ทีมกลัวผี VS ทีมไม่กลัวผี ทำไมคนเราถึงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น 6 เบื้องหลังจิตวิทยาที่ความกลัวไม่เคยบอกคุณ

ยินดีต้อนรับสู่วันศุกร์ที่ 13 😱 👻 🎃

Last updated on ต.ค. 20, 2023

Posted on ต.ค. 13, 2023

เลข 13 ที่หลายคนมองว่าเป็นเลขไม่มงคล และมักมาพร้อมกับความน่ากลัวอยู่เสมอ แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมสิ่งที่เรามองไม่เห็น! เราถึงกลับรู้สึกน่ากลัว แค่นึกภาพตามก็ขนลุกแล้ว แต่กลับกันบางคนชื่นชอบการดูหนังสยองขวัญ เหตุเพราะทุกคนมีความรู้สึกกลัวที่แตกต่างกัน!

งานวิจัยชิ้นแรก

มีทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องลึกลับของนักจิตวิทยาชื่อดังก้องโลก Sigmund Freud (ซิกมันด์ ฟรอยด์) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิว ที่เก่งกาจในด้านจิตวิทยา กับทฤษฎี ‘Freud's Uncanny Theory’ เป็นความรู้สึกสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏอยู่ มีชีวิตจริง ๆ หรือไม่ซึ่งความรู้สึกนี้จะสร้างความไม่มั่นคงต่อความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ และสร้างความสับสนต่อธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา 

โดยทฤษฎี Freud's Uncanny บ่งบอกว่าตัวตนในวัยเด็กของเรายังคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลแล้วก็ตาม บางครั้งตัวตนในวัยเด็กที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจก็ปรากฏออกมาได้ เช่น ปัจจุบันเราไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง เพราะสามารถเอาชนะความคิดเหล่านั้นได้ เราเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลมากพอ แต่ความเป็นจริงแล้วภายในใจเรายังมีความไม่แน่ใจ ซึ่งมันยังคงฝังอยู่ภายใต้จิตสำนึก ปากบอกว่าไม่มีจริง ไม่กลัว แต่ภายใต้จิตสำนึกเรายังคงกลัวอยู่เสมอ 

ดังนั้นความน่าขนลุก และความน่ากลัวจริง ๆ มักจะเกี่ยวข้องกับ ‘ความเชื่อในวัยเด็ก’ ที่เรากดมันเอาไว้ปิดกั้นความกลัวเหล่านั้น เราต้องการจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักการและเหตุผล มีทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต เพราะมันคือความหวาดกลัวในวัยเด็กที่ฝังลึกไว้ และนำไปสู่ความกลัวในวัยผู้ใหญ่

ตัวอย่างที่เพื่อน ๆ จะเห็นได้ชัดคือ ลองจินตนาการถึงภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Toy Story ที่ตุ๊กตาขยับได้ พูดได้ ในวัยเด็กเราสนุกกับการ์ตูนเรื่องนี้ แต่พอโตขึ้นถ้าเราคิดแบบหลักการ มีเหตุผลมากขึ้น ถ้าในชีวิตจริงตุ๊กตาขยับได้ พูดได้ เราคงสยองขวัญไม่น้อย


งานวิจัยชิ้นที่สอง

และยังมีงานวิจัยที่ออกมารองรับเพิ่มเติมของ Gill & Burow ในปี 2017 กล่าวถึง ‘ผี’ หรือวิญญาณ ในมุมของจิตวิทยาเรียกว่า ‘Emotional Anxiety’ คือความวิตกกังวลทางอารมณ์ ความวิตกกังวลทางอารมณ์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความกลัว ซึ่งเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการรับรู้ถึงภัยคุกคามที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือความวิตกกังวลทางอารมณ์หลังจากเห็นผี เกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงอันตรายได้ เราอาจรู้สึกกลัวว่าผีจะทำร้ายเราหรือคนที่เรารัก หรือเราอาจกลัวว่าผีจะทำให้เราสูญเสียการควบคุมชีวิตของเราก็เป็นไปได้


โดยสรุปแล้วจากการวิจัยระบุไว้เหมือนกัน นั่นคือ ‘ความกลัวเป็นเหตุ’ หรือ Psychology of Fear จิตวิทยาแห่งความกลัว ซึ่งสามารถจำแนกออกมาได้ 3 ประเภท

ทีมกลัวผี

😱 คนที่กลัวผี: เกิดจากความกลัวทางร่างกาย เราเรียกว่า Fear in the body เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคลต่อสิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัว ซึ่งจะส่งผลอาการทางร่างกายและความกังวล อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ มองว่าความกลัวเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อภัยคุกคามเพื่อปกป้องตัวเองจากอันตราย

ซึ่งส่วนใหญ่สมองของเราจะรับผิดชอบตรวจจับภัยคุกคามที่จะเข้ามา เพื่อเตรียมเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมรับมือและปล่อยฮอร์โมนบ้าดีเดือดอย่าง Adrenaline ออกมา เช่นอาการหัวใจเต้นเร็ว, หายใจเร็วกว่าปกติ, เหงื่อออก, กล้ามเนื้อเกร็ง, ปากแห้ง, ท้องเสีย, คลื่นไส้, ปวดหัว เป็นต้น

😱 คนที่กลัวผี: เกิดจากความกลัวในใจหรือ Fear in the mind นักจิตวิทยายังศึกษาด้วยว่าผู้คนคิดถึงเหตุการณ์ที่คุกคามบ่อยแค่ไหน รุนแรงแค่ไหน และต่อเนื่องแค่ไหน ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ชอบดูหนังสยองขวัญแล้วเก็บไปฝัน เกิดความกังวลในชีวิตจริง ซึ่งบางเคสต้องได้ความช่วยเหลือ เพราะคนเรามักนำความกลัวไปเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวันของตน บ้างก็กลัวการอยู่คนเดียว หรือไม่กล้าอยู่ในที่มืด

ตัวอย่างนี้จะคล้ายกับทฤษฎีของ Freud's Uncanny ที่ความกลัวในใจยังคงกัดกินในวัยเด็ก ต่อให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เราก็ยังกลัวอยู่ดี แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรามีเหตุและผลรองรับต่อความกลัวในแต่ละเรื่อง

😱 คนที่กลัวผี: เกิดจากความกลัวในพฤติกรรมหรือ Fear in the behavior เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม เราจะพยายามปรับตัว โดยปฏิกิริยาของร่างกายเราจะต่อต้านความกลัวโดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นกลไกการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อช่วยให้เรารอดชีวิตจากอันตราย

ลองสังเกตจากสัตว์ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมบางรูปแบบของการต่อสู้ ไม่ใช่แค่จู่โจม แต่เมื่อเผชิญหน้ากับความกลัวจะเลี่ยงอันตราย หรือหยุดนิ่งไม่เข้าไปใกล้กับความกลัว เพื่อหนีภัยคุกคามจากความกลัวนั่นเอง


ทีมไม่กลัวผี

นอกจากเหตุผลทางจิตวิทยาแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ Phasmophobia เป็นโรคของคนที่มีอาการกลัวผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ผู้ป่วยจะมีความกลัวผีอย่างรุนแรง หลายคนอาจสนุกกับการเล่าเรื่องผีหรือดูภาพยนตร์เกี่ยวกับผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่คนส่วนใหญ่สามารถควบคุมความกลัวนี้ได้ และบางคนอาจชอบอารมณ์ที่มันก่อให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถควบคุมความกลัวนี้ได้

มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ Harvard Business Review เกี่ยวกับ ‘Protective Frame’ หรือกรอบป้องกัน เกี่ยวกับความฟินเวลาได้ดูหนังสยองขวัญ ในทางจิตวิทยาคนกลุ่มนี้จะได้รับความสุขจากการถูกหวาดกลัว โดยมี Protective Frame 3 ประเภทที่แตกต่างกัน ดังนี้

🎃 คนที่ไม่กลัวผี: เพราะเชื่อว่าเราปลอดภัยจากทางร่างกายในทางจิตวิทยามีสิ่งที่เรียกว่า Protective Frame หรือกรอบป้องกัน เป็นกลไกที่ผู้คนใช้เพื่อเอาชนะความกลัว โดยหนึ่งในหลักการ Protective Frame กลุ่มนี้เราเรียกว่า ‘The Safety-Zone Frame เราจึงรู้สึกปลอดภัยเวลาดูหนังสยองขวัญ หรือฟังเรื่องเล่าลี้ลับ เพราะสิ่งชั่วร้ายหรือภูตผีไม่สามารถมาทำร้ายเราได้ ตราบใดที่สิ่งน่ากลัวเหล่านี้อยู่ไกลจากตัวเรา และไม่สามารถมาทำร้ายเราได้ เราก็จะมีความสุข และสนุกกับมันได้

โดยสรุปคือ เราต้องรู้สึกปลอดภัยทางร่างกายจึงจะสามารถเพลิดเพลินกับความสยองขวัญได้ หากเรารู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย ประสบการณ์นั้นจะไม่สนุกอีกต่อไป

🎃 คนที่ไม่กลัวผี: สามารถแยกความเป็นจริงกับโลกในจินตนาการได้Protective Frame ยังสามารถแยกเรื่องราวจากประสบการณ์การดูหนังสยองขวัญได้ เราเรียกว่า ‘The Detachment Frame ซึ่งจะส่งผลทาง ‘จิตใจ’ โดยแยกความจริง กับ โลกจินตนาการได้ จะสังเกตได้ว่าความแตกต่างของคนกลัวผี กับไม่กลัว สิ่งที่แตกต่างกันคือเรื่องของจิตใจ คนที่ไม่กลัวเรื่องลี้ลับจะเตือนตัวเองเสมอว่าหนังที่ดูเป็นเพียงนักแสดง เน้นการรับชมเพื่อความสนุก และไม่นำเรื่องในหนังมาคิดฟุ้งซ่านต่อในโลกความเป็นจริง

🎃 คนที่ไม่กลัวผี: มีความมั่นใจในการควบคุมและจัดการกับอันตรายได้คนกลุ่มนี้เชื่อว่าเขาสามารถควบคุมและจัดการกับอันตรายได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘The Control Frame’ ตัวอย่างเช่นกัน หากคนกลุ่มนี้ไปเล่นบ้านผีสิงตามสวนสนุก แล้วมีผีตุ้งแช่โผล่มา เขาจะรู้สึกตกใจตามมารยาท แต่ภายในใจกลับสนุก เพลิดเพลินกับความน่ากลัวในบ้านผีสิงได้ เพราะเขามั่นใจว่าเอาชนะอันตรายนั้นได้ ความมั่นใจในการควบคุมจิตใจของกลุ่มนี้มีสูงกว่าคนที่กลัวเรื่องผี


ใครอยู่ทีมไหนมารายงานตัวกันหน่อยส่วนแอดแน่นอนอยู่แล้ว…..กลัวผีม๊ากกกก 😱👻


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags