‘สำเร็จได้!’ แม้จะเริ่มช้ากว่าคนอื่น

Last updated on ธ.ค. 21, 2023

Posted on ม.ค. 25, 2022

คุณเคยได้ยินเรื่อง “กฎ 10,000 ชั่วโมง” ของหนังสือ ‘The Outlier’ ไหม?

กฎ 10,000 ชั่วโมง ก็คือ ทฤษฎีที่ Malcolm Gladwell เคยอธิบายไว้ในหนังสือ ว่าด้วยจำนวนชั่วโมงในการฝึกฝนทักษะและการทำงานจน “เชี่ยวชาญ” แต่ถ้าเป็นแค่เรื่องของระยะเวลาที่ฝึกฝนอย่างที่ Malcolm Gladwell ว่าไว้จริง แล้วทำไมคนที่เพิ่งตั้งใจฝึกเพียงกีตาร์เพียงไม่กี่ปี ถึงมีฝีมือทัดเทียมหรืออาจดีกว่าคนที่ฝึกกีตาร์มานานเป็นปีแล้วได้? หากเป็นเช่นนั้นแล้วแสดงว่า เรื่องการฝึกฝนทักษะจนเชี่ยวชาญอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของระยะเวลาอีกต่อไปหรือเปล่า… 

“Deliberate Practice” คือ การฝึกฝนแบบตั้งใจสุดๆ และเป็นการฝึกฝนอย่าง “ช้าๆ เป็นระบบ” แต่ ว่า “เต็มที่” นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนที่ฝึกเรื่อยๆ แต่ใส่แรง 50% จึงได้ผลลัพธ์น้อยกว่าคนที่ทุ่ม 100% ในระยะเวลาที่เท่ากัน เช่น นาย A เล่นเปียโนนาน 2 ชั่วโมงทุกวันเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ตั้งใจเล่นอย่างเต็มที่ จึงมีความสามารถในการเล่นเปียโนดีกว่า นาย B ที่เล่นเปียโน 2 ชั่วโมงทุกวันเป็นระยะเวลา 2 ปีเท่ากัน แต่ใส่ความตั้งใจไปแค่ 50% ดังนั้น คุณภาพของการฝึกจึงสำคัญพอๆ กับจำนวนเวลาในการฝึก 

วันนี้เราก็มีองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิด Deliberate Practice ขึ้นได้ โดยแบ่งเป็น 3 กระบวนการ และ 2 แนวความคิดดังนี้


‘3 กระบวนการ’ ที่ส่งเสริม Deliberate Practice

  1. ต้องมีการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting)
    โดยให้เราลองออกแบบสิ่งที่จะทำหรือฝึก โดยแบ่งเป้าหมายออกมาให้เป็น ‘ทักษะย่อย’ หรือ Subskill ให้มากที่สุด ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะการซอยย่อยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความมุ่งมั่นและความชัดเจนในการเข้าถึงเป้าหมายมากขึ้น เช่น ความ “อยากเล่นกีตาร์เก่ง” เป็นเป้าหมายใหญ่ และ การจับคอร์ดให้ได้ เป็นเป้าหมายย่อย จากนั้นเล่นคอร์ดเดิมซ้ำๆ หรืออาจจะเป็น เป้าหมายใหญ่ คือ การทำขนมอร่อย เป้าหมายย่อย คือ การตีไข่ขาวให้ขึ้นฟู ซึ่งก็ต้องอาศัยการตีซ้ำๆ จนขึ้นรูปฟูสวย
  2. โฟกัสกับเรื่องนั้นๆ 100% (Practice with Focus) 
    หลังจากได้ทักษะย่อยแล้ว ก็นำมันมาเป็นตัวตั้ง แล้วฝึกอย่างเต็มที่ โดยอาจต้องตัดสิ่งรบกวนรอบข้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ปิดโทรศัพท์มือถือ ไปอยู่ในที่ๆ ไม่มีคนรบกวน หรือ บอกคนอื่นก่อนว่าห้ามรบกวนในระหว่างฝึกฝน
  3. ได้รับ Feedback และทำ Reflection (Get Feedback and Reflect) 
    เพราะ Feedback คือ การสะท้อนจากภายนอก จากผู้อื่น ขณะที่ Reflection คือ การสะท้อนภายในตัวเอง เช่น อาจารย์ที่สอนเราให้ความเห็นว่าเราฝึกมาแล้วเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็เอาการสะท้อนเหล่านั้นมาดูว่าการฝึกฝนเท่าที่เราทำมามันไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ไหม แล้วหาจุดอ่อนที่จะพัฒนาต่อไปได้ 

กระบวนการทั้ง 3 นี้ นับเป็นวงจร ที่เมื่อเราทำตาม 1 – 3 แล้ว เราก็วันกลับไปข้อ 1 ใหม่เพื่อพัฒนาไปให้ใกล้เป้าหมายขึ้นเรื่อยๆ


‘2 แนวความคิด’ ที่ส่งเสริม Deliberate Practice

  1. Motivation หรือ แรงผลักดันที่จะทำให้เรารู้ว่า ทำไมเราถึงทำสิ่งนั้น
  2. Commitment หรือ ความพร้อมที่จะลงมือทำซ้ำๆ ไปพร้อมกับความน่าเบื่อได้ 

การมีสองแนวความคิดนี้ควบคู่ไปด้วยกัน จะทำให้เราไม่คาดหวังกับตัวเองว่าจะต้องพัฒนาในทันที เพราะเราจะต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนา และเมื่อเราลดความคาดหวังกับผลลัพธ์แบบพลิกฝ่ามือนี้แล้ว เราจะไปโฟกัสกับกระบวนการมากขึ้น และการฝึกฝนไปเรื่อยๆ โดยอาศัยระยะเวลาในการทำอะไรสักอย่าง อาจไม่ได้ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่การใส่ความตั้งใจเข้าไปให้เต็มที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการฝึกฝนทักษะนั้นๆ ได้

ดังนั้นก่อนจะฝึกฝนทักษะใหม่ครั้งต่อไป ไม่ต้องห่วงว่าคุณเริ่มเร็วหรือช้ากว่าคนอื่น แค่ใส่ความตั้งใจลงไปให้เต็มที่ เพื่อที่คุณได้เชี่ยวชาญทักษะนั้นๆ ได้ไวขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 104 Deliberate Practice พัฒนาทักษะ เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร


Rise & Shine 104 Deliberate Practice พัฒนาทักษะ เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
การพัฒนาทักษะจำเป็นต้องใช้การฝึกฝนที่มีคุณภาพ กระบวนการนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า Deliberate Practice คือฝึกฝนอย่างจริงจัง ตั้งใจ ต้องทำอย่างไรบ้าง มาฟังกันครัับ
เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์
trending trending sports recipe

Share on

Tags