020

วันแม่และวันพ่อแห่งชาติ วันลอยกระทง วันวาเลนไทน์ งานแต่ง งานศพ หรือวันไหว้ครู ไม่ว่าวันหรือเทศกาลไหนๆ ล้วนแต่มีองค์ประกอบของดอกไม้ที่เป็นตัวแทนการสื่อสารให้วันเหล่านั้นมีความหมาย สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และหากพูดถึงแหล่งซื้อขายดอกไม้ในกรุงเทพฯ แล้ว ปากคลองตลาด เป็นแหล่งชุมชนแรกที่หลายคนนึกถึง

ภาพร้านค้าตึกแถวและบนฟุตบาธที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลากสี นานาพันธุ์ที่เรียงรายตลอดถนนจักรเพชร ทำให้ที่นี่เป็นตัวเลือกในการซื้อหาดอกไม้ทั้งแบบส่งและแบบปลีก 

ด้วยนโยบายของกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2559 ที่ต้องการจัดระเบียบชุมชนดังกล่าวให้มีความเป็นระเบียบ และให้คนทั่วไปได้ใช้สอยพื้นที่ฟุตบาธ ทำให้ร้านค้ารายย่อยจากเดิมที่อยู่บนฟุตบาธต้องย้ายไปยังศูนย์กลางตลาดดอกไม้ ปากคลองตลาดใหม่ หรือตลาดอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบอย่าง ตลาดยอดพิมาน ตลาดปากคลองตรีเพชร ตลาดส่งเสริมการเกษตรไทย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากคลองตลาดนั้นเงียบเหงาลงไปบ้าง เพราะนอกจากเป็นชุมชนแหล่งขายดอกไม้แล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังมีการไหลเวียนของเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากร้านค้าดอกไม้ อย่าง ร้านขายอาหาร ร้านขายขนม หรือกระทั่งบริการนวดให้กับแม่ค้าที่ขายของอยู่บริเวณนั้น แน่นอนว่านโยบายนี้มีผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ค้าบางกลุ่มจึงเลือกวิธีการสื่อสารด้วยการประท้วง นำดอกไม้มาเทลงถนน 


“ผู้ค้าต่อต้านนโยบายจัดระเบียบนี้เพราะได้รับผลกระทบพวกเขาแสดงออกด้วยการประท้วงเทดอกไม้ลงถนน แม้จะได้พื้นที่สื่ออยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้คนเห็นความสำคัญของพวกเขาที่มีต่อปากคลองตลาด”  

ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรืออาจารย์หน่อง อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ผู้รับผิดชอบส่วนของ Catalyast Project โครงการย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ชุมชนปากคลองตลาด เอ่ยขึ้น

อาจารย์หน่องตัดสินใจนำเหตุการณ์นี้มาเป็นโจทย์สำหรับโปรเจกต์วิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนักศึกษาตีความโจทย์และสื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Human of Flower Market รูปแบบ Photo Essay สัมภาษณ์ผู้คนที่อยู่ในชุมชนปากคลองตลาดทั้งตึกแถว ร้านค้ารายย่อยบนฟุตบาธ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์คนในชุมชน แต่ไม่มีอำนาจการตัดสินถูกผิด 

จากโปรเจกต์ Human of Flower Market นำไปสู่ Flower Hub Space แพลทฟอร์มที่รวบรวมร้านดอกไม้ย่านปากคลองตลาดทั้งรายใหญ่ รายย่อยบนชุมชนดังกล่าวมาอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์ https://flowerhub.space/ พร้อมระบุข้อมูลพื้นฐานอย่าง ชื่อผู้ติดต่อ เบอร์โทร ช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก รวมไปถึงจุดที่ตั้งของร้าน นอกจากดอกไม้แล้วที่นี่ยังรวบรวมร้านดอกไม้ที่รับทำงานฝีมือประเพณีต่างๆ อย่าง บายศรี พานพุ่ม ขันหมากและอื่นๆ เพื่อให้ร้านค้านอกจากรายใหญ่แล้วเป็นที่รู้จัก มีรายได้เพิ่มขึ้น Creative Talk ชวนอาจารย์หน่องมาเล่าถึงจุดเริ่มต้น การทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ภาคีร่วมพัฒนา อาทิ กรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง (ASA CAN) และบริษัทมอ แอนด์ ฟาร์มเมอร์จำกัด (Mor and farmer) รวมถึงการพัฒนาแพลทฟอร์มนี้ให้ยั่งยืน

Human of Flower Market 

“โจทย์ของ Human of Flower Market เราต้องการคลี่ให้เห็นว่า แม้กระทั่งผู้ค้าที่อยู่ในตึกแถวยังมองว่า ผู้ค้ารายย่อยบนฟุตบาธเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในพื้นที่ พวกเขาไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันกันตลอดเวลา” 

อาจารย์หน่อง เล่าขยายถึงจุดเริ่มต้นของ Flower Hub 

นอกจากนั้นแล้วเมื่ออาจารย์และนักศึกษาไปลงพื้นที่ชุมชนปากคลองตลาด ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้คนว่า 

เม็ดเงินที่ไหลเวียนในชุมชนนี้มหาศาลอย่างมาก โดยเฉพาะวันสำคัญทางชาติอย่าง วันแม่ จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ร้านค้าย่อยบางร้านสามารถทำเงินได้ถึงหลักแสน ที่สำคัญแม่ค้าเหล่านั้นยังชี้ให้เห็นว่า นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมตลอดเส้นถนนจักรเพชรถึงมีธนาคารมากถึง 11 แห่ง 

“เราสื่อสารกับนักศึกษาเสมอว่า เราต้องไม่นำเสนอพวกเขาอย่างดราม่านะ สื่อสารให้เป็นไปตามความจริง”

อาจารย์หน่องย้ำแนวคิดของโปรเจกต์นี้ อาจารย์เล่าต่อว่า โปรเจกต์นี้นอกจากอยู่บนเฟซบุ๊กแล้ว ยังต่อยอดมาเป็นรูปแบบของนิทรรศการ โดยสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จโปรเจกต์นี้ได้ คือ กลุ่มแม่ค้าที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการกันจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังนั่งเขียนสมุดเข้าชมอย่างยาวเหยียด 

“ที่เรารู้สึกว่าโครงการมีประโยชน์อยู่บ้างเพราะแม่ค้าเขารู้สึกว่ามันเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งให้เขาได้ผู้คนตระหนักถึงการมีอยู่ของชุมชนปากคลองตลาดมากขึ้น”

พลิกมุมมอง สร้างการรับรู้ใหม่ของชุมชนผ่าน Flower Lab และ Ted x Bangkok 

หลังจากนิทรรศการสิ้นสุดลง อาจารย์หน่องได้รับมอบหมายในส่วนของ Catalyst Project ของโครงการย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จากหัวหน้าโครงการ  ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรให้ดูแลส่วนของชุมชนปากคลองตลาดเช่นเคย 

จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ คือ วิเคราะห์หาศักยภาพจุดดีและจุดแข็งของพื้นที่ แต่ไม่ใช่ว่านำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาใช้ แต่นำมาช่วยให้สะดวกขึ้น 

อาจารย์หน่องชักชวนกรรมธิการเพื่อสังคมและเมืองสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA CAN)กลุ่มเด็กสถาปัตยกรรมทั่วประเทศ และสถาปนิกทิศทางมาทำเวิร์กช็อปกับชุมชนปากคลองตลาด จากไอเดียของกลุ่มทิศทางและทุกคนในโปรเจกต์นี้ต่างรู้สึกว่า พอชุมชนปากคลองตลาดถูกจัดระเบียบไปแล้ว บรรยากาศเงียบเหงา ผู้คนบางตา สิ่งที่พวกเราควรทำคือ การมองอนาคต แล้วคนรุ่นใหม่ที่มาเดินปากคลองตลาดเขามองอย่างไร 

“ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่นะ คนทั่วๆ ไปอย่างอาจารย์เองมาเดินปากคลองตลาดเพราะต้องการสัมผัสบรรยากาศ ซื้อดอกไม้ให้ตัวเองบ้าง หรือซื้อกลับไปสักกำสองกำ” อาจารย์หน่องเล่าเสริมถึงข้อมูล โครงร่างที่วางกันช่วงแรก 

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังวิเคราะห์ต่อว่า ในอนาคตการเดินทางมาปากคลองตลาดจะสะดวกยิ่งขึ้น ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ฉะนั้นพวกเขาจึงมองว่าปากคลองตลาดเป็นมากกว่าแหล่งซื้อขายดอกไม้

นำไปสู่กิจกรรมเวิร์กช็อป Flower Lab โดยนำพื้นที่ชั้นลอยของปากคลองที่ปล่อยทิ้งร้างมาเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม 

“โครงการลองเปลี่ยนบทบาทผู้ค้ามาเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านพวงมาลัยสำหรับเวิร์กช็อป ตอนนั้นเราคิดว่าเวิร์กช็อปนี้ดีในแง่การดึงคนให้กลับมาที่ชุมชนแต่ว่าผู้ค้าบางรายเองก็ยังไม่ได้เข้ามาทำกับเรามากเท่าไหร่ซึ่งก็น่าจะเพราะว่าเรายังสื่อสารประโยชน์ของ
กิกรรมได้ไม่ดีมากพอ”

อาจารย์หน่องเล่าต่อว่า แม้จะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่โปรเจกต์ Human of Flower Market แต่จุดที่พลิกมุมมอง และตั้งหมุดหมายใหม่ของชุมชนปากคลองตลาด คือ งาน Ted x Bangkok ในปี 2018 จากแนวคิดการพูดให้แรงบันดาลใจเป็นการลงมือทำ อาจารย์หน่องตัดสินใจทำงานร่วมกับเครือข่ายนักออกแบบทำ Installation Art โดยนำดีไซเนอร์จับคู่กับร้านในปากคลองตลาด 

“แม่ค้าปากคลองตลาดไม่ได้มีแต่ตะโกนด่าอย่างเดียวนะ เราสามารถจัดดอกไม้ได้ จัดได้ดีพอๆ กับดีไซเนอร์เลยล่ะ กิจกรรมนี้ที่เกิดขึ้นเราอยากสร้างภาพจำใหม่ว่า แม่ค้าเองก็สามารถทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ได้” 

การทำงานร่วมกันระหว่างแม่ค้าและดีไซเนอร์จากโปรเจกต์นี้ทำให้อาจารย์หน่องสร้างมุมมองใหม่ว่า จริงๆ แล้ว แม่ค้าเองมีมิติที่หลากหลายไม่ใช่การขายดอกไม้เพียงอย่างเดียว พวกเขายังมีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทัศนคติด้านธุรกิจ 

“หลังจัด Installation Art อาจารย์ได้พูดคุยผู้ค้ารายหนึ่ง เขาติดต่อมาหาเราโดยตรงและแชร์เรื่องสถานการณ์ความเป็นไปปากคลองตลาด” 

Where is The Flower Market ? 

อย่างที่เราเล่าไปว่า ชุมชนปากคลองตลาดบรรยากาศปกคลุมไปด้วยความเงียบเหงา ผู้คนบางตา คนนอกยังสัมผัสได้ ผู้ค้าขายที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นเองต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ผู้ค้ารายหนึ่งที่ติดต่ออาจารย์หน่อง เล่าว่า

หนึ่งปีหลังการจัดระเบียบฟุตบาธ แม้รายใหญ่หรือตึกแถวไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ารายย่อยที่เคยกระจัดกระจายบนฟุตบาธ พวกเขาไม่ได้หายไปไหนก็จริง ย้ายไปตามจุดที่เหมาะสมและถูกต้อง แต่วันหนึ่ง

ผู้ค้าถูกตั้งคำถามจากชาวต่างชาติที่มาเดินชุมชนปากคลองตลาดว่า “Where is the Flower Market ?” ซึ่งนั่นคือจุดที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนปากคลองตลาดได้หายไปเสียแล้ว 

ท้ายสุดแล้วผู้ค้ารายนั้นและรายอื่นๆ จึงสนับสนุนและร่วมมือในการทำแพลทฟอร์ม Flower Hub Space 

ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนปัจจัยที่สร้างความยั่งยืน Flower Hub Space

“Catalyst Project ของ Flower Hub Space ตอนนั้นเราตั้งใจทำ 2 ขา ขาแรก คือ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม เราอยากลองดูว่าเทคโนโลยีแบบนี้สามารถพาผู้ค้าตัวเล็กไปด้วยกันได้ไหมหรือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขารู้สึกว่ายากเกินไปและขาที่สองอนาล็อก ให้แม่ค้าเป็นเทรนเนอร์ สปีกเกอร์ต่างๆ เวลาจัดเวิร์กช็อป ซึ่งอันนี้ยังเป็นการนำร่องอยู่ เพราะร้านค้าในชุมชนปากคลองตลาดยังมีอีกมากที่เราต้องเก็บข้อมูล” 

อาจารย์หน่องเล่าถึง การใช้งานของ Flower Hub Space ว่ายังค่อนข้างแมนนวล เป็นลักษณะการรวบรวมข้อมูลร้านค้า การซื้อขายต้องติดต่อร้านค้าโดยตรงผ่านเบอร์โทร จากนั้นผู้ขายจะส่งรูปดอกไม้ให้เลือกพร้อมราคา แม้จะมีความยุ่งยากเล็กน้อยแต่อาจารย์หน่องบอกว่า เพราะดอกไม้เองไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด ราคามีความผันผวนเปลี่ยนทุกวัน แต่การซื้อขายกับแม่ค้าโดยตรงข้อดีอย่างหนึ่ง คือ พวกเขาจะได้รับเงินเต็มจำนวน 

“สิ่งที่เราต้องทำกันต่อไม่ใช่แค่เรื่องเก็บข้อมูลลงแพลทฟอร์มนี้นะ แต่เราต้องลงพื้นที่กันไปคุยกับผู้ขาย คนในชุมชน ให้คำปรึกษาและวิธีการเขาว่า การขายควรจะเป็นอย่างไร ถ่ายภาพดอกไม้มุมไหนให้สวยดึงดูดคนซื้อ หรือกระทั่งการตอบแชทคนซื้อเอง”

อาจารย์หน่องกล่าวทิ้งท้ายว่าสิ่งที่ Flower Hub Space นี้ยังต้องพัฒนาและให้ความสำคัญ คือ ซัพพอร์ตการขายให้แข็งแรง มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้บทสนทนานี้จะผ่านการคุยโทรศัพท์ แต่เราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงของอาจารย์หน่องที่หนักแน่นเต็มไปด้วยความตั้งใจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนปากคลองตลาด

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : hn012mal.wordpress.com/2019/01/15/human-of-flower-market-tedxbangkok-adventure-2018/
Thanabordee Thongkum
Supattharachai Chuetamasorn
Patchara Singroeng
phiraya ardwichai

facebook.com/pg/manuspakkhlong/

trending trending sports recipe

Share on

Tags