'นักดื่ม' คนไม่ดีทางสังคม หรือ แพะรับบาป จากกลไกรัฐแบบ

Last updated on พ.ค. 22, 2020

Posted on พ.ค. 22, 2020

ดูจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานระหว่างภาครัฐไทยกับผู้ชื่นชอบการดื่มสุรารวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านนั่งดื่มทั้งหลายที่มักถูกผลักให้เป็นฝ่ายคนไม่ดีในสายตาสังคมเสมอ แต่นักดื่มเป็นคนไม่ดีจริงๆ หรือมีกลไกบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการคิดนี้ หากไม่ดีจริงน่าสงสัยว่าทำไมรัฐถึงไม่สั่งห้ามจำหน่ายไปเลย วันนี้เราจึงขอชวนมาขบคิดกันในประเด็นนี้

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมานี้บาร์หลายๆ แห่ง ต้องปิดตัวชั่วคราวตามมาตรการรัฐแต่ไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด Creative Talk ได้พูดคุยกับเมย์-กมลกา จิตตรุธทะ ผู้ก่อตั้งร้าน Method to Mymadness ถึงสถานการณ์ช่วงโควิด-19 และบริบทของบาร์ในไทย เมย์แชร์ว่า ก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจก็ไม่ดีสักเท่าไหร่ ร้านก็ต้องปรับตัวอยู่เสมอ เมื่อเจอกับสถานการณ์นี้ก็ยอมรับว่าค่อนข้างยากลำบากที่ต้องประคองทั้งร้านและพนักงาน ด้วยบริบทของร้านเหล้าหรือบาร์ในไทยถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีเทา เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นรัฐก็ไม่ได้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร เมย์เสริมว่าจริงๆ แล้ว ร้านนี้แตกต่างจากร้านอื่นๆ ในแง่ของมีความเป็น community เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มองว่าการดื่มเป็นวัฒนธรรมหนึ่ง 

ธุรกิจสถานบันทเทิงกับผลกระทบจากโควิด

อนึ่ง ในประเด็นด้านสุขภาพที่การดื่มสุราส่งผลไม่ดีเมื่อดื่มในปริมาณมากเกินควร เป็นสิ่งที่เราเห็นด้วย และพิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ประเด็นที่เราจะถกกันในวันนี้คือเรื่องของการใช้อำนาจรัฐที่เกินควรหรือไม่ต่อวัฒนธรรมการดื่ม

เราคุ้นเคยกันดีกับประโยค จน เครียด กินเหล้า จากโฆษณารณรงค์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี เพราะมันติดหู แต่ในความเป็นจริง คุณไม่ต้องจน ไม่ต้องเครียด ก็กินเหล้าได้ การดื่มเหล้าไม่จำเป็นต้องไว้สำหรับใช้แก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว เราดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง ดื่มเพื่อสังสรรค์กัน และเหตุผลอีกตั้งมากมาย การบังคับใช้กฎหมายจำกัดการดื่มต่างหากที่เป็นปัญหา

“กรณีเหล้าบุหรี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างสมการทางอำนาจระหว่าง ‘คนดี’ กับ ‘คนไม่ดี’ ซึ่งนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการทำลายล้างสิทธิของฝ่ายที่ถูกกดเหยียดว่าเป็นคนไม่ดี จากประเด็นสุขภาพ ถูกขยายความให้เป็นเรื่องศีลธรรม กระทั่งเป็นปัญหาบุญบาป สุดท้ายกลายเป็นเรื่องใช้อำนาจควบคุมสังคมโดยคนกลุ่มน้อย ที่ถือว่าเป็นคนดีกว่าผู้อื่น”

ประโยคข้างต้นคือส่วนหนึ่งของปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2561 โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา, นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา, ศิษย์เก่าดีเด่นและอดีตคณบดีของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สรุปโดยนิตยสาร Way

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่อาจารย์เสกสรรค์วิเคราะห์ออกมาแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยกำลังใช้กลไกบางอย่าง ลดค่าความเป็นคนของคนบางกลุ่มลงด้วยการใช้คำว่าศีลธรรมผลักให้เขาเป็นคนไม่ดีในสังคม และยังได้รับความชอบธรรมในฐานะคนดีขึ้นภาษีเก็บจากธุรกิจเครื่องดื่มได้จำนวนมาก เป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของรัฐ นั่นจึงเป็นเหตุผลย้อนแย้งที่ทำให้แม้รัฐจะออกมาประกาศย้ำปาวๆ ถึงความไม่ดีของสุรา แต่ก็ไม่เคยสั่งห้ามจำหน่ายเสียที แถมยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงออกมาแย้งกับรัฐด้วยเกรงสายตาของสังคม กลัวจะเปลืองตัวถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี …ทั้งที่ไม่ใช่เลย

อาชีพอย่างหมอ หรือแม้แต่นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐเอง และอาชีพที่ทำเพื่อสังคม ที่สังคมมองว่าเป็นคนดี ในตัวอาชีพเหล่านี้เองก็มีบางส่วนที่ดื่มในยามเว้นว่างจากหน้าที่ เราจะตัดสินใจว่าเป็นคนไม่ดีเช่นนั้นหรือ คำตอบก็คือไม่ ตราบใดที่เขาไม่เมาแล้วขับ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือกลับไปทุบตีคนในครอบครัว ซึ่งนั้นเป็นส่วนน้อยอย่างมากในจำนวนนักดื่ม และปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวเครื่องดื่ม แต่อยู่ในสามัญสำนึกของบุคคลนั้น ซึ่งเราเห็นด้วยและยินดียิ่งที่จะให้รัฐรณรงค์

ปัญหาก็คือทุกวันนี้รัฐกลับทำตนเป็นพ่อที่มองประชาชนเป็นลูกที่ไม่มีความรู้ ตัดสินใจอะไรได้เอง และใช้ความชอบทำจากการผลักให้สุราเป็นสิ่งไม่ดี ออกกฎหมายประหลาดๆ เหมารวม และไม่ฟังเสียงจากภาคที่ถูกกฎหมายบังคับออกมา อาทิ การกำหนดช่วงเวลาจำหน่ายสุรา ช่วงเวลาเปิด-ปิดร้านผับบาร์ หรือแม้กระทั่งทำตนเป็นรัฐศาสนาบังคับให้มีการงดจำหน่ายสุราช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งการปฏิบัติตามหลักศาสนาใดล้วนเป็นสิทธิตามความเชื่อของบุคคลนั้น และยังเป็นการบังคับใช้ที่ไม่สนใจผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ในประเทศอีกจำนวนมาก นี่เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของคนสังคม และกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดการลดลงของการดื่มแต่อย่างใด เพราะนักดื่มก็สามารถหลีกเลี่ยงเวลาหรือใช้วิธีซื้อกักตุนได้อยู่ดี ประโยชน์เดียวที่รัฐได้จากการออกกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์คนดีให้แก่ตนเอง สร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและเพิ่มการเก็บภาษี

นี่จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่แปลกประหลาด ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่มีชาติที่พัฒนาแล้วใดในโลกทำ คงไม่มีฝรั่งหรือชาวต่างชาติใดเดินทางมาไทยแล้วเจอกฎหมายสุราบ้านเราแล้วอุทานว่า Amazing Thailand! หรอกกระมัง ถ้าสมมุติเขาอุทานเป็นไทยได้ก็คงบ่นว่า “อิหยังวะ” กันไปแล้ว ดั่งที่เรามักเห็นฝรั่งที่เพิ่งมาไทยหัวเสียเวลาหยิบเบียร์มาจ่ายที่เคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อไม่ได้ เพราะในประเทศของพวกเขาไม่มีการบังคับกันแบบนี้ การดื่มสุราไม่ใช่เรื่องไม่ดี คนที่ดื่มก็ไม่ใช่คนไม่ดี เราต้องมองแยกแต่ละเรื่องให้ออก

อีกเรื่องที่น่าพูดถึงก็คือ ปัจจุบันสังคมมักมีสายตามองและนิยาม ผับ บาร์ เป็นสถาน ‘คลายเครียด’ แต่ในความ คลายเครียดไม่ได้จำเป็นเลยว่าต้องหมายถึงความ ‘ไร้สาระ’ เพียงอย่างเดียว หากเป็นแฟนวรรณกรรมฝั่งตะวันตกอยู่บ้าง คุณจะค้นพบว่านักคิด นักเขียน นักปรัชญา และศิลปินแห่งยุคสมัยที่ทั้งโลกรู้จัก ไม่ว่าจะ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, ซัลวาดอร์ ดาลี, ปาโบล ปิกัสโซ คราหนึ่งล้วนเคยไปรวมตัวกันอยู่ที่กรุงปารีส ยามตะวันขึ้นฟ้าพวกเขารวมตัวกันภายในคาเฟ่มีถ้วยกาแฟเป็นเครื่องดื่มและพยานวงสนทนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ แต่เมื่อฟ้าเปลี่ยนเป็นพลบค่ำ ผับ บาร์ คือสถานที่ถัดไปที่พวกเขาเลือกจะตบเท้าเข้าไป ดื่มด่ำกับเครื่องดื่มเคล้าบทสนทนาที่จริงจังไม่แพ้ในคาเฟ่ ทว่าด้วยท่วงท่าผ่อนคลายกว่าเดิม ด้วยบรรยากาศท่าทีของผับที่เอื้อให้เป็นเช่นนั้น หลายครั้งความคิดสร้างสรรค์เองก็เกิดขึ้นเมื่อคนเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลง แลกเปลี่ยนในบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น ผับบาร์ หรือ คาเฟ่ จึงมีฟังก์ชันในการเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเกิดความไอเดียน่าสนใจใหม่ๆ ที่ไม่ด้อยศักดิ์ศรีไปกว่ากัน

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ผับ บาร์ อยู่ในประเทศญี่ปุ่น

เราทราบกันดีว่าคนญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดต่อกฎระเบียบทางสังคมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับภายในครอบครัว ในบริษัท จนถึงระดับคนในสังคมหรือเมืองเดียวกัน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มคนญี่ปุ่นด้วยกันว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น คุณสามารถทิ้งมันไว้ก่อนได้ที่หน้าผับและบาร์ ด้วยเหตุนี้อะไรที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามกับภาพลักษณ์คนญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยคุณจะสามารถพบเห็นได้ภายในผับและบาร์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาเหลวไหล ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจทั้งความเครียดและความฝัน หยอกล้อเล่นกันอย่างไม่ถือตัวหรือตำแหน่งหน้าที่ หยิบไมโครโฟนร้องเพลงส่งเสียงดังสนั่นและเฮฮาเพื่อปลดเปลื้องจากความเครียดตลอดทั้งวัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แทบทุกผับบาร์ญี่ปุ่นแม้แต่ในประเทศเรามักมีตู้คาราโอเกะให้บริการอยู่ และสิ่งเหลวไหลก็จะจบลงในที่เหล่านี้โดยแต่ละคนไม่ถือสากัน ก่อนแยกย้ายออกไปพบกับโลกแห่งความจริงและความเครียดของวันใหม่

ธุรกิจสถานบันเทิง

ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเองเช่นนี้เอง จึงทำให้ผับและบาร์ของญี่ปุ่น นอกจากมีหน้าที่คลายเครียดให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการแล้ว มันยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างในฐานะเป็นสถานที่กระชับมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงานรวมถึงคู่ค้าด้วยกัน เราจึงสามารถเห็นคนญี่ปุ่นถกเถียงกันเรื่องการบริหาร ที่พนักงานตำแหน่งน้อยกว่าสามารถมีสิทธิ์มีเสียงโต้เถียงได้โดยไม่ต้องเกรงใจรุ่นพี่ตำแหน่งสูงกว่าจนเกินไป รวมไปถึงการเจรจาทางธุรกิจกันในร้านเหล้าเลยทีเดียว

ในความคลายเครียดจึงไม่ได้หมายถึงการต้องไร้สาระเพียงอย่างเดียว และมันยังนำพาไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ได้ด้วยบรรยากาศที่ไม่ซีเรียสชวนอุดอู้

คำถามที่น่าคิดก็คือ แล้วปัจจุบันนี้ประเทศเรายังมีความเครียดไม่มากพอหรือ ทำไมการมีสถานที่ผ่อนคลายเช่นนี้ถึงถูกมองเหมารวมว่าเป็นเรื่องไม่ดีไปได้ ขณะที่นานาประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เคยมีปัญหา หรือรัฐไทยกำลังแก้ปัญหาผิดจุด หรือใช้กลไกรัฐทำกับธุรกิจเครื่องดื่มด้วยเหตุผลอันใด

อ้างอิง :

  • ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 วันที่ 9 มีนาคม 2561 โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
  • หนังสือ เกียวโตใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ บทที่ 16 หน้าที่ 188 – 193 โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
  • คุณเมย์-กมลกา จิตตรุธทะ ผู้ก่อตั้งร้าน Method to Mymadness

เรื่อง : อนิรุทร์ เอื้อวิทยา
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags