เมื่อใจเราไม่ได้ แต่งานยังต้องได้! รู้จัก 3 เทคนิคคิดง

Last updated on ก.พ. 1, 2022

Posted on ม.ค. 18, 2022

Deadline ใกล้เข้ามาแล้ว แต่สภาพจิตใจช่วงนี้สุดจะหม่นหมอง เราจะสร้างไอเดียดีๆ ให้โปรเจ็กต์ที่ทำอยู่ได้อย่างไรบ้าง? 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันให้เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์งานสักงานหรือแก้ปัญหาสักอย่าง ท่ามกลางหัวหน้า / ลูกค้า / เพื่อนร่วมงาน ที่ต่างเฝ้ารอไอเดียสุดสร้างสรรค์จากคุณอย่างเต็มเปี่ยม แต่คงโชคไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าในช่วงเวลานั้นสภาวะทางจิตใจของคุณไม่โอเคเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้า, หมดไฟ, ว่างเปล่า หรือมีเรื่องเครียดหลายอย่าง ระดับที่แม้แต่การจะคิดว่าเที่ยงนี้จะกินอะไรยังกลายเป็นเรื่องยาก… 

ในสถานการณ์เช่นนี้เราควรจะรับมืออย่างไร ถึงจะไปต่อได้พร้อมกับได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราก้มีคำแนะนำดีๆ จาก Harvard Business Review มาแชร์ให้ทุกคนได้ลองเอาไปใช้กัน


3 วิธีวอร์มอัพสมองให้พร้อมปลดล็อคความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของจิตใจ

1. ไม่คาดเค้นตัวเองให้ต้องคิดสร้างสรรค์ 

ในการจัดการกับปัญหานี้ขั้นแรก คุณอาจจะต้องสร้างความรู้สึกอันปลอดภัยทางด้านจิตใจขึ้นมาให้ได้ก่อน และคุณควรปลดปล่อยตัวเองให้เลิกพยายามเค้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกมา

เพราะในสภาวะที่คุณกำลังต่อสู้กับความเครียดของตัวเองอยู่การบีบคั้นตัวเองให้คิดอะไรที่สร้างสรรค์ออกมาอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิด fight-or-flight หรือการตอบสนองแบบสู้หรือหนีได้ซึ่งมันจะส่งผลให้คุณลงมือคิดงานโดยหลุดจากสิ่งที่เป็นพื้นฐาน และเป็นการใช้สมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ที่น้อยที่สุด

ดังนั้นถ้าเกิดสถานการณ์กดดันเช่นนี้จากที่คุณเคยพูดกับตัวเองว่า “ไอเดียมันต้องมาแล้ว” “ตอนนี้ต้องครีเอทีฟแล้ว” ให้ลองเปลี่ยนเป็นการพูดกับตัวเองในอีกรูปแบบว่า “เรากำลังจะได้เห็นแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากนี้” หรือ “เรากำลังจะได้ค้นพบความเป็น ไปได้ครั้งใหม่แล้ว” หรือแม้แต่ “เรากำลังจะได้เล่นสนุกกับไอเดียบางอย่างแล้ว” น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า 


2. ลองคิดด้วยความผ่อนคลายแบบ Diffuse Thinking

เมื่อคุณสร้างความปลอดภัยทางจิตใจขึ้นมาได้เป็นอันเรียบร้อย ให้เริ่มทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสภาวะการคิดแบบ ‘Diffuse-Thinking’ ซึ่ง ‘Diffuse-Thinking’ นั้นใช้สำหรับการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และมันมักจะทำงานด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลาย แทนการโฟกัสกับอะไรแบบเฉพาะเจาะจงและเป็นการคว้าจับเอาภาพใหญ่แทนภาพเล็ก และการคิดประเภทนี้คือหนึ่งในลักษณะการทำงานของสมองแบบผ่อนคลาย ไม่ตึงและไม่เครียด 

ซึ่ง ’Diffuse Thinking’ มักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณปล่อยให้ความคิดและจิตใจได้เตร็ดเตร่ไปอย่างอิสระ หรือได้สร้าง connection กับผู้คนโดยที่ไม่ต้องมีแบบแผน ซึ่งวิธีการคิดแบบกระจัดกระจายนี้จะไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองเท่านั้น แต่มักจะเกิดขึ้นทั่วทั้งสมอง 


3. หยิบยื่นวัตถุดิบใหม่ๆ ให้สมอง

ถ้าหากว่าคุณยังคงรู้สึกติดหล่มกับสภาวะจิตใจที่ไม่โอเคอยู่และยังไม่สามารถจะคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาได้ คุณอาจลองหยิบยื่นวัตถุดิบใหม่ๆให้กับสมองของคุณดู เพื่อให้สมองได้ฝึกทำงานกับอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการอ่านอะไรสักอย่าง อย่างพวกบทความออนไลน์หรือหนังสือสักเล่ม หรือการออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่คุณมีโอกาสจะได้พบเจอกับวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของผู้คนในพื้นที่ใหม่ๆ ในปัญหาที่อาจใกล้เคียงกับที่คุณพบเจออยู่ หรืออาจเป็นการลองพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ ในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะบางครั้งการได้เห็นในสิ่งที่ผู้อื่นได้ลงมือทำจริงแล้วอาจทำให้คุณได้ไอเดียในการคิดค้นวิธีใหม่ๆ ที่เหมาะกับสถานการณ์ของตัวเองได้ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือคุณต้องไม่ลืมให้เวลากับตัวเองด้วย

สำหรับบางคนแล้ว การที่ได้ใช้สมองทำงานแบบเต็มศักยภาพ 100% ในห้วงเวลาอันสั้นที่ทั้งกดดันและท้าทาย อาจทำให้เกิดความสามารถในการคิดค้นหรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แต่ถ้าคุณใช้ศักยภาพของสมองน้อยกว่า 100% สมองของคุณจะมีเวลาในการปล่อยให้ไอเดียความคิดต่างๆ ได้ไหลเวียนและแพร่กระจายอย่างช้าๆ และมันเป็นโอกาสที่ดีกว่าสำหรับการประสบความสำเร็จ 

และนอกจากการลงมือลองทำอะไรใหม่ๆ และการให้เวลากับตัวเองจะช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้ว การพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบหรือสวยงามสำหรับตัวเราเอง ก็ช่วยยกระดับศักยภาพของจิตใจในด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน และยังช่วยให้เราได้ปลดปล่อยความคิดในเชิงบวกออกมาด้วย


แต่ถ้าคุณอยากจะก้าวเข้าสู่ขั้นกว่าของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบก้าวกระโดด ให้ลองสลับวิธีการคิด ระหว่างการคิดคนเดียว กับการคิดเป็นกลุ่ม ก็จะช่วยให้คุณได้ค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการระดมสมองในที่ประชุมกับเพื่อนร่วมงาน หรือการไปดื่มกาแฟกับเพื่อนสักคนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด หลายครั้งก็สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าคิดเพียงคนเดียวได้ เพราะกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียต่างๆ นั้นสามารถกระตุ้นให้เราเกิดความคิดใหม่ๆ พร้อมท้าทายวิธีการคิดของตัวเราด้วย


ที่มาของข้อมูล


เรื่อง:  ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ

trending trending sports recipe

Share on

Tags