5 วิธีหาไอเดียใหม่ ๆ อย่างนักออกแบบระดับโลก

ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักออกแบบระดับโลกได้ แต่ความสำเร็จของพวกเขาก็ไม่ใช่ “โชคช่วย” หรือ “ทักษะ” ที่มีเท่านั้น

Last updated on พ.ค. 9, 2023

Posted on มี.ค. 22, 2022

ความคิดสร้างสรรค์เป็นการผสมผสานระหว่างทักษะและนิสัยที่ต้องฝึกฝนและขัดเกลาผ่านเวลา ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามักพบผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมเจ๋งๆ จากคนที่ท้าทายความคิดของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อ “เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น”

หนังสือ “How Creative Rules the World: the Art and Business of Turning Your Ideas into Gold” เขียนโดย Maria Brito ที่ปรึกษาด้านผลงานศิลปะ และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ได้พูดถึงเรื่องการศึกษาและวิเคราะห์ “นิสัย ทักษะ และเครื่องมือ” ที่ส่งเสริมผลงานของศิลปินในอดีต ทำให้ค้นพบ 5 วิธีที่จะช่วยให้เหล่านักคิดนักออกแบบรุ่นใหม่ได้เอามาปรับใช้กับการสร้างสรรค์ผลงาน


หาสิ่งใหม่ๆ จากเรื่องเดิมๆ

การกลับไปดูอดีตหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อหาแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์คือการ “ต่อยอด” จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ด้วยการนำเสนอใหม่ๆ และน่าตื่นเต้นกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น กล้องตัวแรกคิดค้นโดย Nicéphore Niépce ในปี 1816 และต่อมาในปี 2006 Frank Wang นักศึกษาชาวจีนก็สร้างอุปกรณ์บินได้ที่สามารถติดตั้งกล้องเพื่อบันทึกภาพและวิดีโอที่สูงหลายเมตรจากพื้นได้ จนกระทั่งปี 2014 บริษัทของเขาอย่าง DJI จึงได้จัดจำหน่ายกล้องโดรนอย่างเป็นทางการ และทำให้ปัจจุบันนี้ DJI ครองตลาดกล้องโดรนกว่า 70% มูลค่ากว่า 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


ถอดโครงสร้างเดิมซะ

หนึ่งในวิธีที่จะเอาแนวความคิดในการถอดโครงสร้างเดิมของสินค้าหรือบริการออก เริ่มต้นได้ด้วยการหาองค์ประกอบที่ไม่เหมือนใครก่อน จากนั้นก็แยกส่วนแล้วนำไปผสมผสานกับสิ่งอื่น

ในปี 1950 บริษัท Zenith และทีมวิศวกรช่วยกันคิดค้น “รีโมต” หรือ เครื่องควบคุมระยะไกลสำหรับโทรทัศน์นั้น พวกเขาต้องติดตั้งสายระโยงระยางจากโทรทัศน์ให้ต่อเข้ากับรีโมต พวกเขาต้องรื้อโครงสร้างของแผงควบคุมโทรทัศน์จากภายใน จนกระทั่งปี 1956 พวกเขาถึงจะสามารถทำ “รีโมต” สำเร็จด้วยการควบคุมด้วย แสงสัญญาณให้เปลี่ยนเป็นช่องต่างๆ ตั้งแต่นั้นมา รีโมตก็ได้เปลี่ยนรูปแบบพัฒนามาเรื่อยๆ และขยายไปยังรูปแบบอื่นๆ ตั้งแต่กุญแจรถยนต์ รีโมตแอร์ ไปจนถึงแอปฯ บนโทรศัพท์เราที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ผ่านโทรศัพท์ได้


รวบยอดความคิด

ตรงข้ามกับวิธีในข้อที่ผ่านมา คอนเซ็ปต์ของวิธีนี้คือ “ยิ่งเยอะ ยิ่งดี” การรวบรวมไอเดียทุกอย่างขยำรวมผสมกัน

ลองนึกภาพ “Concept Store” ที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุค 90 เมื่อเหล่าเจ้าของกิจการค้าปลีกแถบยุโรปหัวใสที่ออกแบบร้านผนวกให้เข้ากับ Lifestyle โดยการเลือกสรรผลิตภัณฑ์จากแต่ละแหล่งทีละชิ้นมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ผลงานศิลปะ หนังสือ หรือเครื่องประดับ ปี 1991 ร้าน 10 Corso Como เปิดครั้งแรกในมิลาน ประเทศอิตาลี ได้เปลี่ยนรูปแบบการทำร้านค้าปลีกไปตลอดกาล ทุกวันนี้เหล่าร้าน Concept Store ทั้งหลายแทบจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง “ร้านค้าปลีก” กับ “การให้บริการ” เราได้เห็นบางร้านมีเสิร์ฟค็อกเทล บางร้านมีร้านอาหารภายในร้านด้วย บางร้านถึงกับมีบริการสปา ใดๆ เหล่านี้คือวิธีการคิดแบบรวบยอด


หาความกลมกลืนในความย้อนแย้งให้ได้

หรือว่าจะลองผสมสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันให้เข้ากันในแบบที่ไม่เหมือนใครดูไหมล่ะ

นี่คือสิ่งที่ Coco Chanel ทำไว้ตั้งแต่ปี 1906 เมื่อเธอเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่ใส่ลุคแบบการรวมเพศไว้ด้วยกัน เช่น การให้ผู้หญิงได้ใส่กางเกงในแบบที่ก่อนหน้านั้นมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ใส่ได้ หรือในปี 1920 ที่เธอออกแบบน้ำหอมโดยใส่ชื่อของตัวเองเป็นชื่อรุ่นของน้ำหอม “Chanel No.5” อันโด่งดังและกลายเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ แต่กว่าจะมาเป็นน้ำหอมตัวเด่นนั้น Coco Chanel ได้ให้โจทย์แก่นักปรุงน้ำหอมชื่อดังชาวฝรั่งเศสเชื้อสายรัสเซียในสมัยนั้นอย่าง Ernest Beaux ว่า เธอต้องการกลิ่นที่เหมือนหญิงสาว แต่ไม่ใช่กลิ่นดอกไม้ และกลิ่นจะต้องออกมาเป็นทั้งผู้หญิงที่ดูน่ายกย่องและเย้ายวนในคนๆ เดียวกัน เมื่อ Ernest Beaux ได้รับโจทย์ไปแล้วก็รังสรรน้ำหอมออกมาให้เธอได้คัดเลือกถึง 10 สูตร (จากทั้งหมด 80 สูตรที่เขาปรุงไว้) สุดท้ายกลิ่นที่ Coco Chanel เลือกก็คือหมายเลข 5 ที่กลายมาเป็นที่มาของชื่อ และแม้กระทั่งรูปลักษณ์ของขวดก็ขัดแย้งกับความเป็นหญิงสาวอย่างสิ้นเชิง เพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะของขวดวิสกี้ที่ผู้ชายในสมัยนั้นนิยมดื่มนั่นเอง


ผสมต้นทุนทางปัญญาเข้าด้วยกัน

พลังของการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ นำไปสู่นวัตกรรมและภูมิปัญญาใหม่ๆ เสมอ ยกตัวอย่างตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีแบบสวมใส่ (Wearable-technology Market) ที่มีมูลค่ากว่า 116,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 ถือเป็นวงการที่เกิดจากการข้ามสายพันธุ์ทางความคิดเข้าด้วยกันซึ่งมีต้นกำเนิดจากการเอาคอมพิวเตอร์พื้นฐานมาปรับใช้แบบคาดเอวในช่วงปี 1960 แต่ก็ยังไม่พัฒนามากนักจนกระทั่งบริษัท Polar จากประเทศฟินแลนด์สร้างเครื่องวัดหัวใจแบบไร้สายในปี 1982 การประกอบปัญญาจากทั้งศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ การออกแบบเชิงอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ทำให้ Polar กลายเป็นแบรนด์ผู้นำด้านอุปกรณ์แบบสวมใส่สำหรับคนที่ต้องการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความเร็ว ระยะทางและค่าวัดอื่นๆ ที่ทุกวันนี้เรานิยมใช้วัดในการฝึกฝนออกกำลังกาย หรือ ฝึกซ้อมกีฬา


นักออกแบบที่ยิ่งใหญ่และผู้มองการณ์ไกลต่างก็รู้ว่าตนต้องคอยทำให้วงล้อทางความคิดหมุนอย่างสม่ำเสมอ หากพวกเขาต้องการสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนให้กับวงการ พวกเขามองโลกว่าเป็นโอกาสในการได้ประสบกับวิวัฒนาการและการเติบโต เป็นการต่อจุดที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ให้ต่อไปแบบอนันต์ คุณเองก็เป็นคนๆ นั้นได้เหมือนกัน หากลองนำ 5 วิธีการนี้ไปปรับใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานครั้งต่อๆ ไป


ที่มาของข้อมูล – 5 tricks to help you think like the world’s greatest designers

เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์
trending trending sports recipe

Share on

Tags