เสื้อผ้าราคาถูก ดีต่อกระเป๋าเงินเรา แต่เรากำลังทำร้?

Last updated on ธ.ค. 17, 2021

Posted on ธ.ค. 17, 2021

หากคุณคือคนหนึ่งที่มัก ซื้อเสื้อผ้าราคาถูก ใส่ไม่กี่ครั้ง ถ่ายรูป พอซ้ำแล้วก็ทิ้ง คุณอาจจะต้องลองพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เมื่อภายใต้ความสวยงามของเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันในทุกๆ วัน เบื้องหลังคือขยะนับล้านตัน มลภาวะ และ การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย 


เสื้อผ้าที่คุณใส่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในช่วงแรกจะใช้วัสดุจากฝ้ายเป็นหลัก แต่ตั้งแต่มีการคิดค้น “โพลีเอสเตอร์” ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นผลผลิตจากพลาสติกนั้น แถมยังราคาถูกกว่าฝ้ายเกินครึ่ง เสื้อผ้าหลายชนิดจึงมีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิต แต่รู้หรือไม่ว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเสื้อผ้าหนึ่งชิ้นนั้นเริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงเป็นขยะ การผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับเสื้อผ้า 1 ตัวนั้น สามารถสร้าง carbon footprint ได้ถึง 5.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับผ้าฝ้ายที่สร้างเพียง 2.1 กิโลกรัม นอกจากนี้ตัวเลขจาก UN ระบุว่ากางเกงยีนส์หนึ่งตัวนั้นต้องใช้น้ำถึง 8 พันแกลลอนในการผลิต (เทียบเท่ากับเรา 1 คนดื่มน้ำได้ 7 ปี)

เมื่อเราเอาเสื้อผ้าไปทิ้งก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเผาทำลาย หรือ ฝังกลบ กว่า 20-35% ของไมโครพลาสติกที่พบในมหาสมุทรมาจากอุตสาหกกรมเสื้อผ้า คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit Committee) ยังระบุด้วยว่าในระหว่างกระบวนการตัดเย็บ ผ้ากว่า 15% กลายเป็นเศษขยะโดยที่ยังไม่ได้เอามาทำประโยชน์ใดๆ เลย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงในแง่ของการใช้น้ำโดยสิ้นเปลือง การกดขี่แรงงาน การทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น วงการเสื้อผ้าจึงกลายเป็นธุรกิจสกปรกดีๆ นี่เอง


ลองถามตัวเองดูว่า “ฉันซื้อเสื้อผ้าบ่อยแค่ไหน”

ในอดีตฤดูกาลของแฟชั่นจะแบ่งคร่าวๆ เป็น 4 ฤดูตามฤดูกาลธรรมชาติ ทำให้คนเลือกซื้อเสื้อผ้าไม่ค่อยบ่อย อาจจะแค่ปีละไม่กี่หน แต่วงจรเหล่านั้นก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อ “Fast Fashion” เข้ามา เราเปลี่ยนจากแฟชั่นตามฤดูกาลมาเป็นแฟชั่นที่ออกใหม่ทุกๆ อาทิตย์ ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของธุรกิจแบบทุนนิยมที่ต้องการชักจูงให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าถี่ขึ้น ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเสื้อผ้าที่เราซื้อเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนั้น “เอ้าท์” เมื่อเราซื้อเสื้อผ้ากันอย่างบ้าคลั่ง ทำให้เราทิ้งเสื้อผ้ากันมากขึ้น กองเสื้อที่เราทิ้งเมื่อรวมกับเสื้อจำนวนมากที่ผลิตขี้นมาแต่ไม่ได้รับการสวมใส่ (ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านั้นมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ก่อเกิดเป็นกองขยะขนาดเท่าภูเขาที่รอการกำจัด ที่อังกฤษ ประชากรในประเทศซื้อเสื้อผ้าเฉลี่ย 26.7 กิโลกรัมต่อปี และที่สำคัญเสื้อผ้าเหล่านี้ส่วนมากไม่ได้วนอยู่ในระบบแฟชั่น แต่กลับถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย


เสื้อผ้าผูกโยงกับการกดขี่แรงงานได้อย่างไร

เมื่อการแข่งขันในวงการแฟชั่นสูงมากขึ้น แต่ละแบรนด์จึงต้องการผลิตสินค้าล็อตใหม่ๆ ทุกๆ สัปดาห์ แน่นอนว่านั่นหมายถึง จำนวนแรงงานมหาศาลในการผลิตเช่นกัน ถ้าสังเกตดีๆ โรงงานของแบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่ำอยู่แล้ว อย่าง อินเดีย บังกลาเทศ หรือแม้แต่ประเทศจีน คนงานในโรงงานผลิตเหล่านี้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำสุด รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ซึ่งก็คือการกดขี่แรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตสู่ท้องตลาดให้ทันตามกำหนดนั่นเอง หลายๆ คนอาจจะต้องเคยมีสักเสี้ยวความคิดที่ว่า “เสื้อผ้าถูกขนาดนี้ กำไรเขาอยู่ตรงไหน” นั่นแหละหนึ่งในปัจจัยของต้นทุนต่ำก็คือ การที่แบรนด์เหล่านั้นจ้างคนด้วยค่าแรงที่ต่ำและกดขี่แรงงานพวกเขา และกว่า 80% ของแรงงานเหล่านี้เป็นผู้หญิง


งั้นก็รีไซเคิลเสื้อผ้าสิ

หนึ่งในความท้าทายของปัญหาเรื่อง Fast Fashion ก็คือการจัดการระบบรีไซเคิล เพราะกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันทำให้เสื้อผ้าเกิดความเสียหาย เส้นใยสิ่งทอหดสั้นลง 13% ของเสื้อผ้าที่ถูกรีไซเคิลกลายมาเป็นผ้าไฟเบอร์หรือฉนวนที่นอนที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว แถมยังมีราคาสูงกว่าไฟเบอร์ที่ทำขึ้นมาใหม่เสียอีก ทำให้ผ้าที่เกิดจากการรีไซเคิลไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับอลูมิเนียมที่สามารถย้อนกลับไปรีไซเคิลให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมเกือบ 100% 


แน่นอนว่าพอรู้เรื่องเหล่านี้แล้ว หลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกทันทีว่า “นี่ฉันกำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อมนี่ งั้นฉันจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่แล้ว” แต่สิ่งที่อยากจะชวนทุกคนคิดในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการห้ามซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่เป็นการมีสติกับสิ่งที่กำลังซื้อ ลองคิดดูก่อนตัดสินใจซื้อว่าสิ่งนี้จำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะสาวๆ ที่การได้มีเสื้อผ้าใหม่ๆ ไปถ่ายรูป ไปเที่ยว เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ลองเปลี่ยนมาเป็นซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือ ลองเอาเสื้อผ้าที่เราใส่แค่ครั้งสองครั้งไปปล่อยต่อ หรือแม้กระทั่งเลือกซื้อเสื้อผ้าที่คิดว่าใส่ได้เกิน 5 ปีแน่นอน


ในการซื้อครั้งถัดไปดู ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ถ้าเราช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ อย่างมลภาวะ ขยะ และการกดขี่แรงงานก็จะลดลงได้เช่นกัน 


อ้างอิงข้อมูลจาก

trending trending sports recipe

Share on

Tags