เจาะทฤษฎี Game Theory ทำไมร้านอาหารที่ขายเมนูเหมือนกัน ต้องมาขายของใกล้ ๆ กัน

Last updated on ก.ย. 27, 2023

Posted on ก.ย. 25, 2023

ลองจินตนาการถึงช่วงพักกลางวัน แล้วเรากับเพื่อนบังเอิญอยากกินเบอร์เกอร์ จากนั้นเราจึงเดินไปซื้อเบอร์เกอร์ร้าน A ที่อยู่ใกล้กับออฟฟิศ ทว่าพอเดินมาถึงร้าน A เพื่อนของเราดันอยากกินเบอร์เกอร์ร้าน B ที่ตั้งอยู่ติดกันซะอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นร้านเบอร์เกอร์เหมือนกัน

ทำไมฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ถึงมาตั้งอยู่ใกล้ ๆ เพื่อแย่งลูกค้ากันนะ?

สิ่งนี้ฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปของการที่คู่แข่ง มักจะตั้งร้านค้าไว้ใกล้กัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Game Theory

Game Theory เป็นทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ ระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือให้เข้าใจง่าย ๆ มันเป็นคู่มือสำหรับการตัดสินใจ ซึ่งมักใช้ในสถานการณ์การแข่งขันที่หลายฝ่ายต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีผลกระทบต่อกัน โดยในโลกของฟาสต์ฟู้ด ผู้เล่นคือร้านอาหาร และตัวเลือกต่าง ๆ ที่ใช้เล่นเกมก็คือสถานที่ตั้งร้าน

Game Theory มันทำงานยังไง?

ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดที่มีการแข่งขันสูงนั้นส่วนแบ่งการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ แฟรนไชส์แต่ละแห่งหวังที่จะดึงดูดฐานลูกค้าที่ใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้สูงสุด นั่นทำให้หลายแบรนด์ต้องหาระยะห่างระหว่างพื้นที่การตั้งร้าน ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็ต้องเป็นจุดทองคำ ที่สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่มีคู่แข่ง แต่เชื่อเถอะว่าคู่แข่งของพวกเขาก็รู้เช่นกันว่าจุดใดคือจุดทองคำนั้น

เมื่อใดที่เหล่าฟาสต์ฟู้ดสามารถหาจุดทองคำพบ ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จะมีสองประการนั่นคือ 1. ร้านไม่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ จนปิดตัวลงในที่สุด 2. แบรนด์จะประสบความสำเร็จทำให้มีคู่แข่งมาเปิดในบริเวณใกล้เคียง

ฉะนั้นเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แย่น้อยที่สุดสำหรับร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด พวกเขาจึงต้องหาจุดทองคำ และเปิดใกล้ ๆ กันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจ แต่การเปิดต้องไม่ใกล้กันเกินไป จนไปตัดยอดขายกันเอง ให้ลองนึกภาพตามนี้นะ มีร้านเบอร์เกอร์  A, B และ C เปิดอยู่ใกล้กัน

ถ้า A และ B อยู่ใกล้กันเกินไป พวกเขาอาจขโมยลูกค้าจากกัน แต่ถ้าหากห่างกันเกินไปลูกค้าอาจเลือก C แทน ดังนั้นหลายแห่งจึงพยายามพุ่งไปหาจุดทองคำซึ่งเป็นระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อรักษาสมดุล

นอกจากนั้นแล้ว ความใกล้ชิดกับคู่แข่งยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกด้วย เพราะเมื่อลูกค้ามีตัวเลือกหลายรายการในบริเวณใกล้เคียง ก็ทำให้ลูกค้ามารวมตัวกันมากขึ้นกว่าการตั้งร้านเดี่ยว ๆ ยิ่งถ้าพวกเขารีบมาก ลูกค้าก็จะเลือกฟาสต์ฟู้ดเป็นตัวเลือกในการทานเนื่องจากความสะดวกรวดเร็ว

ฉะนั้นการมีร้านอาหารมากมายมาเปิดใกล้กัน จึงเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น รวมถึงมีแรงจูงใจในการซื้อ ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมร้านอาหาร แม้ว่าร้านแต่ละแห่งจะมีการแข่งขันที่ใกล้ชิดก็ตาม


การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของร้านฟาสต์ฟู้ดไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มันเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Game Theory ที่ถูกคำนวณไว้ล่วงหน้า ครั้งถัดไปที่ออกไปหาอะไรทาน ลองใช้เวลาสักครู่เพื่อสังเกตว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดดูสิ เพราะการทำความเข้าใจ ว่าแต่ละร้านวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์แบบไหน จะทำให้เรารู้ว่าเบื้องหลังที่ตั้งของประจำนั้นมีกลยุทธ์มากมายเกินกว่าที่ตาเห็น!


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags