ชีวิต Work From Home ดีขึ้นได้ด้วยการจัดท่าทาง เข้าใจสรีระและใส่ใจโต๊ะ-เก้าอี้ทำงาน

Last updated on พ.ค. 2, 2023

Posted on พ.ค. 25, 2020

เผลออีกทีท้องฟ้าที่เคยสว่าง แดดเปรี้ยงก็มืดลงและถ้าหากเราลองนับชั่วโมงการทำงานดู จาก 8-10 ชั่วโมง หลายคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปถึง 1 ใน 3 ของวัน นั่งทำงานติดอยู่กับเก้าอี้ มีเพียงแค่การลุกไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น (จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข) ยิ่งในช่วง Work From Home ณ ตอนนี้แล้วจากที่ใช้เวลานั่งทำงาน 1 ใน 3 ของวัน อาจเป็น 2 ใน 3 วัน เลยก็ได้ แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมา คือ สารพัดโรคออฟฟิศซินโดรม ตั้งแต่อาการปวดคอ บ่า ไหล่ กระทั่งโรคเครียด ไมเกรนต่างๆ 

Creative Talk ชวนคุณลุกขึ้น ยืดเส้น ยืดสาย สะบัดคอบ่าไหล่และเคล็ดลับการจัดโต๊ะ นั่งทำงานที่แนะนำโดยอัครชัย พรหมจันทร นักกายภาพบำบัด 

ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย ทำไม Work From Home ถึงล้าขนาดนี้ ?

คำถามนี้ผุดขึ้นเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเราพูดถึงการทำงานแบบ Work From Home ไม่ใช่แค่การทำงานที่ยาวนานขึ้นเพราะเราใข้เวลาในส่วนของการเดินทาง มาเติมเต็มการทำงานมากขึ้น แต่การสื่อสารเองก็มีส่วนเช่นกัน อัครชัยอธิบายว่า การประชุมหรือคุยงานสื่อสารที่ไม่ได้เจอหน้าค่าตากัน เราต้องโฟกัส ตั้งใจกับการสื่อสารมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วเราก็เจอกับโต๊ะทำงานเลยทันที มิติชีวิตที่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกน้อยลง 

Sedentary lifestyle วิถีชีวิตของคนวัยทำงานปัจจุบัน 

อาการปวดคอ บ่า ไหล่รวมไปถึงโรคปวดศีรษะ เครียด ไมเกรน หรือนอนไม่หลับต่างๆ เหล่านี้ อัครชัยบอกว่า ล้วนแต่เป็นอาการของกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรมที่ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการทำงาน โดยจุดแรกเริ่มนั้นคืออาการปวดตามสรีระส่งผลไปยังอาการปวดหัว กระบอกตา พัฒนาจนกลายเป็นภาวะคามเครียด ภาวะเส้นประสาทอักเสบ พฤติกรรมเหล่านี้จริงๆ มีชื่อเรียกว่า Sedentary lifestyle พฤติกรรมที่เราไม่ได้ขยับร่างกายไปไหน ไม่มีกิจกรรมที่ให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อขยับ ยืดเส้น ยืดสาย ซึ่งการนั่งทำงานที่อยู่กับที่ก็เป็นสาเหตุหลักอยู่แล้วแต่อีกสิ่งหนึ่งที่คนมองข้ามคือ ท่าทาง อุปกรณ์ การจัดตำแหน่งที่ดีให้การทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อไม่ทำงานหนักจนเกินไปก็ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน 

ชีวิต Work From Home ดีขึ้นได้ด้วยการจัดท่าทาง เข้าใจสรีระและใส่ใจโต๊ะ-เก้าอี้ทำงาน 

คำว่า Ergonomics หรือการยศาสตร์ ที่เราเห็นได้บ่อยในช่วงนี้จากแบรนด์เก้าอี้ทำงานต่างๆ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วจริงๆ จำเป็นหรือไม่ หรือถ้าเรามีงบที่จำกัด โต๊ะ เก้าอี้ทำงานที่ดีควรจะเป็นอย่างไร

“การยศาสตร์ จริงๆ หมายถึงว่า การออกแบบเพื่อให้เราสามารถทำงานได้ดีขึ้นหรือออกแบบเพื่อส่งเสริมการทำงานของคน ฉะนั้นแล้วตั้งแต่เรื่องของอุปกรณ์ไปจนถึงการจัดท่าทางเลย เริ่มที่เก้าอี้ควรมีพนักพิง มีที่วางแขน แต่ถ้าไม่มีที่วางแขนเราเอาหมอนมารองแขนทั้งสองข้างได้ เพื่อให้ศอกไม่ต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เวลานั่งเท้าต้องแตะพื้น เข่ากับสะโพกงอ 90 องศา ส่วนหัวไหล่ต้องไม่ห่อเข้าเวลาพิมพ์งาน ศอกควรงอประมาณ 90 องศาเช่นกัน แป้นพิมพ์หรือโน้ตบุ๊ควางลึกเข้าในไปด้านในเพื่อให้ข้อมือมีพื้นที่วาง นอกจากนั้นแล้วพวกโน้ตบุ๊ค จอคอมควรอยู่ระดับสายตา ก้มไม่เกิน 30 องศา”

อัครชัยปิดท้ายว่า จริงๆ แล้วสภาพแวดล้อมก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน หากเป็นไปได้ควรเลือกโต๊ะทำงานให้อยู่ในห้องที่มีแสงธรรมชาติเข้าทางใดทางหนึ่งบ้างหรือมีหน้าต่างที่มองเห็นวิวด้านนอก และเมื่อทำงานไปอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงควรลุกขึ้นบิดซ้าย บิดขวา เดินเข้าห้องน้ำ ละสายตาจากหน้าจอคอมหรืออุปกรณ์ต่างๆ มองไปที่วิวหน้าต่าง เพราะเมื่อเราเกิดอาการตาล้าก็จะส่งผลต่ออาการปวดข้อ บ่า หรือร่างกายอื่นๆ กระทั่งบ่มเพาะเป็นความเครียด 

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags