ใช้ AI จับโจรออนไลน์

Last updated on ก.พ. 1, 2022

Posted on ม.ค. 25, 2022

เวลาที่เราพูดถึงคำว่า AI  หรือ Artificial Intelligence ภาพแรกที่เข้ามาในหัวคนหลายๆ น่าจะเป็นภาพของหุ่นยนต์พูดได้แบบในหนัง

แต่บนโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น AI ล้วนอยู่ล้อมรอบตัวเราในชีวิตประจำวันมากกว่าที่เราเห็น แต่ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของระบบช่วยเหลือบนแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์อัจฉริยะที่ให้ความช่วยเหลือมนุษย์ให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เรียกว่า AI หรือ Artificial Intelligence นั้น เป็นเรื่องของการทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้น โดยระบบอัลกอริทึ่มอันซับซ้อนของมันจะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคำนวณและแก้ปัญหาต่างๆ ที่ในอดีตมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ แต่ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้ความสามารถของ AI ก็ยังคงมีจำกัด เพราะ AI ยังไม่สามารถถ่ายทอดทักษะหรือเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรมได้ดีเท่าไหร่นัก

ทว่าแม้ความสามารถของ AI จะมีอยู่จำกัดแต่เมื่อพูดถึงกระบวนการรับรู้ของ AI แล้ว AI สามารถทำงานได้ดีมาก โดยเฉพาะเรื่อง “อาชญากรรมไซเบอร์” หรือ Cybercrime

เพราะจากสถิติอาชญากรรมไซเบอร์ปี 2021 ที่ผ่านมาพบว่า

  • กว่า 30,000 เว็บไซต์ทั่วโลกโดน “บุกรุก” 
  • กว่า 64% ของบริษัททั่วโลกเคยเจอรูปแบบการโดนโจมตีทางไซเบอร์นี้ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง 
  • เดือนมีนาคม 2021 มีการรั่วไหลของข้อมูลมากกว่า 20 ล้านครั้ง
  • ทุกๆ 39 วินาทีจะต้องมีการโดนโจมตีทางเว็บไซต์
  • กว่า 24,000 แอปฯ อันตรายโดนบล็อกในทุกๆ วัน

และนี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ว่าโลกออนไลน์ของเรามีความเสี่ยงขนาดไหน และ AI สามารถเข้ามาช่วยในการประมวลข้อมูลมหาศาลในเวลาอันรวดเร็วได้ จนทำให้พบข้อมูลที่อาจมีความผิดปกติ และเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยให้เราพบสิ่งแปลกปลอมหรืออันตรายได้รวดเร็ว นอกจากนี้ รูปแบบโครงสร้างของ AI ยังช่วยตรวจจับกิจกรรมที่ดูเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนจะที่จะโดนโจมตีได้ด้วย

และตัวอย่างของบริษัทที่ใช้ AI Machine Learning ในการช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยเหล่านี้ ได้แก่ ‘Avatar Intelligence’ ที่มีต้นกำเนิดแถบแคลิฟอร์เนีย และ 

‘Deep Instinct’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อาศัยการวิเคราะห์แบบล่วงหน้าช่วยตรวจจับตัวแปรต่างๆ ของโค้ดจากมัลแวร์ได้

และนอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้ว ข้อดีอีกอย่างของการใช้ AI เพื่อช่วยสกัดอาชญากรรมไซเบอร์ ก็คือการทำงานของ AI แทบจะไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย แถมยังสามารถจับได้แม้กระทั่งรูปแบบความผิดปกติเพียงเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อพบความผิดปกติแล้ว AI ก็สามารถประมวลและแจ้งผลได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถกำจัดได้อย่างรวดเร็ว


ถึงแม้ว่าการทำงานของ AI จะช่วยป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ได้ดีแค่ไหน แต่วิธีการช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลให้ได้ผลอีกทาง ก็คือตัวเราเองในฐานะของผู้ใช้ ซึ่งเราควรใช้พาสเวิร์ดที่มีความแข็งแรงสูง และไม่ใช้ซ้ำๆ กันหลายเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ให้ดีขึ้นได้


ที่มาของข้อมูล


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

trending trending sports recipe

Share on

Tags