เรื่องเล่า Culture Ep.1 วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร ทำไมจึงสำคัญใน

Last updated on มิ.ย. 24, 2020

Posted on เม.ย. 22, 2020

บทความนี้พักเรื่อง Digital Marketing มาเรื่องของ Entrepreneurship กันนะครับ สืบเนื่องจากเมื่อช่วงประมาณปลายเดือนที่แล้วที่หลาย ๆ บริษัทเริ่มศึกษาและวางแผนขั้นตอนของการ Work From Home ให้เหมาะสมกับองค์กรของตัวเอง

ผมมีเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบการเหมือนกันทักเข้ามาและสอบถามผมว่า เมื่อ Work From Home แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพนักงานจะทำงานกันจริงๆ ที่บ้าน มีวิธีการตรวจสอบพนักงานอย่างไร ผมเลยแนะนำกลับไปว่า เครื่องมือที่จะคอยตรวจสอบการทำงานมันก็พอมีนะ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเรื่องของ Culture หรือวัฒนธรรมขององค์กร ถ้ามีวัฒนธรรมของการอู้งานและไม่มี sense of ownership ของงานตัวเอง แม้จะมีเครื่องมือที่ดีเพียงใด สุดท้ายแล้วเราคงไม่สามารถได้การทำงานอย่างมีประสทธิภาพจากพนักงานได้อยู่ดี และเพื่อเป็นการต่อยอดจากบทความ รวมคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ agency จาก Mentoring Session งาน CTC2020 ที่มีเกริ่นเรื่องของ วัฒนธรรมองค์กรไว้บ้างครับ

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร 

หากคุณเคยอ่านหนังสือเรื่องการบริหารและธุรกิจ หรือเคยเข้าเรียนคอร์สด้านบริหารมาบ้าง รับรองได้ว่าเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรคงต้องเคยผ่านตาไม่มากก็น้อย แต่การสร้างวัฒนธรรมที่ดีเหมาะสมกับองค์กรของเราแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกทั้งเมื่อวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นมาแล้ว บ่มเพาะเป็นเวลานาน หากต้องการจะเปลี่ยนก็เป็นสิ่งที่ยากมากเสียด้วย 

ฉะนั้นแล้ววัฒนธรรมองค์กรจึงไม่ใช่แค่คำสวยๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์บริษัท หรืออยู่ในเอกสารสำหรับการต้อนรับพนักงานใหม่ วัฒนธรรมองค์กรมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่วัฒนธรรมคือวิธีคิด (mindset) และการกระทำที่อยู่ในทุกอณูของ ‘คน’ ในองค์กรครับ

สำรวจวัฒนธรรมองค์กรผ่านอาณาจักรบริษัทแห่ง Silicon Valley และแบรนด์ดังต่างๆ 

เพื่อยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ในตอนที่ 1 ของเรื่อง Culture สำหรับ Creative Talk Live นี้ผมขอยกตัวอย่างเคสของบริษัทดัง ๆ ที่อยู่ในหนังสือ “What You Do Is Who You Are. How to Create Your Business Culture.” ของ Ben Horowitz ผู้ทรงอิทธิพลใน Silicon Valleys ครับ

หนังสือ “What You Do Is Who You Are. How to Create Your Business Culture.” ของ Ben Horowitz

แม้ในแวดวงของ Tech Startup จะชินกับวัฒนธรรมของการทำงานเลิกดึก แต่ที่ Slack ทุกคนเลิกงานตามเวลาเพราะทุกคน (โดยเฉพาะ CEO) เชื่อว่าหากทุกคนทำงานอย่างเต็มที่กันจริงๆ ในเวลาทำงาน ทุกคนจะได้งานตามเวลาที่ตั้งไว้โดยที่ไม่ต้องอยู่ดึกทุกวัน

กลับกันที่ Huawei พนักงานจะได้ฟูกเพื่อเอาไว้งีบหลับหลังทำงานจนดึกดื่นเพราะการกลับบ้านตรงเวลาไม่ใช่วัฒนธรรมของ Huawei

วัฒนธรรมของ Huawei

Facebook ในช่วงเริ่มต้น ต้องต่อสู้กับ MySpace ที่มีผู้ใช้งานเยอะกว่ามาก ดังนั้นเรื่องของความเร็วในการทำงานและพัฒนาระบบจึงสำคัญมากเพื่อดึงผู้ใช้งานให้เยอะที่สุดและเร็วที่สุด จนมีกฎ “Move fast and break things.” จาก Mark Zuckerberg ออกมาเพื่อสร้างวัฒนธรรมของการทำงานให้เร็ว บรรลุผลให้ไว แม้จะมีพลาดระหว่างทางไม่เป็นไร ขอให้เร็วไว้ก่อน

เช่นเดียวกันกับ Amazon ช่วงก่อตั้ง พนักงานกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาทำงานกับ Amazon จะได้นั่งทำงานบนโต๊ะที่ทำมาจากแผ่นไม้ทำประตูถูกๆ แล้วตอกตะปูต่อขาแบบง่ายๆ เพราะ Amazon มีวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการประหยัดเงินให้มากที่สุดเพื่อนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าในราคาที่ต่ำที่สุด (ปัจจุบัน Amazon ไม่ได้ให้ทุกคนทำงานบนโต๊ะแบบดังกล่าวแล้ว แต่วัฒนธรรมของการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อนำเงินไปใช้กับเรื่องจำเป็นที่สุดนั่นคือเสนอสินค้าในราคาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้ลูกค้า ได้ถูกหยั่งรากลึกลงไปแล้ว)

นอกจากในหนังสือเล่มนี้ ก็มีเคสวัฒนธรรมดัง ๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและหลายคนรู้จักบริษัทเหล่านี้เป็นอย่างดี อาทิ 

Netflix

หากพนักงานใน Netflix เห็นขยะตกอยู่บนพื้น พวกเขาจะเก็บไปทิ้งเองแบบเดียวกับที่พวกเขาทำตอนอยู่บ้าน พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรซึ่งทุกคนพร้อมจะช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นหน้าที่ของใคร

Google มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้อิสระพนักงานในการทำงานและเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทีมและบริษัท นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมของการที่พนักงานจะ coaching กันและกันทั้งทักษะด้าน soft skill อย่างการพรีเซนต์และสื่อสาร หรือด้าน hard skill ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง (นี้จึงเป็นเหตุผลที่ Google ใช้เวลาคัดเลือกพนักงานหลายขั้นตอนเพื่อมั่นใจว่าจะได้คนที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้)

ทีม New York Giants ใน NFL ช่วงปี 2004 – 2015 ทุกคนต้องมาถึงก่อนเวลานัดหมายเสมอ หากมาตรงเวลาเท่ากับมาสาย (ประชุมจะเริ่ม 5 นาทีก่อนเวลาเสมอ) เพราะ Tom Coughlin หัวหน้าโค้ชในยุคนั้นต้องการสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนตรงต่อเวลาและพร้อมทำงานทันทีเมื่อถึงเวลานัดหมาย

Zappos บริษัทจำหน่ายรองเท้าออนไลน์ชื่อดัง มีวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานทุกคนต้องให้บริการลูกค้าได้อย่างประทับใจสุดๆ เช่น เมื่อมีคนโทรหา Call Center แต่เขาไม่ได้ซื้อสินค้ากลับถามเรื่องอื่นแทน ทางพนักงาน Call Center ก็จะหาข้อมูลมาตอบให้แม้จะยังไม่ได้เป็นลูกค้าของ Zappos ก็ตาม 

Starbucks สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้พนักงานในร้านมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของโดยจะเรียกพนักงานทุกคนว่าพาร์ทเนอร์ซึ่งจะได้รับสวัสดิการและการดูแลดุจหุ้นส่วนทางธุรกิจ จึงมีหลายคนไม่น้อยที่เวลาไปใช้บริการสตาร์คบัคแล้วรู้สึกสบายใจ อยากทำงานนานๆ ที่ร้าน 

นี้เป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมองค์กรครับที่ทุกคนอ่านแล้วน่าจะเห็นภาพมากขึ้น

วัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่แค่กฎหรือคำคมที่สวยหรูประดับเอกสาร แต่เป็นการกระทำ แนวความคิด และจิตวิญญาณของทุกคนในองค์กรครับ

ไว้ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อว่าการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี ทำได้อย่างไรบ้าง คอยติดตามกันนะครับ

เรื่อง : ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder The Flight 19 Agency
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

ติดตามคอนเทนต์ซีรีส์ เรื่องเล่า Culture ทั้งหมดได้ที่นี่


บทความที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags