สรุป 5 วิธีหาขุมทรัพย์ไอเดียแบบอาจารย์โอดะ ผู้สร้าง One Piece

🏴‍☠️ สงสัยไหมว่าผู้แต่ง One Piece ใช้วิธีไหนมาครีเอทีฟเรื่องราวมหากาพย์ที่ทำให้คนทั้งโลกติดงอมแงม 🏴‍☠️

Last updated on ก.ย. 7, 2023

Posted on ส.ค. 31, 2023

One Piece การ์ตูนล่าขุมทรัพย์ที่หลายคนโตมาด้วยกัน ได้ก้าวเข้าสู่จำนวนตอนที่มากกว่าหนึ่งพันตอน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบง่าย ๆ เพราะเนื้อหาของ One Piece ไปไกลยิ่งกว่าแค่แย่งชิงสมบัติ มันได้กลายเป็นเรื่องราวที่โดนใจแฟนคลับทั่วโลก บางคนอ่านตั้งแต่ประถม จนตอนนี้ทำงานก็ยังไม่จบ, บางคนอ่านตั้งแต่ประเทศแถวนี้มีประชาธิปไตยเต็มใบ จนตอนนี้ประเทศนั้นก็คล้ายเรื่องราวใน One Piece ไปทุกที พี่แกก็ยังจะไม่จบอีก

แน่นอนว่าการสร้างโลกที่ซับซ้อน และน่าหลงใหลในจักรวาล One Piece นั้นต้องใช้ไอเดีย ที่มากกว่าแค่จินตนาการ ซึ่งกระบวนการคิดสร้างสรรค์ของอาจารย์ เออิจิโระ โอดะ (Eiichiro Oda) ก็ได้สร้างรายได้หลักพันล้านมาสู่สำนักพิมพ์ Shōnen Jump อาจารย์โอดะใช้ทริกอะไรในการคิดมหากาพย์เรื่องราว เราจะมารวมรวมวิธีคิด เพื่อออกล่าขุมทรัพย์แห่งไอเดียนี้กัน

⚡ ปล่อยให้ตัวเองเหม่อลอย ⚡

นี่เป็นคำแนะนำแรก จาก process การหาไอเดียในการทำงาน ที่อาจารย์โอดะได้เล่าไว้ในหนังสือการ์ตูน เพราะอาชีพศิลปินนั้น กระบวนการเหม่อลอยไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ไอเดีย ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ช่วงเวลาเหล่านี้ทำให้ศิลปินสามารถนำภาพในอากาศมาสร้างเป็นเรื่องราวได้ เทคนิคการเหม่อลอยจึงเป็นเครื่องมืออันมีค่าสำหรับความคิดสร้างสรรค์ โดยแนวคิดนี้ได้ทำให้อาจารย์โอดะสามารถเชื่อมโยงไอเดียมากมาย และค้นพบประกายไฟที่นำไปใช้พัฒนาเป็นเรื่องราวมหากาพย์ของ One Piece ขึ้นมา

⚡ เรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติอื่น ๆ ⚡

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ One Piece คือการผสมผสานเรื่องราวปกรณัม และนิทานจากทั่วโลก มาไว้ในการ์ตูนอย่างแนบเนียน แม้ว่าตัวเนื้อหาจะพูดถึงการผจญภัย แต่ก็มีการวกไปแตะเรื่องการเมือง ตำนาน ศาสนา (บางครั้งเนื้อหาก็แอบคล้ายคลึงกับประเทศแถวนี้แบบงง ๆ จนนึกว่าอาจารย์เขียน One Piece อยู่แถวลาดพร้าว) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการที่อาจารย์โอดะ ศึกษาวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง จนได้มาซึ่งต้นตอไอเดีย ฉะนั้นหากเราอยากมีไอเดียที่ดี ก็ต้องมีวัตถุดิบที่ดีอยู่ในคลังสมองซะก่อน

⚡ ยิ่งเหนื่อยล้า ยิ่งคิดงานออก ⚡

“เคล็ดลับจริง ๆ คือผมคิดพล็อต และเนื้อเรื่องตอนที่เหนื่อยมาก ๆ”

อาจารย์โอดะ เชื่อมั่นในการก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย วิธีเดียวที่เขาจะคิดไอเดียใหม่ได้ก็คือ การคิดแบบไม่ต้องนอนหรือกินข้าว ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นวิธีที่หนัก และทำร้ายร่างกาย จนนำปัญหาสุขภาพมาให้อาจารย์โอดะ แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เขาสามารถเข็น One Piece ออกมาได้จนทุกวันนี้ กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะอาจารย์ถึงกับกล่าวว่า ทุกครั้งที่เขียนต้นฉบับเสร็จ ก็ทำให้เขาหมดแรงไปในทันที

⚡ รู้จักดีเทลงานของตัวเองอย่างละเอียดยิบ ⚡

แทบจะทุกตัวละครของ One Piece นั้นมีที่มาจากคนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นทุกตัวละครที่อาจารย์โอดะสร้างขึ้น เขาจะสร้างโปรไฟล์ให้อย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่รูปลักษณ์, บุคลิกภาพ, นิสัยประจำตัว, วันเกิดไปจนถึงประวัติปูมหลังของชีวิต

การที่อาจารย์โอดะสามารถเข้าใจแม้แต่ดีเทลเล็ก ๆ ในงาน ทำให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหา รวมไปถึงแก้ไขเรื่องราวให้มีความน่าสนใจมากขึ้นได้ตลอดเวลา

⚡ เนื้อหาที่วางแผนไว้ แต่ก็มีช่องให้ ‘ด้นสด’ ⚡

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มหากาพย์ One Piece ที่ลากยาวมา 20 กว่าปี ในตอนแรกนั้นอาจารย์โอดะวางแผนการสร้างการ์ตูนชุดนี้ไว้แค่ไม่กี่ปีเท่านั้น

แม้ว่าเขาจะยืดเรื่องราวมาหลายปี แต่เรื่องราวของ One Piece ก็ยังอยู่ในแผนที่อาจารย์วางเอาไว้ นั่นเพราะอาจารย์โอดะ ได้วางจุดจบของเรื่องราวมาตั้งนานแล้ว ทว่าในขณะที่เขียนการ์ตูนไป เขาก็มักจะมีไอเดียใหม่ ๆ มาสอดแทรกเนื้อหาระหว่างทางได้อยู่ดี ดังนั้นแล้วการรู้จุดเริ่มต้น และจุดจบของเรื่องราว ทำให้ไม่ว่าจะเราเพิ่มดีเทลอะไรเข้ามา ทุกอย่างก็ยังคงอยู่ในขอบเขตของงานอยู่ดี


ในโลกที่ Storytelling คือสิ่งที่มหัศจรรย์ ความคิดสร้างสรรค์ของอาจารย์โอดะ ถือเป็นข้อพิสูจน์ในกระบวนการครีเอทีฟ แม้ว่าหลายเทคนิคจะค่อนข้างแปลก และนำไปต่อยอดได้ยาก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคนิคอันแหวกแนวของเขาได้หล่อหลอมมหากาพย์ One Piece ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา แถมยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเล่าเรื่องผู้ทะเยอทะยานทั่วโลกนับจากนี้ จนอีกหลายปีข้างหน้าเลยล่ะ


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags