‘ไม่มีสูตรลัด มีแต่มวยวัดในการผลิตคอนเทนต์’ คุยเบื้องหลังการโปรโมท RedLife ภาพยนตร์สะท้อนสังคม ที่ไปไกลถึงญี่ปุ่น

Last updated on ต.ค. 28, 2023

Posted on ต.ค. 28, 2023

“เราอยากทำภาพยนตร์ไทยที่เป็นสปอตไลต์ให้กับคนข้างล่าง”

ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่น่าจับตามองของวงการหนังไทย เพราะเป็นปีที่มีหนังแนวใหม่ ๆ พาเหรดเข้ามาร่วมสร้างเฉดสีให้วงการมากขึ้น แม้หลายเรื่องจะรุ่งบ้าง ร่วงบ้าง แต่มันก็เป็นหนึ่งในหลักไมล์สำคัญที่ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์รู้สึกใจชื้น โดย RedLife เอง ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่พร้อมจะเข้ามาสร้างสีสันให้กับวงการหนังไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี มันจึงเป็นโจทย์ท้าทายของทีมครีเอทีฟที่ดูแลการสื่อสารหนังเรื่องนี้ว่าพวกเขาจะทำอย่างไร ให้คนอยากไปดู RedLife กันในโรง

หากพูดถึง BrandThink เชื่อเลยว่าคุณผู้อ่านหลายท่าน คงนึกถึงเพจที่มักเล่าถึงประเด็นสังคมสนุก ๆ และเสริมทัพด้วยช่องต่างๆ ที่มีสาระทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างมากมาย ซึ่งด้วยความที่ BrandThink ก็เป็นคนทำสื่ออยู่แล้ว พวกเขาจึงมีความฝันที่ใหญ่กว่าการเป็นแค่พับลิชเชอร์ นั่นคือ ‘การทำภาพยนตร์’ ด้วยเหตุนี้ BrandThink จึงลุกขึ้นมาจับมือกันก่อร่างสร้างยูนิต BrandThink Cinema ขึ้นมา พร้อมภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง RedLife เรดไลฟ์ “เรื่องรักโลกไม่สวย”

RedLife เล่าถึงสองหนุ่มสาวชายขอบอย่าง ‘ส้ม’ ลูกสาวของโสเภณีข้างถนน ส้มเชื่อว่ารักแรกที่เธอได้พบจะพาเธอออกจากโลกที่แสนเกลียดชังนี้ได้ เช่นเดียวกับ ‘เต๋อ’ โจรกระจอกนักฉกชิงวิ่งราวย่านสถานีรถไฟ ที่พร้อมปล้นทุกอย่างเพื่อฉุดยื้อรักเดียวของเขา แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริงก็ตาม

โดยทางทีมครีเอทีฟที่ดูแลการโปรโมท RedLife ก็ได้มาร่วมพูดคุยกับทาง CREATIVE TALK และแชร์ถึงเบื้องหลัง วิธีทำการสื่อสาร โปรโมทหนังเรื่องแรกของพวกเขา ว่าต้องเจออะไร และประสบปัญหาอะไรบ้าง นำทัพโดย คุณบอย (ยุทธนา เตชะรัตนประเสริฐ Communication & Strategic Director), คุณจิ (จิรพล รังสูงเนิน Creative Director), คุณนะ (นฤพล เปาอินทร์ Senior Creative) และคุณเอม (มานะ ขวัญเมือง Senior Creative)

“ภาพยนตร์คือหมุดหมายของคนทำสื่อ เราอยากทำมันสักครั้งในชีวิต”

คุณบอยเล่าให้เราฟังว่า หลายคนอาจจะรู้จัก BrandThink ที่เป็นมีเดียพับลิชเชอร์ แต่จริงๆแล้ว BrandThink เรานิยามตัวเองว่าเป็น Hybrid Content Creator ผลิตคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบทั้ง Long-Form และ Short-Form โดยสิ่งที่พวกเขาถนัดคืองานคอมเมอร์เชียลและวีดีโอ ทว่าสิ่งหนึ่งที่เติมเต็มหัวใจพวกเขานั่นก็คือ การทำคอนเทนต์แนวสารคดี เพราะสารคดีนั้นได้พาทีมงาน ไปสำรวจในมุมมองที่ไม่ค่อยได้เห็นนัก ซึ่งสิ่งนี้จุดประกายให้ BrandThink อยากก้าวไปทำสื่อในรูปแบบภาพยนตร์และซีรีส์มากขึ้น จนกระทั่งการมาของสตรีมมิงแพลตฟอร์ม ที่ทำให้พวกเขาได้ทดลองนำสิ่งที่พวกเขาสนใจมาเล่าในรูปแบบภาพยนตร์


🎬 RedLife เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นสังคม สิ่งที่ยากของการสื่อสารหนังเรื่องนี้คืออะไร 🎬

“ความยากของงานนี้ คือจังหวะในการวางการสื่อสาร” คุณบอยกล่าว

ในวันแรกที่พวกเขาได้รับโจทย์ว่าต้องมาทำการสื่อสารให้ RedLife พวกเขาได้รับโจทย์เพียงว่า ‘ทำยังไงก็ได้ ให้คนอยากมาดู RedLife ในโรง’ แม้จะเป็นโจทย์ที่เข้าใจง่าย แต่ก็ยากในแง่ของการสร้างแรงกระตุ้น เพราะตอนแรกทีมงานสื่อสารมีธงในใจไว้แบบหนึ่ง แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นภาพยนตร์ตัวเต็ม ธงการสื่อสารในใจของพวกเขาก็ได้กลายเป็นอีกแบบ สิ่งนี้คือ ‘Another View’ ที่ทำให้ทีมโปรโมทต้องกลับมาวางดีกรีของการโปรโมทให้ดี และจัดวางการสื่อสารแบบต่าง ๆ ที่คอนเทนต์ก็ต้องสัมพันธ์กับเวลาด้วย

หากย้อนกลับไปถึงเส้นทางการทำงานของทีมครีเอทีฟนั้น ก่อนหน้านี้พวกเขาทำโฆษณามาก่อน และยังไม่เคยมีประสบการณ์การโปรโมทภาพยนตร์เลย พวกเขาจึงมอง RedLife เป็นโปรดักต์หนึ่ง ทว่าความยากก็บังเกิดขึ้น นั่นเพราะว่าเมื่อทำจริง ๆ กลับพบว่า “ภาพยนตร์นั้นไม่สามารถวางแผนการสื่อสารแบบเดียวกับโฆษณาสินค้าได้” เพราะโฆษณาคือการที่มีลูกค้าบรีฟ ว่าอยากได้แบบไหน แล้วพวกเขาแค่ทำให้สนุกพอ แต่หนังคือเนื้อหาแบบ Long-Form ทำให้โปรดักต์หนึ่งชิ้นจะอุดมไปด้วยคอนเทนต์มหาศาล ซึ่งความท้าทายในการสื่อสารของพวกเขา จึงเป็นการที่ทีมสื่อสารต้องคอยคิดว่าหนังจะมีคอนเทนต์อะไร แล้วกิมมิกแบบไหนที่ทำให้คนนึกถึง RedLife

“การที่ครีเอทีฟโฆษณา ได้มาทำโปรโมทหนัง ผมว่ามันคือความฝันเลยนะ” คุณจิกล่าวกับทาง CREATIVE TALK

ทีมงานเล่าถึงสิ่งดี ๆ ที่เป็นเชื้อไฟให้พวกเขารู้สึกแฮปปี้เมื่อได้ทำโปรเจกต์นี้ แม้ว่าการทำจริง ๆ จะไม่ง่ายเหมือนดังที่เล่า เพราะเอาเข้าจริง การทำโปรโมทหนังก็ยังไม่มีรูปแบบตายตัว หรือสูตรสำเร็จที่จับต้องได้ พวกเขาจึงค่อนข้างต้องคลำทางเอาเองพอสมควร

“พูดไป มันก็เหมือนมวยวัด” คุณบอยกล่าวเสริม

มวยวัดในความหมายของคุณบอยนั้นหมายถึง วางแผนเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่พอถึงเวลาทำจริงต้องพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา นั่นทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการลงมือทำ คลำหาทาง สร้างวิธีการของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารออกไปได้อย่างเฉียบคม ด้วยความที่เทรนด์ต่าง ๆ ผ่านไปเร็วมาก ทำให้พวกเขาแทบจะปรับเปลี่ยนแผนการสื่อสารกันรายสัปดาห์ตลอดการโปรโมท


🎬 ทางทีมงานวางวิธีการโปรโมท RedLife ไว้ยังไงบ้าง? 🎬

ด้วยความที่ไม่มีใครในทีมสื่อสาร เคยผ่านการโปรโมทภาพยนตร์มาก่อนอย่างที่ได้เล่าไปข้างต้น นั่นทำให้ทุกคนต้องมีลูกฮึดประมาณหนึ่ง ในตอนแรกพวกเขาคิดมาอย่างดี ว่าจะวางแผนการสื่อสารล่วงหน้าเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยตั้งเป้าที่จะโปรโมทคอนเทนต์เป็นช่วง ๆ ไป ซึ่งทีม BrandThink ตั้งใจที่จะโปรโมทคอนเทนต์ด้วยดีกรีระดับที่ต่างกัน ทว่าทั้งหมดแทบจะต้องแก้ใหม่ด้วยการสู้กับ ‘อัลกอริทึม’

“เราต้องวางกลยุทธ์ให้สัมพันธ์กับอัลกอริทึม เอาจริง เหมือนแก้บรีฟใหม่ตลอดเวลา” คุณเอมกล่าว พลางหัวเราะ

แม้ว่าทีมโปรโมทจะวางแผนการสื่อสารมาเกือบ 2 ปี แต่การที่พวกเขาต้องโปรโมท RedLife ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้พวกเขาต้องแก้แผนกันอยู่ตลอดเวลา นั่นเพราะว่าอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียนั้นไม่สามารถควบคุมได้ว่าคอนเทนต์ไหนจะโดนใจกลุ่มคนอ่าน

กล่าวคือเมื่อพวกเขาวางการโปรโมทอะไรไป ไม่ว่าจะเป็นการวางประเด็นหรือคอนเทนต์ที่ทำให้ชาวเน็ตมาสร้างการมีส่วนร่วม แต่สิ่งนั้นกลับไปไม่ถึงดังที่หวัง จนแทบจะทำให้พวกเขาถอดใจ เพราะอะไรที่วางเอาไว้ก็ต้องแก้ใหม่หมด

ทว่าก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมา 

“บางทีแคปชันสั้น ๆ มันกลับได้ยอดมากกว่าที่คิด”

คุณนะ ยกตัวอย่างโพสต์ที่เขาเคยทำขึ้นมาแล้วพูดถึงเรื่องว่า ‘Sex Worker ก็แค่การทำมาหากิน’ โดยตอนแรกพวกเขาไม่คิดว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่เมื่อปล่อยไปแล้ว แคปชันสั้น ๆ กลับสามารถสร้างข้อถกเถียงในประเด็นสังคมได้มากมาย นั่นทำให้ทีมโปรโมทจึงได้บทเรียนว่า ไม่ว่าจะทำการสื่อสารอะไร จงอย่าไปฝืนอัลกอริทึม เพราะต่อให้เราโพสต์ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ถ้าคนที่เข้ามาพูดคุยเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เราก็ต้องขยับแผนไปตามอัลกอริทึมที่คนเข้ามาพูดคุยอยู่ดี ฉะนั้นแล้วแผนที่วางไว้ก็มีสิทธิ์แก้ใหม่ได้เสมอ หากชาวเน็ตเข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมแบบไหน เราก็ควรทำหยิบฟีดแบ็กมาจัดการ เพื่อตอบสนองกับการมีส่วนร่วมเหล่านั้น 

การที่เราพยายามไล่ตามอัลกอริทึม ทำให้ทีมงานสามารถจับประเด็นได้ว่าต้องการสื่อสารรูปแบบอะไร ไม่ว่าจะเป็นในมู้ดโรแมนติกอย่างการพูดถึงความรักที่ไม่สมหวัง หรือมู้ดดรามาติกที่พูดถึงชีวิตของคนชายขอบก็เช่นกัน


🎬 ประเด็นสังคมคือสิ่งที่สื่อสารยากจริงไหม? 🎬

“ความสนุกของการทำประเด็นสังคม คือการได้สื่อสารกับคน”

ปกติ BrandThink ทำคอนเทนต์ที่สื่อสารเรื่องประเด็นสังคมอยู่แล้ว แต่ในการทำโปรโมทของภาพยนตร์ RedLife นั้น ได้พาทีมงานลงไปเรียนรู้ถึงมุมที่พวกเขาไม่เคยเห็น ตั้งแต่คนชายขอบข้างตึกระฟ้า ไปจนถึงโสเภณีชราในย่านคลองเตย 

“เมื่อเรามองภาพยนตร์เป็นศิลปะที่สอดแทรกประเด็นสังคมไว้ มันจะมีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ” คุณจิกล่าว

การเข้าไปพบเจอสิ่งที่ถูกปกปิดไว้ในชายขอบ ทำให้พวกเขาวางเป้าหมายในการสื่อสารเปลี่ยนไป การโปรโมทนี้ ไม่ใช่การบังคับคนดูว่าต้องเห็นด้วยกับพวกเขา แต่คือทำให้สังคมเข้าใจ และรับรู้ว่า ‘ชายขอบของสังคมใกล้ตัวเรา ก็มีพวกเขาอยู่’ ซึ่งหนังเรื่อง RedLife จะให้อะไรกับสังคมนั้น จึงเป็นสิ่งที่คนดูแต่ละคน จะได้รับสารที่แตกต่างกันไป

“จริง ๆ แล้วสังคมทำให้เรามีกรอบความคิด ซึ่งเราหวังว่าหนังเรื่องนี้ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจใหม่ ๆ นอกกรอบเดิม ที่คนเคยเห็นกันผ่านตาได้ คุณอาจจะไม่ต้องเห็นด้วย แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าใจ และรับรู้ว่า มันมีมุมนี้ในสังคม” คุณนะกล่าวเสริม

การสื่อสารด้วยประเด็นสังคมผ่านภาพยนตร์จึงเป็นอีกมิติของการรับสาร เพราะประเด็นคนชายขอบคือรสชาติหนังไทยที่ไม่ค่อยได้พบนัก ซึ่งการที่ทีมโปรโมทได้ลงรีเสิร์ชเพื่อศึกษาถึงประเด็นเหล่านี้ นอกจากจะฟูลฟีลใจพวกเขาในแง่การเป็นกระบอกเสียงแล้ว ยังทำให้ทีมสื่อสารได้เข้าใจแง่มุมใหม่ ๆ ของการทำคอนเทนต์ พร้อมกับได้วัตถุดิบใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มในคลังข้อมูลอีกด้วย

นี่จึงทำให้ทีมครีเอทีฟ สามารถต่อยอดไอเดีย วางวิธีสื่อสารเพื่อปล่อยของในการทำโปรโมทได้มากขึ้น


🎬 หนังมีมู้ดที่แอบเข้าถึงยาก แล้วอย่างนี้ทีมงานทำการสื่อสารด้วยวิธีไหน 🎬

“มันน่าจะหมดยุคของ Mass Marketing แล้ว ถ้าเรากำลังคุยกับใคร ต้องดึงความสนใจของคนที่จะเข้ามาดู” คุณนะกล่าว

การทำโปรโมทในยุคนี้ ไม่ใช่ยุคที่เราจะหว่านกระแสอีกต่อไป แต่ผู้สร้างภาพยนตร์เอง ก็ต้องหาให้เจอว่าฐานคนดูของเราเป็นใคร แล้วจะดึงคนประเภทไหนมาหาเรา ยกตัวอย่าง ไทบ้าน เดอะซีรีส์, 4 Kings ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่ดึงคนของพวกเขาเข้ามาดู ไม่ว่าจะเป็นคนอีสานหรือกลุ่มเด็กช่างเองก็ตาม ฉะนั้นแล้ว การที่ RedLife จะสามารถไปหากลุ่มคนดูของพวกเขาได้ ทีมงานจึงวางแผนด้วยการใช้แทคติคที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ระดับกลางที่คัดแล้วว่ามีความ RedLife อยู่ในตัว อีกทั้งกลุ่มของคนที่เป็นคอหนัง ทีมงานก็จะสื่อสารด้วยใบปิดที่พูดถึงว่า ‘RedLife ได้ไปฉาย World Premier ณ ประเทศญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นการการันตีว่า นี่ไม่ใช่หนังไทยแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็น โดยพวกเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้าง Cinema Experience ให้กับคนดู ถ้าคุณไม่เข้าไปดูในโรง ณ เวลานั้น ก็จะไม่รู้เลยว่าประเด็นที่โซเชียลกำลังพูดถึงคืออะไร

เราจะเห็นเลยว่า การเดินทางของ RedLife มอบบทเรียนล้ำค่ามากมายให้กับทีมเบื้องหลัง จากตอนแรกที่คิดแค่ว่าทำภาพยนตร์ขึ้นมา แล้วตนเองเป็นส่วนหนึ่งด้วยการได้ทำโปรโมทก็ดีใจแล้ว ทว่าพวกเขากลับได้เรียนรู้เรื่องราวของคนชายขอบที่เปิดโลกของคนทำงาน ซึ่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็ได้ทำให้พวกเขาสร้างคอนเทนต์ที่อิงกับประเด็นสังคมขึ้นมา โดยทางคุณจิถึงกับกล่าวว่า ถึงแม้พวกเขาจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม แต่การได้ทำประเด็นที่เป็นกระบอกเสียงให้สังคม ก็เติมเต็มใจพวกเขาแล้ว 

ทีมครีเอทีฟหวังเอาไว้ว่าหนังเรื่อง RedLife จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับโปรเจกต์ต่อๆ ไปของ BrandThink Cinema ซึ่งทีมงานก็ฝันอยากให้ทุกคน ได้ลองสัมผัสด้วยตัวเองในโรงหนัง เพราะ ‘มนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์ จะอยู่เพียงในโรงภาพยนตร์เท่านั้น’ และหวังอย่างยิ่งว่า RedLife จะเป็นเฉดสีใหม่ ๆ ให้กับวงการหนังไทย 


“อยากให้ทุกคนได้มาดู RedLife ในโรงกันครับ ผมเชื่อใน Cinema Experience มันเป็นประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้จากการดูหนังที่บ้าน เพราะภาพยนตร์คือมหรสพที่สร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้คนมากมาย ณ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นบนจอ” คุณบอยกล่าวทิ้งท้าย

trending trending sports recipe

Share on

Tags