5 เคส เงินทองเรื่องใกล้ตัว รู้ไว้จะได้ไม่เสียรู้

Last updated on มี.ค. 6, 2021

Posted on มี.ค. 5, 2021

ปัญหาเงินๆ ทองๆ มักสร้างเรื่องยุ่งๆ ให้เราหัวหมุน ถ้าหากคุณไม่อยากเสียรู้ จำเป็นต้องรู้กฎหมายเอาไว้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคุณ

CREATIVE TALK by CIGNA ชวน ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX หรือ ‘อาจารย์มิก’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาเปิดห้องยกตัวอย่าง 5 เคสน่าคิด ใครทีมพี่เก่ง ใครตามพี่โจ้ มาดูซิว่าคุณเข้าข้างฝ่ายไหน แล้วเข้าใจถูกๆ ผิดๆ อยู่หรือไม่

คุยสาระสนุก ยกมือนับคะแนนกันสดๆ กับชาว Clubhouse รอบรู้เรื่องกฎหมายใกล้ตัว ทุกๆ 2 ทุ่ม วันพฤหัสบดี ร่วมสร้างสรรค์การไขคดีครั้งนี้โดย Cigna Thailand ประกันภัย “คิดและทำเพื่อชีวิตที่ดีของคุณ” 

[แนะนำบทความก่อนหน้านี้: 5 เคสธุรกิจ คุยเรื่องกฎหมายก่อนเปิดบริษัท และสิ่งที่พนักงานก็ควรรู้]

เคสที่ 1. เราสามารถอัดคลิปวิดีโอทิ้งไว้เป็นพินัยกรรมได้รึเปล่า 

ใช้เป็นหลักฐานรับมรดกไม่ได้ เนื่องจากตามกฎหมายมรดก (ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2478) ยังไม่นับการบันทึกภาพและเสียงไฟล์ดิจิทัลเป็นพินัยกรรม จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันสิทธิ์ในมรดกนั้นได้

เคสที่ 2. สมมติคุณได้รับมรดกตกทอดเป็นทรัพย์สินมูลค่า 10 ล้านบาท และหนี้สินมูลค่า 20 ล้านบาท ทายาทผู้รับมรดกจำเป็นต้องชดใช้หนี้สินทั้งหมดแทนหรือไม่

ทายาทไม่ต้องชำระหนี้แทน เพราะตามกฎหมายไทยทายาทจะใช้หนี้ไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับ นั่นหมายความว่าในกรณีนี้ทรัพย์สินจะถูกยึดและไม่ต้องชำระหนี้สินที่เหลืออีก 10 ล้านบาท นอกเสียจากว่าจะยินยอมเซ็นเอกสารรับสภาพเป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้ 

เคสที่ 3. ถ้าไม่ได้ทำสัญญายืมคืนเงินกัน มีเพียงข้อความบอกกล่าวผ่าน Social Media เราจะสามารถใช้บทสนทนาเหล่านั้นเป็นหลักฐานแจ้งความ และฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้หรือไม่

ได้ หากบริบทของแชตไลน์แสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายยอมรับสถานภาพลูกหนี้ ถ้ายังไม่มีข้อความชี้ชัดในตอนแรก เราสามารถตะล่อมถามให้คู่สนทนาระบุจำนวนเงินที่ยืม และรับปากจะชำระเมื่อใดไว้ให้ชัดเจนตอนที่ยังพอคุยกันได้ และเมื่อเกิดผิดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้จริง ก็สามารถรวบรวมหลักฐานที่เคยคุยกันนั้นไปฟ้องร้องได้ และยังสามารถเก็บหลักฐานการใช้ชีวิตอู้ฟู่ของลูกหนี้มาแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้มีกำลังจะชำระหนี้ แต่บ่ายเบี่ยงที่จะชำระคืนมาเป็นหลักฐานสนับสนุนได้ด้วย

เคสที่ 4. ป้ายเตือนในลานจอดรถ แจ้งนโยบายของห้างฯ หรือตึกสำนักงานที่ประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบทรัพย์สินและความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้น แล้วในทางกฎหมายล่ะว่ายังไง

กรณีนี้เข้าข่ายเป็นสถานที่รับฝากทรัพย์สิน ถ้าหากเกิดสูญหายหรือเสียหาย เจ้าของสถานที่หละหลวมในการรักษาความปลอดภัยจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย

ประกาศที่แจ้งไว้ถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ผู้ใช้บริการไม่ได้เห็นชอบ และไม่ได้ลงนามในข้อตกลง แต่ส่วนมากเมื่อผู้เสียหายไม่ทราบกฎหมาย จึงไม่เอาความและมักเบิกค่าเสียหายกับบริษัทประกันภัยของตน ซึ่งหากมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก บริษัทประกันฯ จะรับช่วงสิทธิ์เรียกค่าเสียหายกับห้างฯ แทน

เคสที่ 5. เราอาจจะเคยเห็นร้านค้าติดป้ายขู่โจรว่า ร้านนี้มีกล้องวงจรปิด สามารถเอาผิดทางกฎหมายและจะปรับค่าเสียหาย 10-20 เท่า ของราคาสินค้าที่ขโมยไป หากว่าร้านจับโจรได้ขึ้นมาจริงๆ จะตกลงประนีประนอม ยอมปรับเงินเพียงอย่างเดียวทำได้หรือไม่

จริงๆ แล้วทางร้านจะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับโจร เพราะถือเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินที่ไม่อาจยอมความกันได้ และร้านไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายคืนได้จนกว่าจะจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหายตามราคาของกลาง แต่อาจเรียกค่าทำขวัญ ค่าเสียเวลาเพิ่ม จะได้ตามที่เรียกร้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

สนใจฟัง Session ย้อนหลังแบบเต็มๆ ผ่าน podcast ตามช่องทางต่างๆ ต่อไปนี้

🎧 SoundCloud: http://bit.ly/3kOTnzr
🎧 Spotify: http://spoti.fi/2OkVmj0
🎧 PodBean: http://bit.ly/3biKprl
🎧 Apple Podcast: http://apple.co/38cldRm

trending trending sports recipe

Share on