องค์กรพร้อมไหม? ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ลดเวลา ได้งานมากขึ้น

Last updated on ม.ค. 26, 2024

Posted on ม.ค. 23, 2024

ทำงานน้อยลง แต่องค์กรได้ประโยชน์ขึ้นจริงเหรอ 😎

การทำงาน 4 วันเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริงของใครหลายคน แม้ในยุคนี้เราจะมีทั้งงานรูปแบบ Work From Anywhere และ Hybrid ที่ยืดหยุ่นกันอยู่แล้ว แต่เชื่อเลยว่าถ้าได้ปรับเวลาทำงานลงสักนิดชีวิตคงเป็นสุข

ในช่วง New Normal เป็นต้นมา องค์กรมากมายต่างคาดหวังให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ และมีเวลายืดหยุ่นที่น้อยลง ทว่าการศึกษาโดย Flexa กลับเผยประเด็นที่น่าสนใจว่า คนต้องการเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม เพราะนับจากนี้เทรนด์การทำงานที่ดีคือ 4 วัน

การศึกษาดังกล่าวระบุว่า ในปี 2023 งานที่ทำ 4 วันต่อสัปดาห์ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 68% ในเว็บไซต์หางาน ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายก็ยอมรับโมเดลนี้ด้วยล่ะ เอากับเขาสิ เพราะในช่วงสิ้นปี งานที่ทำ 4 และ 4.5 วันต่อสัปดาห์ก็เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022

ไม่ใช่แค่พนักงานวิน เพราะองค์กรก็วินด้วย 📊

เรามักจะคิดว่าการทำงาน 4 วันคือพนักงาน Win ฝ่ายเดียวเพราะทำงานน้อยลง แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าวางระบบดี มันก็ช่วยให้องค์กร Win ไปด้วยเช่นกัน นั่นเพราะว่าการทำงาน 4 วัน ได้ประโยชน์ขึ้นจริง ๆ น่ะสิ โดย แอนดรูว์ บาร์นส์ (Andrew Barnes) ผู้เขียนหนังสือ The 4-Day Week ก็ได้แชร์ว่า เขาได้นำระบบนี้ไปใช้กับองค์กรของเขา

แม้ว่าจะลดเวลาการทำงานลงเหลือ 4 วัน แต่ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานกลับเพิ่มขึ้นถึง 25% นั่นเพราะ นอกจากเวลาทำงานที่น้อยลงจะทำให้พนักงานแฮปปี้ขึ้นแล้ว ระบบการงาน 4 วันยังลดอัตราการลาหยุดของพนักงานได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาแอ็กทีฟที่จะปิดงานให้จบในสัปดาห์ แถมเวลาทำงานที่น้อยลงนี้ก็เป็น Benefit ชั้นดีที่ดึงดูดเหล่าทาเลนต์ และคนเก่ง ๆ เข้ามาในองค์กร เรียกได้ว่าลีนวันทำงานลง แต่องค์กรโตขึ้นกว่าเดิม

หนึ่งในองค์กรที่ได้ทดลองทำงาน 4 วันก็คือ Bolt บริษัท อีคอมเมิร์ซ ชื่อดังจากอเมริกา พวกเขาทดลองให้พนักงานบางส่วนทำงาน 4 วันเป็นเวลา 3 เดือน และผลการประเมินก็พบว่าพนักงานกว่า 80% ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้จะเหลือแค่ 4 วันก็ตาม แถมพนักงานสามารถจัดการ work–life balance ได้ดีกว่าเดิม ซึ่งในมุมหัวหน้าการที่พนักงานมีความสุข พร้อมกับสร้างผลผลิตที่ดีให้องค์กรได้ คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เลยล่ะ

ถ้าอยากทดลองทำงาน 4 วัน ลองนำโมเดลนี้มาใช้กับองค์กรเราดูไหม 🤔

โมเดลนี้ คือเทคนิคในการปรับให้องค์กรได้ลองทำงาน 4 วัน โดยเราได้นำโมเดลจากเว็บไซต์ 4dayweek.io มาฝาก ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยให้องค์กรหลายแห่งสามารถปรับมาทำงาน 4 วัน และรวบรวมงานที่ทำ 4 วันต่อสัปดาห์จากทั่วโลก ถ้าใครอยากเรียนรู้การปรับรูปแบบองค์กรมากกว่านี้ สามารถเข้าไปปรึกษาในเว็บไซต์นี้ได้เลย

🌟 1. ประเมินความเป็นไปได้ในชั่วโมงที่น้อยลง 🌟

ถ้าอยากทำงาน 4 วัน สิ่งสำคัญคือต้องประเมินความพร้อมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม และความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ต้องมากางแพลนงานร่วมกันว่าเราสามารถทำระบบนี้ได้ไหม มีปัจจัยอะไรที่ขัดต่อการทำทดลองนี้หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นความยืดหยุ่น ทัศนคติของพนักงาน และความเป็นไปได้ในการรักษาประสิทธิภาพการผลิต ด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง

ถ้าชั่วโมงการทำงานน้อย เราจะทำยังไงให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม และสามารถส่งมอบโปรดักต์ให้ลูกค้าได้ในกำหนดเวลา


🌟 2. เลือกวันหยุดให้เหมาะสมกับทีม 🌟

หลังจากประเมินความพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำแผนปฏิบัติ ซึ่งแผนนี้ควรนำปัจจัยต่าง ๆ มาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำงาน ลำดับเวลา และทรัพยากรที่จำเป็นในการเปลี่ยนไปทำงาน 4 วัน

สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ คือการกำหนดวันหยุด ด้วยการดูว่าถ้าต้องทำแค่ 4 วัน เราจะหยุดวันไหนถึงจะสามารถทำงานได้ทันเวลา อาทิ หยุดทุกวันศุกร์/หยุดทุกกลางสัปดาห์ หรือลองเวียนกะ โดยมีทีม A ทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี และทีม B ทำงานตั้งแต่วันอังคารถึงวันศุกร์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะทำงานครบทั้ง 5 วัน


🌟 3. ทดลองกับทีมเล็ก 🌟

เมื่อองค์ประกอบพื้นฐานพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อประเมินความเป็นไปได้ โดยทั่วไประยะนำร่องนี้จะดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ซึ่งเราจะต้องทดสอบกับพนักงานบางส่วน (อาทิ แผนกการตลาด หรือแผนกครีเอทีฟ) ก่อนที่จะเริ่มไปใช้จริงกับทั้งองค์กร

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าการทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เป้าหมาย ซึ่งในช่วงแรกควรทดลองว่าจะทำยังไงให้ทำงานได้เท่าเดิม ในเวลาที่น้อยลง ด้วยการโฟกัสที่เครื่องมือกับกระบวนการเพื่อให้ชั่วโมงการทำงานลดลงแต่ยังคงมีประสิทธิภาพ


🌟 4. ตั้ง KPI ที่ไม่ใช่แค่ผลผลิต 🌟

ในระหว่างการทดลองกับทีมเล็ก เราควรวัด KPI ไปเรื่อย ๆ และขอคอมเมนต์จากลูกทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาว่าการทำงาน 4 วันจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเรายังไง

สำหรับ KPI ต้องไม่ใช่แค่ผลผลิตที่ดี แต่ต้องรวมไปถึงความเป็นอยู่ และประสบการณ์ของพนักงาน โดยโฟกัสที่ Work Life Balence ว่าเป็นอย่างไร เวลาน้อยลงแต่งานเท่าเดิมแฮปปี้ไหม มีความสุขกับงาน 4 วันหรือไม่ มีความเครียดจากระบบเหล่านี้ยังไงบ้าง ซึ่งความพึงพอใจของพนักงานคือสิ่งสำคัญ


🌟 5. ขยายสเกลจากทีมสู่องค์กร 🌟

หลังจากทดลองเสร็จสิ้น ก็มาดูกันว่าสิ่งนี้เหมาะกับองค์กรของเราไหม ถ้าไม่ควรปรับอย่างไร หรือถ้าเหมาะควรนำไปใช้กับทีมอื่นแบบไหน ซึ่งระยะต่อไปคือการตั้งเป้าลดชั่วโมงทำงาน แต่ยังคงรักษาประสิทธิภาพในระยะยาวได้ทั้งองค์กร

การเปลี่ยนไปใช้ระบบทำงาน 4 วันอย่างถาวร มีประโยชน์อย่างมาก เพราะมันช่วยให้ภาพรวมขององค์กรดีขึ้นกว่าเดิม แต่จงจำไว้เสมอว่าโมเดลเหล่านี้ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่ถ้านำมาใช้ได้ มันจะให้ประโยชน์มหาศาล พนักงานเครียดน้อยลง ประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งระบบที่ดีเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดคนเก่ง และทาเลนต์ไม่ให้จากเราไปไหนด้วย

ทว่าท้ายที่สุดแล้วแอนดรูว์ บาร์นส์ก็ยังทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ยากที่สุดที่ทำให้องค์กรไม่สามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ได้อย่างถาวร ไม่ใช่เรื่องของระบบการทำงาน แต่เป็นเรื่องของการที่หลายคนไม่สามารถปิดงานให้จบในวันศุกร์ ซึ่งถ้าองค์กรไหนสามารถอุดรอยรั่วตรงนี้ได้ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรเติบโตไกลกว่าเดิม


แล้วคุณล่ะ พร้อมปรับการทำงานเหลือ 4 วันหรือยัง 🤭


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags