คุยกับอรรถพล อนันตวรสกุล ในวันที่การศึกษาไทยต้องปรับตัวใหญ่กับการเรียนทางไกล

Last updated on มี.ค. 2, 2023

Posted on เม.ย. 21, 2020

Learning From Home หรือการเรียนทางไกล เป็นเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ด้วยมาตรการ Social Distancing เรียกร้องให้แวดวงการศึกษาต้องปรับตัวกับสถานการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แม้ว่าเด็กอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาบางส่วนยังไม่ได้รับผลกระทบนี้โดยตรง เพราะระยะเวลาการเรียนการสอนของเทอมสุดท้ายสิ้นสุดก่อนนโยบายกักตัวที่บ้านจะเริ่มต้น แต่เราก็ได้เห็นนักศึกษาและอาจารย์ระดับอุดมศึกษาหลายมหาวิทยาลัยตั้งรับกับเรื่องนี้  ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กมีสมาธิยากขึ้น นอกจากนี้รายวิชาที่แตกต่างกันส่งผลให้อาจารย์ต้องปรับวิธีการสอนใหม่ เช่น วิชาเรียนปฏิบัติ หรือวิชาบรรยายที่อาศัยระยะเวลาในการอธิบาย รวมถึงวิธีการประเมินผลเพื่อให้เสมอภาคต่อผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วย 

ส่วนผลกระทบของกลุ่มมหาวิทยาลัยได้รับน่าจะทำให้เห็นตัวอย่างต่อวงการศึกษาไทยในอนาคตได้ดี หากต้องรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่ ผู้เรียนและผู้สอนจะไม่สามารถไปทำกิจกรรมที่สถาบันการศึกษาได้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้การแก้ปัญหานี้ซับซ้อนมากขึ้น และออนไลน์อาจจะไม่ใช่คำตอบของโจทย์ครั้งนี้

แล้วการศึกษาไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ในวันที่การเรียนไม่ได้จำกัดอยู่ในรั้วโรงเรียนอย่างชัดเจน และเด็กหลายคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเสมอภาค เราชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดถึงแนวทางที่ผู้คนแวดวงการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการศึกษามากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

การเรียนทางไกล โจทย์ที่วงการศึกษาไทยต้องระดมความคิดช่วยกัน

ความแตกต่างและความหลากหลายของเด็กแต่ละพื้นที่คือปัจจัยสำคัญของการเข้าถึงการศึกษายุคหลังจากนี้  เพราะเด็กพื้นที่ห่างไกลสัญญาณอินเทอร์เน็ต เด็กที่มีพื้นฐานทางด้านครอบครัวแตกต่างกัน และมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักอาจเข้าไม่ถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์เด็กได้ทุกคน แล้วการเรียนแบบไหนที่จะทำให้เด็กเข้าถึงได้ อรรถพลย้ำว่า การเรียนทางไกล (Distance Learning หรือ Remote Learning) ซึ่งเป็นระบบการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนอยู่ห่างกัน แต่ผู้สอนจะถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ วิดิทัศน์ สื่อคอมพิวเตอร์ ใบงาน ฯลฯ นั่นหมายความว่าคุณครูและนักเรียนไม่จำเป็นต้องออนไลน์พร้อมกันก็สามารถทำการสอนได้ เพราะเป็นรูปแบบที่มีเนื้อหาผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

“อย่างแผนของกระทรวงศึกษาธิการตอนนี้ ถ้าถามผม เขาไม่ได้เป็นแผนการเรียนแบบออนไลน์ แต่เป็นการออนสกรีน มีการใช้พวก DLTV (Distance Learning Television หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม)  ซึ่งถ้าเกิดเอาไปเปิดในช่องทีวีดิจิทัล อันนี้ออนสกรีนแล้ว เป็นการเรียนทางไกล แล้วถ้าหากให้ส่งงานออนไลน์ ก็จะเป็นกึ่งออนไลน์”

อรรถพลบอกด้วยว่าหากเกิดการสื่อสารไม่ชัดเจนว่าเป็นการสอนที่ผสมผสานได้หลายรูปแบบ คุณครูอาจจะอัดคลิปสอนลงระบบอย่างเดียว หรือหันไปหาเครื่องมือสำหรับการสอนออนไลน์  ทั้งๆ ที่บริบทแวดล้อมของเด็กแตกต่างกัน

“ยกตัวอย่างว่าสมมติที่บ้านมีพี่น้องหลายคน แล้วทุกคนต้องมานั่งเฝ้าจอหมดจะแย่งเวลาหน้าจอกัน ดังนั้น อาจจะต้องแบ่ง เช่น เด็กประถมมาเรียนผ่านทีวีเป็นหลัก เด็กโตก็อาจจะนั่งเสียบหูฟัง ฟังโน้ตบุ๊กเอา มันต้องผสมผสานในแง่นี้ด้วย” 

อีกอย่างคือด้วยบริบทของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์คนนี้มองว่าคุณครูอาจจะต้องเปลี่ยนความเชื่อจากการสอนแบบในห้องเรียน เพราะเมื่อเด็กอยู่บ้านมีสิ่งเร้าเข้ามารบกวนตลอดเวลา หากยังใช้วิธีแบบเดิมแม้เด็กจะเก่งแค่ไหนแต่อาจจะไม่มีสมาธิเข้าถึงบทเรียนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณครูจึงต้องวางแผนการสอนอย่างเข้าใจบริบทของเด็ก และต้องเชื่อว่าเด็กสามารถเรียนได้ตัวเองได้ หรือในกรณีเด็กเล็ก จะต้องคุยกับผู้ปกครองและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอนได้

“ถ้าเราเตรียมเอกสารให้ดีพอ ยังไงเด็กอ่านรู้เรื่อง หรือในเอกสารมีคำถามปักหมุดที่เป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดตามได้จริงๆ สมมติถ้าเกิดปัญหาตรวจงานเด็กไม่ได้ เราต้องปรับคำถามยังไง Worksheet ชิ้นต่อไปก็ต้องทำให้เหมาะกับเด็กที่สุด มันถึงเวลาที่ครูต้องเรียนรู้ว่าในบริบทของโรงเรียนที่เปลี่ยนไปจากห้องเรียนแบบเห็นหน้า เป็นห้องเรียนที่ห่างไกลแนวคิดแบบ Personalized Learning คือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน”  

แต่คุณครูจะสามารถลงมือปฏิบัติได้ สิ่งสำคัญคือการกำหนดนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ต้องสนับสนุนและยืดหยุ่นให้คุณครูออกแบบการสอนได้ตามบริบทของนักเรียน เพราะผู้สอนเป็นคนที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด แม้บางโรงเรียนจะเริ่มมีคุณครูและผู้อำนวยการมองหาแนวทางเพื่อเตรียมการแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายโรงเรียนยังต้องการคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อใช้เป็นนโยบายร่วมกัน

“มีหลายเรื่องที่โรงเรียนตัดสินใจลำพังไม่ได้ เช่น วิธีการวัดผล หรือหลักสูตรต่อจากนี้จะเป็นยังไง จัดตารางเรียนวันละ 7 คาบเหมือนเดิมไหมหรือว่าให้โรงเรียนยืดหยุ่นตามบริบทเด็กได้ ถ้ากระทรวงส่งสัญญาณว่าจะยืดหยุ่นได้เลย คุณครูก็ออกแบบการสอน ไปคุยกับพ่อแม่ขอความร่วมมือให้ช่วยกัน”

“ตอนนี้พอกระทรวงไม่คุยเรื่องพวกนี้ คุณครูก็ไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะกระทรวงเร่งลงไปทำทรัพยากรก่อน ซึ่งผมเข้าใจเขานะ เรื่องทรัพยากรมันคือเรื่องใหญ่ เพราะเราไม่มีมาก่อน ยังไม่มีการถ่ายคลิป ม.ปลายไว้เลย มีแต่ ม.ต้น กับประถม เขาก็ไปควาน DLTV ขึ้นมา ซึ่งถ้าลองเปิด DLTV ดูก็จะรู้ว่ามันไม่เหมาะในการนำมาใช้ เพราะว่ามันยาว 50 นาที อย่างของประเทศเกาหลีที่สอนทางไกลแล้วใช้คลิป สำหรับเด็กโตความยาวของเขาไม่เกิน 40 นาที ถ้าเด็กเล็กประมาณ 10 นาที แล้วในคลิปเขามีวิชวล ตัวละครช่วยเยอะมาก”

ข้อสงสัยอีกอย่างของการสอนผ่านคลิปคือจะคล้ายกับการสอนของติวเตอร์แบบที่เราเห็นทั่วไปหรือไม่ เพราะคุณครูบางคนก็ไม่สะดวกที่จะต้องอัดวิดีโอสอนเหมือนกับที่ติวเตอร์ทำ

“เราตีการทรีตแบบ Tutoring กับ Teaching ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว วิธีการคิดแบบติวเตอร์คือ Assumption ว่าเด็กเรียนเรื่องนี้มาแล้ว แต่แค่เตรียมตัวสอบหรือเรียนล่วงหน้า ถ้าคุณครูเขาไม่อยากสอนแบบติวเตอร์แสดงว่าเขาเข้าใจนะว่ามันไม่ใช่แค่อธิบายแบบสรุปแล้วเฉลยข้อสอบหรือสอนเด็กตัดช้อยส์คำตอบ แต่ถ้าไม่ทำแบบนั้นคำถามคือจะทำยังไงได้บ้าง อาจจะต้องมีการดีไซน์กิจกรรม ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ค่อยๆ หัดทำ” 

ไม่ใช่แค่ปัญหาการเข้าถึงการเรียน แต่จิตใจของเด็กก็สำคัญ

จากผลสำรวจเด็กและเยาวชนในไทยต่อผลกระทบโควิด-19 ขององค์การยูนิเซฟ พบว่า  7 ใน 10 คนบอกว่าวิกฤตการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ทำให้พวกเขามีความเครียด กังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนและโอกาสในการศึกษาต่อ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน รวมไปถึงความกังวลของเยาวชน LGBTIQ ซึ่งรู้สึกกดดันเรื่องเพศสภาพเพิ่มมากขึ้นเมื่ออยู่ที่บ้าน  โดยเยาวชน 8 ใน 10 คนเครียดปัญหาด้านการเงินของครอบครัวมากที่สุด

“อย่างผมสอนเด็กโตออนไลน์ เอาเข้าจริง ๆ เรื่องใหญ่ก็คือเรื่องจิตใจเด็ก เขากลับบ้านปุ๊บพ่อแม่เขาตกงาน หรือว่าพ่อแม่เขาขายของไม่ได้ แล้วเขาจะมานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เรียนวันละ 3 วิชามันก็รู้สึกผิด ตัวเองโตแล้วอายุ 20 น่าจะช่วยพ่อแม่ได้ แต่ก็ติดภาระเรื่องเรียน พ่อแม่ก็ต้องออกไปขี่แกร็บ ซึ่งเขาก็รู้สึกแย่ เครียด กดดัน แล้วมันก็อิมแพ็กกับการเรียน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์แบ่งปันประสบการณ์จากที่ได้เจอในห้องเรียนออนไลน์ของตัวเอง

“ถ้าเป็นเด็กประถมหรือมัธยม ลองคิดดูว่าจะเป็นยังไง เพราะจะมีความซับซ้อนขึ้นด้วย ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นโจทย์ที่โรงเรียนและคุณครูต้องคิดแล้วว่าบริบทชีวิตเด็กไม่ได้เป็นปกติในแบบที่คุณครูจะคาดหวังให้เด็กเรียนได้เต็มที่เหมือนที่เคยทำมาในบริบทชั้นเรียน” 

อรรถพลยกตัวอย่างกระแสเรียกร้องของมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาให้ยกเลิกการประเมินผลด้วยเกรดแล้วเปลี่ยนเป็นการให้ผ่านและไม่ผ่านเท่านั้น เพราะนักศึกษาหลายคนในอเมริกาทำงานส่งตัวเองเรียน แต่ตอนนี้กำลังตกงานและต้องดิ้นรนให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ หากประเมินผลด้วยเกรดอาจไม่เสมอภาคต่อเด็กได้ 

“ถ้าบ้านเราบอกว่าเด็กม.6 ต้องตัดเกรดเพื่อยื่น TCAS อย่างในรอบ Portfolio ที่เขากำหนดให้มีคะแนนอย่างต่ำ การตัดเกรดแบบเดิมในสถานการณ์นี้มีผลต่อเด็กนะ เพราะว่าเด็กเก่งๆ บางคนเขาอาจจะเป็นตัวหลักช่วยพ่อแม่ทำงาน แล้วพอต้องเรียนทางไกลจะให้โฟกัสเรื่องเรียนไม่ได้แล้ว ซึ่งจะมีประเด็นเรื่องตัวความเหลื่อมล้ำตรงนี้เยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีแล้ว มันเป็นเรื่องของสถานะด้านเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้เด็กพร้อมเรียนหรือไม่พร้อมเรียน” 

ระยะเวลาสองเดือนกับการวางแผนให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ

หลังจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เลื่อนการเปิดภาคการศึกษาเป็น 1 กรกฏาคม นับจากนี้ในระยะเวลาเกือบสองเดือนจะเป็นช่วงเวลาเตรียมการสอนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อรองรับการเรียนของเด็กตั้งแต่ป.1 ถึงม.6 กว่า 10.8 ล้านคน ซึ่งอรรถพลมองว่าหากไม่เร่งมือในช่วงนี้ เมื่อถึงกำหนดเปิดเทอมแล้วทุกอย่างจะจัดการยากมากขึ้น

“ตอนนี้เราน่าจะต้องศึกษาแล้วว่าประเทศอื่นเขารับมือกันยังไง มีเคสตัวอย่างจากหลายที่ เช่น ของครูอินเดียช่วยจัดตารางชีวิตให้เด็กใน 1 สัปดาห์ หรือถ้าจะเรียนวิชาภาษาใน 5 วันต่อสัปดาห์ คำศัพท์ที่ควรจะต้องเรียนของสัปดาห์นี้มีคำว่าอะไรบ้าง ส่วนโปรตุเกสมีบุรุษไปรษณีย์ส่งซองการบ้านให้เด็กทุกสัปดาห์แล้วก็รับการบ้านเด็กมาส่งครู เพราะเขามีชนบทที่ห่างไกล หรือโมร็อคโก เรียนที่บ้านเสร็จพ่อแม่ถ่ายรูปแล้วส่งให้ครูทาง WhatsApp ครูก็ส่งกลับมาให้เห็นว่าเด็กคนอื่นทำการบ้านเรื่องเดียวกัน คัดตัวอักษรว่ายังไงบ้าง” 

หลังจากนี้การศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และจะเกิด New Normal อะไรที่สามารถตอบโจทย์ให้กับเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพบ้าง การแก้ไขปัญหานี้คงไม่ใช่แค่คุณครูหรือโรงเรียนลงมือทำอย่างเดียว แต่ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้การศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

_______________________________________

Learning From Home ซีรีส์คอนเทนต์ว่าด้วยเรื่องการศึกษาไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในแง่มุมผลกระทบของแต่ละช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยกระทั่งอุดมศึกษา รวมถึงการเตรียมรับมือตลอดจนการแก้ไขในช่วงวิกฤตินี้ 

เรื่อง : 24August
ภาพ : Unsplash และ สุธาทิพย์ อุปสุข

อ้างอิง : stou.ac.th/study/projects/edcenter/docs/kmhome/distance/1.1.pdf 

trending trending sports recipe

Share on

Tags