จับเข่าคุยกับคนครีเอทีฟ เราจะบริหารเอเจนซี่ และโปรดักชันเฮาส์ยังไงให้อยู่รอด

เอเจนซี่ และโปรดักชันเฮาส์เป็นกลุ่มคนที่เผชิญความท้าทายในทุก ๆ วัน ท่ามกลางประเทศที่มีแต่ความครีเอทีฟ เราจะเห็นได้ว่ามีคนโดดเข้ามาร่วมในวงการเอเจนซี่จำนวนมาก แต่ทำยังไงให้องค์กรอยู่รอดได้ ในเมื่ออุปสรรคของอาชีพนี้มีมากมาย

Last updated on พ.ย. 15, 2023

Posted on พ.ย. 15, 2023

วันนี้ที่งาน ADMAN AWARDS & SYMPOSIUM 2023 ในเซสชัน ‘ทำงาน ทำงาน บริหารเอเจนซี่ และโปรดักชันเฮาส์ ยังไงให้อยู่ได้’ คุณโจ้-ฉวีวรรณ คงโชคสมัย ก็ได้ชวน คุณโศรดา ศรประสิทธิ์, คุณวีรยุทธ ล้อทองพานิชย์ และคุณพรรณิกา วงศ์สายัณห์ มาคุยถึงการบริหาร เอเจนซี่ และโปรดักชันเฮาส์ ถึงความสำเร็จกับแนวทางอันหลากหลายที่ได้บริหารมา

เอเจนซี่ และโปรดักชันเฮาส์ บริหารความยากง่ายอย่างไรบ้าง

ความท้าทายของคนเอเจนซี่คือตื่นเช้ามา เราก็ต้องควานหามือถือเลยว่าวันนี้มีเรื่องอะไรใหม่บ้าง นั่นทำให้คนเอเจนซี่ เป็นคนที่ต้องอัปเดตเทรนด์ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราจะทำบริษัท ความยากคือเราต้องบริหารทั้งข้างใน และข้างนอกให้ดี

การบริหารข้างในคือองค์กร ซึ่งเราต้องปรับตัวตลอดเวลา ความยากคือเราต้องหาวิธีสื่อสารยังไงให้พนักงานเติบโตได้ ทำยังไงให้พวกเขากล้าเปลี่ยน โดยคนเป็นลีดเดอร์นั้น ก็ต้องรู้ว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีอะไร เครื่องมือแบบไหน ที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การบริหารข้างนอกคือบริหารลูกค้า ชาเลนจ์คือเราจะปรับตัวยังไงให้มี Value มากที่สุด ซึ่งงานเอเจนซี่คืองานที่ลูกค้าเข้าหาเพราะจุดเด่นที่เป็น Show Case ของเรา ทว่าถ้าเกิดเราทำแต่สิ่งเดิม ๆ เราก็ต้องพยายามพาตัวเองไปในพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อให้งานมันยั่งยืนมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าจุดแข็งเราตอนนี้ วันข้างหน้ามันจะไม่ตกเทรนด์

ยุคก่อน ถูก เร็ว ดี จะเป็นช้อยส์ให้ลูกค้าได้เลือก เพราะถ้าลูกค้าเลือกช้อยส์ใดจากทั้ง 3 อีก 2 อย่างจะดรอปลง ทว่ายุคนี้ ถูก เร็ว ดี ทุกอย่างต้องมาพร้อมกัน

สำหรับโปรดักชันยุคนี้คือยุคการปรับตัว ที่ต้องท้าทายในแง่ของการถ่ายหนัง เพราะอุตสาหกรรมโฆษณา และภาพยนตร์ยังต้องหาคนเข้าอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นงานที่เครียด และแบกรับความคาดหวังสูง
ปัญหาของแรงงานคือ คนยุคก่อนนั้นจะทำงานกันด้วยทักษะ ถึก ทน คราฟ ทว่ายุคนี้ คนอยากทำงานน้อย แต่ได้เงินเยอะมันเลยหาคนเข้ามาทำงานยาก


ไอเดียคือสิ่งที่ไม่มีต้นทุนจริงไหม

ไอเดียไม่มีต้นทุนจริงไหม คำตอบคือ “ไม่จริง”

กระบวนการทำคิดไอเดียนั้น เริ่มตั้งแต่การหาคนมาทำงานแล้ว ซึ่งกว่าเราจะคัดสรรกว่า 10 กว่า 100 ไอเดียมาจนเหลือไอเดียที่ใช้ได้ มันก็เป็นการสูญสิ้นแรงกายของคนทำงานเช่นกัน เพราะยิ่งเวลาหาไอเดียนั้นสั้น เราก็ต้องแบกรับต้นทุนที่มาก

สินทรัพย์เดียวของบริษัทโฆษณาคือ ‘คน’ เพราะเขาเดลิเวอร์ให้เกิดงาน และสร้างไอเดีย คนเก่งคือคนที่สามารถมองสังคม และย่อยเหตุการณ์ในสังคมมาเล่าได้ สามารถเล่าข้อมูลยาก ๆ ให้สนุกได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะเฉพาะตัว นั่นทำให้ทักษะเหล่านี้มีต้นทุนของมันเอง

ทุกคนต่างมีค่าวิชาชีพ ที่ใช้แรงงานจากสมอง เพราะสมองเป็นซอฟต์แวร์เดียวที่ทำให้เราแตกต่าง

แม้เวลาเราไปขายงานให้ลูกค้า เราจะใช้เวลาพรีเซนต์แค่ 5 นาที แต่มันก็ผ่านการคิด การกรองมาแล้ว

คนมักเข้าใจว่ากลุ่มที่โดดเด่นในเอเจนซี่คือกลุ่มครีเอทีฟ เพราะเป็นนักสร้างสรรค์กลยุทธ์ แต่จริง ๆ เรามีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งอื่นในการบริการลูกค้าที่สำคัญอย่างครอบคลุมเช่นกัน


จะบริหารองค์กรยังไงให้คนสนุกไปด้วย

เอเจนซี่คือองค์รวมของการสร้างให้คนได้ทำโปรเจกต์ในแอเรียใหม่ ๆ ก็จริง แต่ผู้บริหารก็ควรคุยกับพนักงานว่าทำไมเราถึงต้องทำงานจำเจในทุก ๆ วัน เพื่อให้เขาเข้าใจว่าถึงมันจะมีงานจำเจ แต่มันก็คือธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเรารันไปต่อได้

เราควรทำเอเจนซี่ให้เป็นดั่งสนามเด็กเล่น เราสามารถเข้าไปหาลูกค้าได้ว่าอยากทำโปรเจกต์ทดลอง แม้เจ้าเดโม่นั้นจะได้เงินน้อย หรือไม่ได้เงิน แต่ถ้ามันเป็นงานที่รันแพสชั่นทีมได้ก็ควรลองทำ

เวลารับโปรเจกต์ เราควรคุยกันกับทีมให้ดีก่อน เพราะถ้าเราคุยกันเองแล้วฟิน ก็จะส่งพลังนั้นไปถึงลูกค้า และมันจะเป็นเชื้อไฟให้เราอยากรันงานไปต่อได้

ปัญหาที่ทุกคนต้องเจอคือการสูญเสียทาเลนต์ เพราะถ้าลูกทีมเราเก่ง คนก็จ้องจะซื้อตัว แต่เราก็ดันไม่มีเงินเพิ่มให้ทาเลนต์ของเราอีก วิธีแก้ปัญหาคือเราควรจะปรับแพ็กเกจใหม่ เพื่ออัประดับค่าตัวทีม ซึ่งช่วยให้เรานำไปจ่ายทาเลนต์เราได้ และเราก็ไม่ต้องเสียทาเลนต์ไปไหน


จัดการยังไงเมื่อบัดเจ็ตไม่ตรงกับที่คิดไว้

หลายครั้งความจนมักทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

ธรรมชาติของคนเอเจนซี่คือคนที่ไม่ยอม ไม่ยอมในที่นี้หมายถึงว่าเราจะอยากทำให้ได้ แม้ว่าเงินจะไม่พอ ทว่าแม้จะเก่งแค่ไหน แต่ถ้ารับผิดชอบเรื่องเงินไม่ได้ ค่างานนั้นก็เป็นศูนย์ เพราะเมื่อรับงานมาแล้ว เราไม่สามารถเพิ่มเงินได้อีก ดังนั้นคนที่เก่งจะสามารถครีเอทีฟงานเพื่อให้มันอยู่ในต้นทุนได้

วิธีจัดการไม่ให้ต้นทุนสูงคือ เราต้องคุมต้นทุนด้วยไอเดีย ให้คิดตั้งแต่ทำงานว่าเราจะลีนสิ่งนี้ยังไงให้ได้มากที่สุด

พูดในมุมของสิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นต้องทำยังไง สมมุติว่าดีลงานแล้ว แต่ลูกค้าไม่มีบัดเจ็ตจริง ๆ ให้เราลองใช้ทริคเจรจาด้วยการใช้แรงงานเข้าสู้ นั่นคือการเอางานอื่นมาเติมเต็ม ยกตัวอย่าง งานนี้เงินน้อย ให้เราคุยกับลูกค้าว่า ลูกค้ามีงานอื่นที่สามารถเพิ่มให้ได้อีกไหม ซึ่งหลายครั้งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เกิดการดีลกันยาว ๆ

ไม่ว่าจะยังไง เราก็จงคิดเหมือนกับว่างานลูกค้านั้นมันเป็นของของเรา ถ้าจะขอเพิ่มเงินก็คุยกันด้วยเหตุผลว่า ถ้าเราแพงแล้ว มันจะได้อะไรที่ดีขึ้นกับเราบ้าง


แบรนด์ควรคุยเรื่องใจเขาใจเรา

ระบบเงินสดย่อย หรือการวางบิลเป็นสิ่งที่สำคัญกับโปรดักชันเฮาส์มาก ระบบเงินสดเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ เพราะมีหลายครั้งที่โปรดักชันเฮาส์ปิดตัวไป เนื่องจากหมุนเงินสดไม่ทัน

ถ้าจะทำโปรดักชันเฮ้าส์ให้อยู่รอด เราควรวางระบบเงินสดให้ดี เมื่อดีลงานกับใครบ่อย ๆ แล้ว เราควรคุยกับลูกค้าในเรื่องของเครดิตเทอม ว่าสามารถจ่ายให้เร็วขึ้นได้ไหม ต่อมาเอเจนซี่ถ้าทำได้ก็ควรจะแอดวานซ์ให้โปรดักชันเฮาส์ไปก่อนเลย ซัก 50% ซึ่งถ้าเอเจนซี่รวมกันให้เป็นระบบ มันจะทำให้เอเจนซี่เล็ก ๆหายใจได้


จัดการความคาดหวังยัง เมื่อทีมก็อยากรวยขึ้น แต่ลูกค้าก็อยากลงเงินแล้วรับสิ่งที่ดีกลับมา

หลายครั้งเราขาดการคอมมูนิเคชั่นในองค์กร ซึ่งเอเจนซี่เองก็ควรมีจุดที่ลงตัว เราจะให้คนนอกสบายใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องให้คนในบ้านสบายใจด้วย ต้องฟังคนในทีมว่าทำทันไหม ทำไหวหรือเปล่า

นอกจากนั้น เราก็ไม่ควรลืมว่าความคาดหวังนั้นเป็นสิ่งที่เติบโตได้ด้วย หากเราคุยกันเองในทีมว่าจะมีเป้าแบบไหน หรือโตยังไง เมื่อทำได้ความคาดหวังก็จะเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเติบโตด้วยการค่อย ๆ ไป เพราะไม่อย่างนั้นคนของเราจะแตกสลายไปซะก่อน

วิธีที่ทำให้คนไม่แตกสลายคือใช้ความเกื้อกูล ซึ่งความเกื้อกูลเป็นข้อดีของสังคมไทย เมื่อเราให้อะไรลูกทีมมากกว่าเงินเดือน หรือสิ่งที่เขาจะได้รับ มันจะทำให้สิ่งนั้นประทับอยู่ในใจของเขาตลอดไป ซึ่งความเกื้อกูลกับเทคนิคการนั่งอยู่ในใจฝั่งตรงข้าม คือสิ่งที่เราสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง


ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะบริหารแบบไหน แต่ถ้าเราเลือกทีมที่ดี เลือกลูกค้าที่ถูกใจกับเรา จะทำให้ 99% มันจะกลายเป็นความสุขของการทำงานอย่างแท้จริง


เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

trending trending sports recipe

Share on

Tags