Booksberry ร้านหนังสือที่สร้างสะพานแห่งการอ่านให้เติบโตไปพร้อมกับนักอ่าน

Last updated on มี.ค. 29, 2024

Posted on มิ.ย. 25, 2020

บ้านเลขที่ 30/4 ซอยสันทัต ถนนเศรษฐสิริ คือสถานที่ตั้งของร้านหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน Booksberry บ้านสีโอรสขนาดสองชั้น ประดับบานหน้าต่างไม้สีฟ้าชวนสะดุดตาภายในบ้านอัดแน่นไปด้วยหนังสือภาพ วรรณกรรม เรื่องสั้น นวนิยายทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เรียงรายอยู่บนชั้นและบนโต๊ะของร้านชวนให้เราหยิบขึ้นมาลองเปิดอ่าน โดยสัดส่วนของหนังสือภายในร้าน 90% เป็นหนังสือเด็กและเยาวชน และอีกราวๆ 10% เป็นหนังสือสำหรับคนทั่วไป หลังจากที่เรายืนสำรวจภายนอกของร้านแล้ว คุณมิ้น-โสภณา เตริยาภิรมย์ ผู้ก่อตั้งร้าน Booksberry เชื้อเชิญให้เราเข้าไปนั่งสนทนาภายในบ้าน

Booksberry
คุณมิ้น-โสภณา เตริยาภิรมย์ ผู้ก่อตั้งร้าน Booksberry

“เราคิดว่าอยากที่สร้างสภาวะที่เรามีความสุขขึ้นมาเอง แล้วเราทำอะไรกับชีวิตได้บ้าง เราก็มาดูจุดแข็งของตัวเองมามีจุดเด่นอะไร”

คุณมิ้นเริ่มบทสนทนาถึงจุดเริ่มต้นของ Booksberry เธอพาเราย้อนไปเมื่อ 8-9 ปี ก่อนหน้านี้ ว่าก่อนจะเป็นหน้าร้านหรือบ้านที่เรานั่งอยู่ขณะนี้ ร้านหนังสือแห่งนี้เปิดออนไลน์มาก่อน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการสังเกตตัวเองว่ามีจุดแข็งอะไร คุณมิ้นค้นพบว่าตัวเอง มีความสนใจเรื่องการค้าขาย ทักษะการอธิบาย รวมถึงพูดคุยกับผู้คนจากที่เคยทำงานงานขายโฆษณามาก่อน และชีวิตประจวบเหมาะตอนนั้นที่เธอมีลูก ซึ่งเป็นช่วงที่ให้ลูกเริ่มพูดสองภาษา เมื่อต้องหาหนังสือให้ลูกจึงเป็นการจุดประกายให้เธอตัดสินใจเปิดร้าน  

Booksberry

“เมื่อสิบปีที่แล้วหนังสือนิทานแปลในไทยยังมีไม่เยอะมาก เราเองในฐานะที่เป็นนักอ่านเวลาที่อยากอ่านก็ต้องรอทางสำนักพิมพ์ 5-6 ปี เลยถึงจะมีเล่มใหม่ๆ ออกมา ส่วนหนังสือนิทานภาพเองจากต่างประเทศก็มีน้อยมากในบ้านเรา” 

อย่างที่เล่าไปว่า ลูกคือส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เกิดร้านหนังสือนี้ขึ้น แต่คุณมิ้นก็เสริมว่า ด้วยช่องว่างทางการตลาดนี้เป็นโอกาสที่เธอมองเห็นว่า ถ้าเรานำเข้าหนังสือภาพจากต่างประเทศเข้ามา หนังสือเหล่านี้ก็สามารถขายได้ โดยกลุ่มลูกค้าหลักเมื่อตอนขายออนไลน์ คือพ่อแม่ที่จะซื้อไปให้ลูกอ่าน 

แต่ถ้าแบ่งเป็นประเภทคุณมิ้นเล่าว่ามีกลุ่มลูกค้าหลากหลายแนว และมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างกลุ่มพ่อแม่ที่เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คือลูกค้าใหม่เขาจะศึกษาหาข้อมูลมาแล้วหรือมีเล่มในใจอยู่แล้ว เช่น ถ้าลูกอ่านหนังสือของ Eric Carle อยู่แล้ว เขาก็จะซื้อแต่นักเขียนคนนี้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการอ่านหนังสือของนักเขียนหรืองานแบบอื่นๆ เช่นเดียวกัน หากลูกชอบแมว รถ สัตว์ประหลาด กลุ่มลูกค้านี้ก็จะซื้อแต่หนังสือแบบนี้ ซึ่งด้วยวัยของลูกที่ยังเล็กประมาณช่วงเด็กประถมเป็นวัยที่ถูกใจหนังสือค่อนข้างยาก กลุ่มลูกค้าใหม่นี้จึงไม่อยากต้องเลือกซื้อหนังสือจำนวนมาก แต่คุณมิ้นก็แชร์ว่า กลุ่มลูกค้านี้มีโอกาสที่พลาดหนังสือที่ดีเหมาะสมกับวัยของลูก โดยมีฟีดแบ็กที่ได้รับว่า ทำไมเขาไม่เคยเห็นเล่มนี้มาก่อนหรือมาเจอเล่มนี้เมื่อตอนลูกโตแล้ว ส่วนอีกลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า เข้าวงการมานานแล้ว อ่านหนังสือเด็กมาเยอะ 

Booksberry

“กลุ่มนี้เขาจะรู้จักหนังสือและนักเขียนดีอยู่แล้ว หลักๆ เขาก็จะซื้อแต่หนังสือออกใหม่ที่มีคุณภาพ แม้ว่าราคาแพงเขาก็ไม่สน เพราะว่าเขาไม่ได้ซื้อหนังสือที่ปริมาณเยอะ ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการ คือ หนังสือใหม่ เนื้อหา ความแปลกใหม่ โดยส่วนใหญ่ต้องการความคิดสร้างสรรค์”

อีกหนึ่งความสงสัยที่เราตัดสินใจถามคุณมิ้นต่อคือ แวบแรกที่เราเข้ามาภายในร้านนั้น เมื่อกวาดตาเร็วๆ หนังสือส่วนใหญ่มักนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีหนังสือภาษาไทยแซมอยู่บ้าง เราจึงชวนคุณมิ้นคุยต่อถึงเรื่องการคัดเลือกหนังสือ การบริหารร้าน 

“เราต้องบอกก่อนว่า ร้านหนังสือที่อยู่ได้ด้วยหนังสือเด็กภาษาไทยล้วนๆ เนี่ย มีจำนวนน้อย เพราะว่าหนังสือไทยได้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดอยู่ที่ประมาณ 25% ถ้าซื้อขาดก็จะเยอะกว่านั้นนิดหน่อยแล้วก็ราคาต่อปกนี้ต่ำ โดยส่วนตัวเราคิดว่าใครที่เริ่มต้นจากหนังสือไทยมักจะไปรอดยาก เราคิดว่าจะเริ่มจากหนังสือเด็กไม่ได้ ต้องไปเริ่มจากพวกหนังสือที่ราคาปกสูงกว่า อย่างหนังสือภาษาอังกฤษมีราคาต่อปกสูงกว่า ถึงแม้ว่ารวมค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เรียบร้อยแล้วยังได้กำไรต่อเล่มสูงกว่าที่หนังสือไทยได้ เพราะฉะนั้นเราอยู่ด้วยความชอบส่วนตัวเพียงอย่างเดียวไม่ได้เราก็ต้องบริหารจัดการคัดเลือกหนังสือในสัดส่วนที่ทำให้ร้านไปต่อได้ ส่วนหนังสือภาษาไทยเราก็ต้องมีเพราะว่าก็จะมีลูกค้าที่อยากอ่านหนังสือไทยด้วยเราก็ต้องมีบริการให้ครบ” 

Booksberry

นอกจากเรื่องของตัวเลขแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณมิ้นขายหนังสือภาษาไทยเพราะหนังสือบางเล่มอย่าง นิทานข้างถนนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นหนังสือที่เสมือนทอดสะพานไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ ให้กับเยาวชน 

“สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญเลยนะ พอเราขายหนังสือเด็กมาถึงวันหนึ่งมีลูกค้าบางส่วนที่เมื่อเติบโตแล้วเขาหายไป เราก็ตั้งคำถามเพราะอะไร จนกระทั่งมีลูกค้าคนหนึ่งเขามาปรึกษาว่าช่วยเลือกหนังสือให้ลูกเขาหน่อย ลูกเขาเป็นเด็กที่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ตามอายุ และเรียนอยู่นานาชาติ เราก็เลยไปค้นข้อมูล เหมือนทำวิจัยพร้อมกับขายหนังสือไปด้วย โดยใช้เวลาราวๆ สองอาทิตย์กว่าเราจะได้ลิสต์หนังสือมาคุยกับลูกค้า”

จากเคสของลูกค้าดังกล่าวทำให้คุณมิ้นหันมาสำรวจและทำข้อมูลเรื่องวัยกับการเลือกหนังสืออ่าน อย่างลูกที่เรียนโรงเรียนไทยสองภาษาก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน เธอสังเกตว่า ถึงแม้ว่าลูกจะเริ่มอ่าน สะกดคำได้แต่พอถึงวัยหนึ่งที่ควรจะอ่านวรรณกรรมได้ก็กลับอ่านไม่ได้ 

“เราเริ่มต้นด้วยลิสต์หนังสือที่จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความรู้ที่ไม่เคยมีร้านหนังสือไหนที่เก็บความรู้นี้มาก่อน แล้วไม่เคยมีใครอธิบายกับเราเลยก็เลยเริ่มทำบทความ เลือกหนังสือมา 30 เล่มที่เด็กกลุ่มนี้อ่าน ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากเลย” 

หลังจากการทำข้อมูล คุณมิ้นยังทดลองการขายหนังสือตามลิสต์ ปรากฏว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งบอกฟีดแบ็กปากต่อปากว่า มาร้าน Booksberry สิ ลูกสามารถอ่านหนังสือได้แล้วเขาก็ชอบหนังสือเล่มนั้นจริงๆ จากที่ไม่ชอบก็กลายเป็นว่าหยิบหนังสือมาอ่านด้วยความสนุก อีกทั้งยังเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ เสมือนเล่มแรกที่เริ่มอ่านเป็นสะพานสู่เล่มต่อๆ ไป 

Booksberry

“บางทีเราขายหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อให้ไปต่อที่อีกเล่มหนึ่ง เราไม่สามารถทำธุรกิจนี้โดยดูแต่ราคาปกหรือขายเฉพาะของที่มีกำไรได้ สิ่งหนึ่งเราต้องสร้างคนอ่านให้อ่านได้ต่อเนื่อง รวมถึงต้องให้คนอ่านเขารู้คุณค่าของสิ่งที่เขาอ่าน ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน”

หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่า แล้วเด็กแต่ละวัยเขาอ่านหนังสือแบบไหนกัน ? คุณมิ้นอธิบายการเลือกหนังสือของเด็กแต่ละช่วงวัยโดยแบ่งออกเป็น 

Booksberry

ช่วงแรกเกิดถึง 3 ขวบ เด็กวัยนี้จะสะสมคลังคำศัพท์ ความรู้รอบตัว หนังสือที่อยากแนะนำคือหนังสือภาพ เพราะว่าภาพสามารถเล่าเรื่องได้ เด็กจะเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ได้ยินกับภาพ แล้วเขาก็จะสะสมความหมายได้เรื่อยๆ แต่เด็กก็ไม่ได้สะสมแค่คำศัพท์ เขามีสะสมอย่างอื่นด้วยอย่างตรรกะ เช่น หนังสือภาพเล่มหนึ่งเปิดมาหน้าแรกมีสัตว์ครบทุกตัว ถัดมาอีกหน้ามีสัตว์บางตัวหายไป เด็กจะฝึกสังเกตว่ามีสัตว์หาย ฟังก์ชั่นของหนังสือคือเล่นกับความจำและความฉลาดของเด็กว่าสัตว์ตัวอะไรหายไป

“วัย 5 ขวบขึ้นไปเด็กเขาจะเปลี่ยนแนวการอ่านเป็นซับซ้อนขึ้น ชอบผจญภัยแล้วก็สนใจพวกวัฒนธรรมอย่างนิทานพื้นบ้าน ส่วน 7 ขวบเป็นวัยที่เด็กเริ่มอ่านได้แล้วพ่อแม่ก็ต้องช่วยดู เลือกหนังสือ เช่นอ่านหนังสือวรรณกรรมให้เด็กฟัง เด็กจะได้คุ้นเคยกับวรรณกรรม หรือเลือกหนังสือง่ายๆ ที่เด็กอ่านได้ แล้วพอถึงวัย 10 ขวบขึ้นไป จะเป็นวัยที่เขาพร้อมที่จะอ่านหนังสือด้วยตัวเขาเอง ช่วงนี้เด็กจะเริ่มเลือกหนังสือเองได้ ฉะนั้นสิ่งที่เด็กวัยนี้นอกจากอ่านแล้วเขายังวิเคราะห์ได้

Booksberry

“ปัญหาของไทยเราเลยที่กระทบการอ่านคือ เราไปเลี้ยงเด็กไว้ให้เป็นเด็กไว้ตลอดไม่ให้พัฒนาตามอายุที่ควรจะเป็น อย่างที่เล่าไปว่าเมื่ออายุ 5 ขวบ เด็กควรจะอ่านหนังสือที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ผจญภัยหรือเนื้อเรื่องให้แง่คิด เช่นเรื่องคนเลวหลอกลวงคนดีแล้วการวิเคราะห์เป็นยังไงบ้าง พ่อแม่หลายคนคิดว่าเนื้อเรื่องพวกนี้จะยากไปลูกไม่เข้าใจเดี๋ยวอ่านแล้วไม่สนุก ก็จะให้เด็กอ่านหนังสือง่ายแล้วมาบ่นกับเราว่าลูกไม่อยากอ่านหนังสือแล้วลูกเบื่อ นั่นเพราะว่าคุณเลือกสิ่งที่เล็กกว่าอายุให้ลูก”

คุณมิ้นเสริมต่อว่า การอ่านควรเป็นสิ่งที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงการเลือกหนังสือเองก็ควรเป็นไปตามวัย ถ้าพ่อแม่เลือกหนังสือที่สอนอย่างตรงไปตรงมาเพียงอย่างเดียวอย่าง สอนเด็กให้มีวินัย สอนเด็กไม่ให้โกรธ กลุ่มเด็กที่อ่านแต่หนังสือลักษณะเช่นนี้ก็จะกลายเป็นเด็กที่รับแต่ข้อความสอนตรงๆ ขาดการวิเคราะห์ ไม่มีความคิดในแบบของตัวเอง 

เมื่อมีกลุ่มลูกค้า รวมถึงแนวทางในการทำร้านหนังสือของตัวเองแล้ว คุณมิ้นจึงตัดสินใจเปิดหน้าร้าน เพราะต้องการหมุนเวียนสต็อกหนังสือและไม่ต้องการซื้อขาดเพียงอย่างเดียว แม้จะมีประสบการณ์กับขายออนไลน์มาพอตัวแล้ว แต่คุณมิ้นก็บอกว่ายังต้องปรับตัวกับปัญหาหลักๆ สองข้อด้วยกัน หนึ่ง ร้านต้องอยู่ได้ด้วยยอดขายของตัวเอง เพราะค่าเช่าร้านมีค่าใช้จ่ายที่สูง และสองเมื่อทำรับฝากขายหนังสือแล้วสิ่งที่ยุ่งยากและกินเวลาสามถึงสี่วันคือ การทำบัญชีฝากสต็อกหนังสือ นับยอดหนังสือคงเหลือว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ หากหนังสือหายไปก็ต้องตรวจสอบว่า ขายได้หรือสูญหาย 

คุณมิ้นทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ตัวเองอยากทำของร้าน Booksberry ว่าต้องการจัดกิจกรรมให้กับนักอ่านเด็กและเยาวชน 

“เราทำร้านนี้ไม่มีเป้าหมายเลย มีแต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น อยากทำอะไรก็จะทำสิ่งนั้นให้ได้ เรามีความคิดว่าอยากทำละครหุ่นให้เด็กๆ ที่อ่านหนังสือ ร้านหนังสือที่ต่างประเทศเขาจะทำละครหุ่นให้เด็กๆ ดู เทศการฉลอง  Eric Carle ครบรอบ 50 ปี เขาเอาละครหุ่นเจ้าหนอนจอมหิวเอามาตั้งโรงละครในร้านหนังสือเปิดเพลงประกอบซึ่งเด็กอนุบาลก็จะชอบมาก แล้วก็จะมีความสุขในการอ่านหนังสือที่ได้เห็นที่อยู่ในหนังสือมีตัวละครออกมาในโลกจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเขาต้องการบ้านเรายังไม่มีหรือถ้ามีก็น้อยมากๆ” 

แนะนำหนังสือสำหรับเด็กแต่ละวัยโดยคุณมิ้น-โสภณา เตริยาภิรมย์ ผู้ก่อตั้งร้าน Booksberry 

Booksberry
หนังสือเรื่อง Mean while (เล่มสีแดงตรงกลาง)

สำนักพิมพ์ amulet books – หนังสือของสำนักพิมพ์จะหลากหลายแนว อย่างเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำคือ Mean while เนื้อหาของเล่มจะให้คนอ่านเลือกว่าจะดำเนินเรื่องไปทางไหนรูปแบบช้อยส์ เช่นถ้าเลือกซื้อไอศกรีมวานิลลาเปิดไปที่หน้า 6 

หนังสือเรื่อง Gene Luen Yang

สำนักพิมพ์ First Second Books – สำนักพิมพ์นี้ส่วนใหญ่เขาจะเอาเรื่องประวัติศาสตร์ สงครามต่างๆ มาเขียนเป็นรูปแบบการ์ตูน นักเขียนที่อยากแนะนำเลย Gene Luen Yang เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนอัจฉริยะเลย เขียนหนังสือเล่มไหนก็สนุกทุกเล่ม แล้วถ้าคนอ่านหนังสือจะชอบนะ เพราะมันมีสัดส่วนระหว่างเรื่องจริง เรื่องที่เขาใส่แต่เข้าไปเพิ่มเพื่อให้คนอ่านเกิดอรรถรส สนุก 

หนังสือเรื่อง Calamity และ Rapunzel’s Revenge

สำนักพิมพ์ Bloomburry – จะเป็นแนวแบบเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงประถมต้นอ่านได้แล้วก็จะก้าวไปถึงช่วงประถมปลาย อย่างเล่ม Rapunzel’s Revenge เขาก็นำ ราพันเซลมาต่อยอดให้กลายเป็นเรื่องราวของราเพนเซลอีกแบบหนึ่ง คำศัพท์อ่านไม่ยาก เนื้องเรื่องสนุกชวนติดตาม

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข 


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags