สร้างธุรกิจด้วยการให้คนพิชิตสถิติโลก ผ่ากรณีศึกษาของธุรกิจ Guinness World Records

Last updated on พ.ย. 2, 2023

Posted on ต.ค. 30, 2023

เคยเถียงกับเพื่อนไหมในเรื่องไม่เป็นเรื่อง แค่ว่าอะไรดีกว่า ใหญ่กว่า เป็นที่สุดในเรื่องนั้น ๆ มากกว่ากัน?

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ที่สุดในโลก’ แล้ว ในหัวของคุณผู้อ่านจะนึกถึงอะไร เราอาจจะจำได้ว่าประเทศรัสเซียมีพื้นที่ขนาดใหญ่สุด เราอาจจะจำได้ว่าอินเดียมีประชากรมากสุด หรือเราอาจจะจำได้ว่าประเทศไทยมีข้าวเหนียวมะม่วงที่ใหญ่ที่สุด โอ๊ย ช่างน่าภูมิใจ 😂

แน่นอนว่าเมื่อเราจำสถิติที่สุดในโลกของอะไร สิ่งที่ต้องนึกถึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ผู้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ความที่สุดนี้อย่าง ‘Guinness World Records’ เพราะพวกเขาเป็นองค์กรที่บันทึกสถิติเหล่านี้ ซึ่งก็มีสถิติแปลก ๆ มากมายออกมาไม่เว้นแต่ละวัน โดยในแต่ละปี จะมีถึง 4,000 สถิติที่ได้ลงในหนังสือ Guinness Book of Records เลยทีเดียว!

การมีชื่ออยู่ในสถิติโลก ทำให้ผู้ที่ได้รับการบันทึกใน Guinness World Records สามารถเอิดไปได้สามบ้านแปดบ้าน มันนำมาซึ่งชื่อเสียง และเงินทองให้แก่ผู้ถูกบันทึกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ก็จนกว่าจะมีคนทำลายสถิติของคนนั้นได้ล่ะนะ) แต่ว่าถ้าผู้ถูกบันทึกได้ชื่อเสียงกับเงินทอง แล้ว Guinness ล่ะ ได้อะไร?

ปรัชญาของ Guinness คือการ "เฉลิมฉลองให้สิ่งที่ดีที่สุดในโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วไป เพื่อสร้างความบันเทิง ในการแชร์ข้อมูล" ซึ่งไม่ว่า Guinness จะบันทึกอะไร มันก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจทันที นั่นทำให้พวกเขา สามารถทำเงินจากการขาย หนังสือรวมสถิติที่สุดในโลกได้ทุก ๆ ปี

ต้นตอของ Guinness World Records มาจากการที่ในปี 1951 นั้น เซอร์ฮิวจ์ บีเวอร์ (Sir Hugh Beave) กรรมการผู้จัดการของโรงเบียร์กินเนสส์ (Guinness Brewery) กำลังออกไปล่าสัตว์กับเพื่อนฝูง ซึ่งเขาถกเถียงกับเพื่อนในเรื่องที่ว่านกหัวโตสีทองนั้นเร็วสุดในยุโรป แต่เพื่อนเขากลับเถียงว่าไก่ฟ้าเร็วกว่า

เหตุการณ์นี้จุดประกายความคิด ในการสร้างสมุดบันทึกสถิติเพื่อแก้ไขปัญหาถกเถียง ในช่วงต้นบีเวอร์ร่วมมือกับฝาแฝด แมคเวิร์ต (McWhirte) ซึ่งเป็นพี่น้องฝาแฝดที่ดูแลหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในลอนดอน โดยพวกเขารวบรวมบันทึกสถิติโลก จนออกมาเป็น Guinness Book of Records ที่พิมพ์เพื่อแจกจ่ายฟรีที่ผับของเขานับพันเล่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อเอาไว้รักษาความสงบจากข้อพิพาท เวลาคนเมาเถียงกันว่า อะไรคือที่สุดในโลก

ต่อมาหนังสือก็ได้รับความนิยม ซึ่ง Guinness ก็ได้เพิ่มทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัย และตรวจสอบทุกการบันทึกสถิติ สิ่งนี้ทำให้เราแน่ใจได้ว่า Guinness จะมีการจดบันทึกสถิติที่ถูกต้องตามกฎหมาย นั่นทำให้ Guinness มีความโปร่งใส เพราะพวกเขามีแนวทางการวัดผลที่ละเอียด รวมถึงอนุญาตให้ใครก็ตามสามารถโต้แย้งการจดบันทึกได้ หากเชื่อว่าสถิติไม่ถูกต้อง

แน่นอนว่าไม่มีองค์กรใดที่สมบูรณ์แบบ แม้จะเคยมีกรณีที่ Guinness World Records บันทึกสถิติผิด แต่พวกเขาก็แก้ไขข้อมูลอย่างรวดเร็ว และด้วยความที่เก็บสถิติมหาศาล ทำให้พวกเขากลายเป็นสื่อด้านสถิติที่น่าเชื่อถือที่สุดในโลก

Guinness Book of Records ถือเป็นรากฐานสำคัญของรายได้ให้กับองค์กร การจดสถิติของพวกเขา กลายเป็นเรื่องชวนทึ่งบันลือโลกทุกครั้ง โดยหนังสือ Guinness Book of Records ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับ Guinness เพราะหนังสือถูกจำหน่ายไปกว่า 100 ประเทศ และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 20 ภาษา มียอดขายไปกว่า 140 ล้านเล่มทั่วโลก แม้กระทั่งในปี 2022 Guinness Book of Records ยังเป็นหนังสือ Non-Fiction ที่คนซื้อมากที่สุดในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สถิติโลกนั้นเป็นปรากฏการณ์ ที่ดึงดูดความสนใจของมนุษย์อยู่เสมอ

ความนิยมของแฟรนไชส์นี้ส่งผลให้ Guinness World Records กลายเป็นหน่วยงานหลัก ที่จัดทำบัญชีรายชื่อ และการตรวจสอบบันทึกสถิติโลกจำนวนมากระหว่างประเทศ

แม้ว่าผู้คนจะสนใจหนังสือมากแค่ไหน สื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องถูกกลืนกินเมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตอยู่ดี ซึ่งเดิมทีบริษัทสร้างรายได้จำนวนมาก จากการขายหนังสือให้กับผู้อ่านที่สนใจ ซึ่งมีทาร์เก็ตเป็นเด็ก แต่การเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ตทำให้ยอดขายหนังสือตั้งแต่ปี 2000 นั้นลดลง พวกเขาเห็นท่าไม่ดี จึงเริ่มเทิร์นตัวเองครั้งใหญ่

ในปี 2017 Guinness เริ่มตระหนักว่าแหล่งรายได้ใหม่ที่มีกำไรเพื่อทดแทนยอดขายหนังสือที่ลดลงคือ ‘ธุรกิจเจ้าของสถิติ’ แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว ใครที่จะส่งบันทึกสถิติโลกให้ Guinness นั้นสามารถส่งได้ฟรี แต่กระบวนการตรวจสอบก็ช้า เพราะในแต่ละปีก็มีผู้คนส่งสถิติมาเยอะมาก ประมาณ 50,000 เคสเลยทีเดียว ซึ่งมีเพียงเศษเสี้ยวของใบสมัครเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติ นั่นทำให้หลายคนอาจไม่ได้ลงในสถิติโลกเลยก็ได้ ฉะนั้นธุรกิจเจ้าของสถิติจึงเข้ามาตอบโจทย์ข้อนี้

ตามเว็บไซต์ Guinness World Records มีบันทึกสถิติปัจจุบันมากกว่า 40,000 รายการในฐานข้อมูล แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงสามารถเผยแพร่สถิติในหนังสือได้เพียงประมาณ 4,000 รายการในแต่ละปี

ถ้าหากเราอยากเป็นเจ้าของสถิติโลกเพื่อลงในหนังสือ เราสามารถส่งเรื่องให้ Guinness ตรวจสอบได้ฟรี แต่พวกเขามีวิธีที่จะทำให้เราถูกตรวจสอบแล้วได้รับการอนุมัติไวขึ้น นั่นคือการจ่ายค่าธรรมเนียมให้ Guinness โดยมีราคาตั้งแต่ 12,000 ถึง 500,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งลูกค้าจะได้รับที่ปรึกษา ผู้ตัดสิน คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบันทึก รวมถึงผู้ช่วยที่จะช่วยค้นคว้าสถิติ และบริการอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งคนดังหรือแบรนด์ใหญ่ที่จะจ้าง Guinness World Records ให้มาบันทึกสถิติโลก ก็สามารถจ่ายเงินให้พวกเขาได้ โดยมีสิทธิ์ที่สถิติเหล่านั้นจะถูกบันทึกลงในหนังสือ หรือเผยแพร่ในเว็บไซต์ นั่นทำให้คนที่จ่ายเงินก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับสปอตไลต์ รวมไปถึงดึงดูดความสนใจจากคนมากมายมาหาพวกเขา

นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า วัน ๆ องค์กรนี้ทำอะไร แล้วพวกเขาไปเอาสถิติโลกมาจากไหน นั่นก็เพราะ นอกจากจะมีคลังดาต้ามหาศาลแล้ว การที่พวกเขาเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ จึงมีคนส่งสถิติโลกให้อยู่ตลอด และรายได้จากเงินที่คนจ้างไปบันทึกนั่นเอง แม้จะไม่มีรายงานว่า Guinness World Records ทำเงินในส่วนนี้ไปเท่าไหร่ในแต่ละปี ทว่ามันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่บริษัทแม่อย่าง Jim Pattison Group ทำกำไรหลักล้านเหรียญเลยล่ะ

แม้ว่า Guinness World Records จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของมนุษย์ แต่ก็เป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองเช่นกัน ด้วยการกระจายแหล่งรายได้ผ่านค่าธรรมเนียมการสมัครสถิติ และการขายหนังสือ รวมแบรนดิงต่าง ๆ ทำให้ Guinness World Records สามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนได้ โดยเราสามารถดูสถิติโลกบางส่วนที่ Hall of fame ในเว็บไซต์ guinnessworldrecords.com ได้เลย

ท้ายที่สุดสำหรับเจ้าของสถิติต่าง ๆ ที่ส่งไป แม้ว่าการจะจ่ายเงินอาจจะดูบ้า แต่มันก็เป็นหนึ่งในการ PR ที่ทำให้คนรู้จักพวกเขามากขึ้น เพิ่มโอกาสเข้าถึงแบรนด์ สร้างรายได้ ไปจนถึงคู่ค้า โดย Guinness ได้ตังค์ เจ้าของสถิติได้สปอตไลต์ มันก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสุดแสนจะ วิน-วิน ทั้งคู่


แล้วคุณล่ะ ถ้าต้องบันทึกตัวเองลงในสถิติโลก คิดว่าตัวเองเก่งอะไรที่สุด?


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags