5 คำแนะนำสำหรับหัวหน้ามือใหม่จาก Harvard Business Review ช่วยสร้าง Culture ที่ดีในองค์กร

การเป็นหัวหน้า คือการเปลี่ยนผ่านความก้าวหน้าทางอาชีพ เป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความรับผิดชอบ และการท้าทายที่มากขึ้น นั่นเพราะตอนนี้เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองไปแล้ว

Last updated on ก.ค. 15, 2023

Posted on ก.ค. 14, 2023

ความสำเร็จจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับงานที่เราทำ แต่ขึ้นอยู่กับการส่งต่องานที่ต้องอาศัยทั้งทักษะ ความอดทน และเวลา ในเว็บไซต์ Harvard Business Review ได้เล่าถึงคำแนะนำ 5 ข้อสำหรับหัวหน้ามือใหม่ เพื่อช่วยให้ทุกคนสร้าง Culture ที่ดีในองค์กรได้

1. สร้างวัฒนธรรมที่ติชมกันได้ตลอดเวลา

การพูดคุยเรื่องฟีดแบ็กกันอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่มีประสิทธิภาพ หัวหน้ามือใหม่มักจะรอการประเมินประจำปีเพื่อขอคำติชมจากลูกทีมของเขา แต่หัวหน้าที่ดีควรเปิดรับคำติชมตลอดเวลา

แทนที่จะรอช่วงประเมินประจำปี ลองนัดคุยแบบ 1-1 กับสมาชิกในทีมเป็นประจำ เพื่อส่งเสริมด้านการพูดกันตรง ๆ อย่างเช่นเรื่องของทีมชัดเจนในสิ่งที่เราคาดหวังอยู่หรือไม่? เราให้เวลาทีมเพียงพอในการทำงานหรือเปล่า? ทีมต้องการอะไรจากเราหรือบริษัทเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่บ้างไหม?

การจัดการความท้าทายที่ลูกทีมเผชิญอยู่ จะช่วยให้เราสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และสามารถปรับปรุงระบบการทำงานได้ด้วยการให้ฟีดแบ็กกันตรง ๆ


2. ให้ความไว้วางใจลูกทีม

ในฐานะหัวหน้ามือใหม่ สิ่งที่เราต้องจำไว้เสมอคือ พนักงานทุกคนต่างได้รับการว่าจ้างเพราะพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ หรือแสดงศักยภาพในการทำงานที่ยอดเยี่ยมได้ ซึ่งการไม่ไว้วางใจอาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่ได้รับการยอมรับจนอาจทำให้พวกเขาไม่พอใจเรา

ดังนั้นการสร้างความไว้วางใจให้กับคนในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพวกเขารับรู้ถึงการยอมรับความสามารถ และให้อำนาจพวกเขาในการตัดสินใจบางอย่าง จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และความสัมพันธ์ในการทำงานที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


3. สร้างกิจกรรมออนไลน์เพื่อเชื่อมคนในทีมให้แน่นแฟ้น

ในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดในปัจจุบัน การคุยงานออนไลน์อาจทำให้ทีมจูนกันได้ยาก ซึ่งการสร้างความสนิทสนมระหว่างสมาชิกในทีมอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย ลองใช้กิจกรรมออนไลน์บางอย่างเพื่อสร้างพื้นที่ให้ทีมได้จูนกันดูสิ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันเรื่องราวประจำวันสัปดาห์ในมีทติ้ง หรือการใช้พื้นหลังเสมือนจริงแบบทีมเดียวกัน รวมไปถึงเริ่มการประชุมด้วยรีพอร์ตเชิงบวกกับเชิงลบจากสัปดาห์ที่แล้ว


4. หยุดตำหนิความผิดพลาด

การหลีกหนีจากวัฒนธรรมการตำหนิเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทีมที่ดี แทนที่จะเน้นไปที่การตำหนิความผิดพลาด ลองเปลี่ยนไปเป็นสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาดูสิ เมื่อวิเคราะห์กระบวนการ และระบุจุดที่ต้องปรับปรุงร่วมกันได้แล้ว จะทำให้ทีมของเราสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากตำหนิได้


5. ท้ายที่สุด จงรับรู้ไว้ว่าการขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติ

ในการวิจัยเรื่อง What First-Time Managers Can Do to Address Burnout ของ Ben Laker, Vijay Pereira, Ashish Malik และ Marcello Mariani ได้บอกว่า 65% ของหัวหน้ามือใหม่ รู้สึกไม่แน่ใจหรือวิตกกังวล เกี่ยวกับการเปลี่ยนบทบาทของพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความเครียด และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการหมดไฟ


การเปลี่ยนไปสู่บทบาทหัวหน้าเป็นหนึ่งในความเครียดของใครหลายคน สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือเมื่อใดให้ติดต่อเพื่อนร่วมงาน หรือผู้จัดการของเราเพื่อปรึกษาในเรื่องนี้ แล้วลองแชร์ความกังวลใจของเราก่อนจะเสี่ยงจากสภาวะหมดไฟ เมื่อรู้ตัวทันจะช่วยรักษาสุขภาพจิตได้ และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดียิ่งขึ้นสำหรับทีม


ที่มา: 5 Pieces of Advice for First-Time Managers

trending trending sports recipe

Share on

Tags