คิดต่างให้เป็น แม้แต่เด็กก็สำเร็จได้ วิชาธุรกิจหลังเลิกเรียน จากวัยรุ่นสตาร์ทอัปเงินล้าน ที่เริ่มต้นจากกรงหนู

สาววัยรุ่นรายหนึ่งมีรายได้หลักล้านต่อปี ด้วยการขายกรงหนูตะเภา เธอปั้นธุรกิจโดยที่ไม่เคยทำมาร์เก็ตติงเลย แต่ทุกอย่างมาได้ไกลขนาดนี้ ก็เพราะประสบการณ์อันน่าเศร้าเมื่อเธออายุ 12 ปี

Last updated on มี.ค. 6, 2024

Posted on ก.พ. 29, 2024

ช่วงสมัยมัธยม คุณผู้อ่านมักจะทำอะไรในช่วงเวลาว่างหลังเลิกเรียน บางคนก็เล่นกีฬา บางคนก็ไปเรียนพิเศษ บางคนทำงานพาร์ตไทม์ บางคนก็เอาเวลาไปพัฒนาชีวิต แต่เบลล่า ลิน (Bella Lin) วัยรุ่นสาวอายุ 17 ปี กลับเลือกที่จะสร้างสตาร์ทอัปของตัวเองขึ้นมา

🌟 วัยรุ่นสตาร์ทอัปที่สร้างธุรกิจจากอดีตอันสะเทือนใจ 🌟

เมื่ออายุ 12 ปี เบลล่า ลินก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป เธอชอบเลี้ยงสัตว์น่ารัก และสัตว์ที่เธอเลือกจะเลี้ยงก็คือหนูตะเภา แต่เธอค่อนข้างต่างจากวัยรุ่นคนอื่น ตรงที่เธอเลี้ยงหนูในระบบเปิด โดยให้พวกมันวิ่งเล่นในสวนหลังบ้านที่มีสนามหญ้า และมีรั้วรอบขอบชิด เพราะลินรู้สึกสงสารที่ต้องเห็นหนูตะเภาอยู่ในกรงอันคับแคบ

วันหนึ่ง หนูตะเภาของลินหายไป เธอคิดว่าพวกมันคงหนีออกไปข้างนอก แต่พ่อของลินก็ได้มาแจ้งข่าวร้ายว่าหนูของเธอโดนนกอินทรีโฉบขึ้นไปบนฟ้า ดังนั้นแล้ว ด้วยความเศร้าเสียใจ วัยรุ่นนักธุรกิจคนนี้จึงได้เริ่มสร้างต้นแบบกรงหนูที่ดีกว่าเดิมขึ้นมา

1 ปีต่อมาลินได้หันไปลองจับธุรกิจกางเกงเลกกิ้ง และพับโครงการกรงหนูเก็บไว้ ซึ่งธุรกิจกางเกงเลกกิ้งทำให้เธอเป็นวัยรุ่นเงินแสน เพราะเธอสามารถทำรายได้มากถึง 300,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 10,806,300 บาท) ต่อปี ทว่าแม้จะทำธุรกิจมาจนอายุ 16 ปี ลินกลับไม่เคยได้กำไรเลย เนื่องจากตลาดเครื่องแต่งกายนั้นมีการแข่งขันที่สูงมาก

“ฉันตระหนักได้ว่ามีบริษัทอื่น ๆ ที่พยายามทำกางเกงเลกกิ้งขึ้นมา” ลินกล่าว

ไม่นานเธอก็ได้ปิดตัวธุรกิจกางเกงเลกกิ้งลง และเดินหน้าธุรกิจใหม่ โดยกลับมาโฟกัสในฝันที่เธอเคยลืมเลือนไปสมัยวัยรุ่นตอนต้น นั่นคือการทำกรงหนูตะเภา


🌟 ธุรกิจจากเงินเก็บตลอดชีวิตวัยรุ่น 🌟

ลินเอาต้นแบบเก่ากลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งเธอเดินไปบอกพ่อที่เป็นโปรแกรมเมอร์ว่าอยากสร้างกรงหนูที่ดีขึ้น และโชคดีว่าพ่อของเธอมีลูกค้าเก่าเป็นโรงงานที่อยู่ในประเทศจีนบ้านเกิด

“กรงหนูตะเภาแบบดั้งเดิมมักทำด้วยลวด หลังคากับผ้าใบทำด้วยพลาสติก ทำให้ผู้ใช้งานทำความสะอาดได้ยาก และมันก็มักจะมีกลิ่นอึออกมา” ลินกล่าว

สิ่งแรกที่วัยรุ่นสาวทำ คือมาศึกษาดูว่ากรงหนูปกติมีเพนพอยต์ตรงไหน ซึ่งเธอพบว่ากรงหนูแบบดั้งเดิมทั้งดูเป็นกรงขัง คับแคบ และไม่ระบายอากาศ ฉะนั้นแล้วเธอจึงคิดว่าจะทำยังไงให้กรงหนูดูโปร่งกว่านี้

เมื่อได้ไอเดียแล้ว ลินจึงใช้เงินเก็บ 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 72,042 บาท) ที่มี มาพัฒนาโปรเจกต์ที่ชื่อว่า GuineaLoft ซึ่งเป็นกรงหนูตะเภาของเธอเอง

"ด้วย GuineaLoft ทำให้ฉันสามารถเข้าถึงช่องว่างที่ใหญ่มากในตลาดได้" ลินกล่าว

GuineaLoft เป็นกรงหนูตะเภาใส ที่สามารถประกอบขนย้าย และขยายได้ด้วยพาร์ตเสริม ซึ่งคนซื้อก็สามารถเลือกได้ว่าจะทำให้มันเล็กกะทัดรัด หรือใหญ่จนขนาดตัวคนเข้าไปอยู่เลยก็ได้

วัสดุของสิ่งนี้เป็นอะคริลิกใส และมีที่กั้นที่เป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งจุดขายคือการที่สามารถเปลี่ยนพาร์ตของสินค้าได้ โดยไม่ต้องซื้อกรงใหม่ 


🌟 วัยรุ่นสาวที่กลายเป็นผู้ประกอบการเงินล้าน 🌟

เดือนพฤศจิกายน 2022 ลินเปิดขาย GuineaLoft ในเว็บไซต์ Amazon ด้วยยอด 100 ชุด และด้วยความที่เธอไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้ง ก็ทำให้ยอดขายค่อย ๆ กระเตื้องไปทีละนิด แต่ท้ายที่สุดทั้ง 100 ชุดก็ขายหมดในเวลา 2 สัปดาห์

สิ่งนี้ทำให้ลินกลายเป็นวัยรุ่นสตาร์ทอัปทันที เพราะจากขายกรงหนูตะเภา ที่ลงทุนไปแค่ 2,000 ดอลลาร์ กลับทำให้เธอได้เงินถึง 34,000 ดอลลาร์ต่อเดือน เพราะลินขายกรงได้เกือบ 11,000 ชิ้น และมีรายได้มากกว่า 410,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 14,765,945 บาท) ในปี 2023 

ด้วยความที่ลินยังเป็นวัยรุ่น และประสบการณ์ทำธุรกิจยังไม่มากเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่เธอให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่องความรู้ ลินนำกำไรกว่า 25% ที่ได้มาไปลงทุนใหม่ในด้านการตลาด การวิจัยกลุ่มเป้าหมาย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค 

จุดขายในด้านความง่าย และความสะอาดตานี่แหละ ทำให้ลูกค้ากลับมาที่ร้านออนไลน์ของเธอเพื่อซื้อสินค้าซ้ำ

สำหรับลินแล้ว แม้เธอจะเป็นวัยรุ่นเงินแสนก็จริง แต่เธอก็ยังให้ความสำคัญกับการเรียนเช่นกัน เพราะเธอไม่ได้ดรอปหรือลาออกไปทำธุรกิจเต็มตัว เธอยังคงแบ่งเวลาไปเรียนอยู่เสมอ และใช้เวลา 20 ชั่วโมงหลังเลิกเรียนในการทำธุรกิจ

“ที่โรงเรียน ฉันเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์หลายวิชา ฉันยังได้เป็นผู้จัดการธุรกิจในกลุ่มสภานักเรียน” ลินกล่าว

ท้ายที่สุดลินก็ได้ฝากไว้ ถึงวัยรุ่นที่อยากจะกระโดดเข้าสู่โลกธุรกิจ ว่าจงคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจตามความเป็นจริง และมีเป้าหมายที่ชัดเจน แม้การสร้างธุรกิจนั้นจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าดรามีทรัพยากร ก็ควรลองพัฒนามันดู เพราะธุรกิจสามารถลองผิดลองถูกกันได้


การจัดลำดับความสำคัญของบริษัทก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ลินให้ความสำคัญเช่นกัน แม้หนูตะเภาของเธอจะอยู่ที่บ้าน แต่เวลาออกไปข้างนอก เธอก็มักจะคิดถึงเรื่องงานอยู่เสมอ จากนั้นเมื่อกลับบ้าน เธอก็จะกลับมาพัฒนาสิ่งที่มีร่วมกับทีมต่อเสมอ


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags