เทคนิคครีเอทีฟในแบบ Miguel Chevalier ศิลปินดิจิทัลอาร์ต ผู้ไม่ยอมโดนเทคโนโลยีกลืนกิน

“ผมอยากให้คนทั่วไปเข้าถึงศิลปะได้ ด้วยการให้ศิลปะมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ”

Last updated on ก.ย. 21, 2023

Posted on ก.ย. 21, 2023

หากช่วงนี้ใครที่ไปสยามพารากอนชั้น 4 ในโซน SCBX NEXT TECH จะต้องเห็นงาน Digital Arts สุดตื่นตา ที่ประดับอยู่บนจุดนี้อย่างแน่นอน ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นของ มิเกล เชอวาลิเยร์ (Miguel Chevalier) ศิลปินระดับโลกผู้บุกเบิก และคลุกคลีกับ Digital Arts มานานนับ 4 ทศวรรษ

✨ ผลงานดิจิทัลที่ได้รับอิทธิพลมาจากโลกอดีต ✨

เชอวาลิเยร์เล่าให้ฟังว่า ตอนต้นยุคปี 80 เขากับเพื่อน ๆ สนใจงานศิลปะที่เป็นแนวมาก่อนกาล (Avant-garde) ของตะวันตก โดยในขณะนั้นเริ่มมีการนำดิจิทัลมาใช้กับศิลปะแล้ว และ Digital Arts ก็เป็นสาขาที่ใหม่มาก ซึ่งการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ศิลปะ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เขาจึงนำงานศิลปะ Avant-garde มาใช้กับงานของตัวเอง โดยมี 3 ศิลปินที่มีอิทธิพลกับเชอวาลิเยร์เป็นหลัก

  1. เมน เรย์ (Man Ray) ผู้บุกเบิกศิลปะจากภาพถ่าย งานของเขาโดดเด่นในด้านการใช้ฟิล์มทาบบนกระดาษ จนทำให้ภาพเกิดขึ้นมา ทำให้เกิดเป็นภาพที่ไม่เหมือนใครเลย ซึ่งหลักการใช้คอมโพสต์นี้ก็ส่งมาถึงเชอวาลิแยร์ด้วย
  2. นัม จุน แพค (Nam Jun Pak) ศิลปินคนนี้ ใช้วิดีโอในการทำศิลปะขึ้นมา เขาแปลงวิดีโอให้กลายเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของภาพเคลื่อนไหว ที่ทำให้พื้นหลังกลายเป็นตรงนี้เป็นอนุสาวรีย์ของวิดีโอขึ้นมา
  3. เดวิด ซิเควอิรอส (David Siqueiros) ศิลปินชาวเม็กซิกันผู้มีวิสัยทัศน์ในการทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนทั่วไป ภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ของซิเควอิรอส ได้ปฏิวัติวิธีการเข้าถึงงานศิลปะ โดยเป็นแรงบันดาลใจให้เชอวาลิเยร์ มองหาช่องทางในการให้คนเข้าถึงผลงานของเขาให้กว้างขึ้น

✨ โลกดิจิทัลคือสิ่งที่สร้างความเป็นไปได้ให้วงการศิลปะ ✨

แหล่งกำเนิดไอเดียของเชอวาลิเยร์นั้นไม่ต่างจากศิลปินอื่น ๆ ทั่วไป นั่นคือมีพื้นฐานมาจากการเรียนด้านศิลปะ และพัฒนาต่อยอดมาจากศิลปินยุคเก่า แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างคือวิธีคิด เพราะเขาเป็นศิลปินที่ปรับตัวตามโลกซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดความครีเอทีฟ

ยุค 80 เชอวาลิแยร์ มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะผสมผสานวิสัยทัศน์ทางศิลปะของเขาเข้ากับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ แม้ช่วงนั้นคนจะว่าเขาเพ้อฝัน แต่ความทะเยอทะยานนี้นำไปสู่การสร้างผลงานดอกไม้ดิจิทัลอันเป็นเอกลักษณ์

ต่อมาในช่วงยุค 90 การปฏิวัติด้านเกม ทำให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ดีขึ้น เขาจึงเอาภาพจำลองการเจริญเติบโตของต้นไม้มาสร้างเป็นงานศิลปะ ซึ่งเขาเขียนโปรแกรมที่ทำให้เห็นภาพการขยับของต้นไม้ เสมือนจริง ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสแอนิเมชันที่มาจากผลงานศิลปะได้

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เชอวาลิแยร์ได้นำเทคโนโลยีมารวมกับงานศิลปะของเขา เขาจำลองวงจรชีวิตของพืช ทำให้มันขยับ ตอบสนองกับคน รวมทั้งนำเมล็ดพันธ์ุมาแบ่งเป็นสวนเพื่อเพาะปลูกได้ ไดนามิกเหล่านี้ ทำให้เส้นแบ่งของผู้ชมกับศิลปะ ถูกทลายหายไป

และในยุคล่าสุด เชอวาลิแยร์ก็ได้นำ Generative AI มาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ช่วยให้เขาสามารถสร้างงานศิลปะที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในโซน SCBX NEXT TECH ที่สยามพารากอนชั้น 4 จะเป็นงานศิลปะประเภท Interactive Digital Art ซึ่งเป็นผลงาน 2 ชิ้นคือ Vortex กับ Kinetic Waves

สำหรับรูปแบบ Vortex จะเป็นจอที่แสดงเส้นแสงที่ลื่นไหล จนกลายเป็นวงแหวนบนจอ LED ซึ่งความพิเศษของชิ้นนี้คือ การหมุนวนของแสงนั้นประหนึ่งมีชีวิตจนแทบจะหลุดออกมาจากหน้าจอ ในขณะที่ Kinetic Waves จะเป็นการผสมระหว่างศิลปกรรมเคลื่อนไหวกับภาพลวงตา แสงวังวนนี้ เป็นงานศิลปะที่คนสามารถปฏิสัมพันธ์กับมันได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความพิเศษที่เชอวาลิแยร์ อยากให้ทุกคนได้รับประสบการณ์นั้น


✨ ศิลปะเป็นของทุก ๆ คน ✨

ภาพวาด วีดีโอ ภาพถ่าย คืองานศิลปะที่คนดูทำได้แค่ดูอย่างเดียว ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ แต่งาน Digital Arts ของเชอวาลิแยร์คือสิ่งที่ทะลายกำแพงเหล่านี้ ซึ่งการทำให้คนดูสามารถมีส่วนร่วมกับงานศิลปะจริง ๆ นั้น ได้ส่งให้เขากลายเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

เชอวาลิแยร์ตระหนักดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ แต่อย่างน้อยเขาก็อยากลดช่องว่างเหล่านี้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ผลงานของเชอวาลิแยร์ยังคงสร้างแรงบันดาลใจ ไปจนถึงดึงดูดผู้ชมทั่วโลก ด้วยวิสัยทัศน์อันไร้ขอบเขตที่เกิดขึ้น เมื่อศิลปะกับเทคโนโลยีมาบรรจบกัน มันจะสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับทุก ๆ คนได้เสมอ


สามารถเข้าชมผลงานศิลปะของ มิเกล เชอวาลิแยร์ ได้ที่ สยามพารากอนชั้น 4 ในโซน SCBX NEXT TECH เท่านั้น

trending trending sports recipe

Share on

Tags