ทำไม Cryptocurrency จึงเติบโตเร็วในประเทศโลกที่สาม

Last updated on พ.ย. 23, 2021

Posted on พ.ย. 23, 2021

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้อาจพูดได้ว่า Cryptocurrency ได้กลายเป็นเรื่องกระแสหลักไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยธนาคารหลายแห่งบนโลกเริ่มหันมาสนับสนุนเงินคริปโตฯ กันมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ต่างก็ก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดกันอย่างจริงจัง ไหนจะการทุบสถิติราคาของเหรียญต่างๆ ที่หลายคนบ่นเสียดายที่เข้าตลาดไม่ถูกเวลา

แต่เหตุผลอะไร ที่ทำให้การใช้เงิน Cryptocurrency ในประเทศโลกที่สามถึงมีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว?

เมื่อพูดถึงบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม สถานการณ์การซื้อขาย Cryptocurrency นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว ด้วยกลุ่มประชากรอายุน้อยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการเงินแบบดั้งเดิมได้ แต่พวกเขามีสมาร์ทโฟนใช้ หลายประเทศในโซนแอฟริกาใต้นับตั้งแต่บราซิลจนถึงบอตสวานาจึงต่างกระเสือกกระสนที่จะเข้าถึงการใช้เงินคริปโตฯ

ทาง Insider สื่อออนไลน์เจ้ายักษ์ของสหรัฐฯ​ ได้พูดคุยกับ James Butterfill ผู้วางกลยุทธ์ด้านการลงทุนของ CoinShares บริษัทด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในยุโรป และ Marius Reitz GM ของ Luno ในแอฟริกา ถึงประเด็นของประโยชน์ที่สังคมในประเทศโลกที่สามจะได้รับจากบิทคอยน์ และเหตุผลว่าทำไมประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ถึงนิยม Cryptocurrency 

Butterfill บอกว่า ถ้ามองไปที่ขนาดการเติบโตของบิทคอยน์ของประเทศเหล่านี้ มันมีจำนวนมหาศาลมาก

ตัวอย่าง จากการสำรวจของ Statista กับผู้บริโภคทั่วโลก แทบจะเรียกได้ว่าหนึ่งในสามของประชากรไนจีเรียบอกว่า พวกเขาครอบครองหรือว่าใช้เงินคริปโตฯ ขณะที่ในสหรัฐฯ มีเพียง 6 ใน 100 เท่านั้นที่เป็นเช่นนั้น (ในปี 2020)

หรือจะเป็นการตัดสินใจล่าสุดของประเทศ El Salvador ที่จะทำให้บิทคอยน์เป็นเงินตราที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เงินคริปโตฯ ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่ง World Bank หรือธนาคารโลกก็บอกว่ามันอาจจะไม่เวิร์ค สำหรับแผนการใช้ Cryptocurrency ของประเทศนั้นๆ เนื่องจากสกุลเงินคริปโตฯ นั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

จากปริมาณของบิทคอยน์ซึ่งเปลี่ยนมือในเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังปะทุ จำนวนการซื้อขายในบราซิลก็เพิ่มขึ้นกว่า 2,247% แบบปีต่อปีใน 2021 ขณะที่เวเนซูเอล่า ประเทศที่มีความโกลาหลครั้งใหญ่ทางการเมือง และสร้างภาวะเงินเฟ้อรุนแรงรวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ก็จำนวนการซื้อขาย Cryptocurrency ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 833% ในระยะ 12 เดือน และที่ไนจีเรีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ก็มีการซื้อขายคริปโตเพิ่มสูงขึ้น 128% แบบปีต่อปี

ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีการซื้อขายบิทคอยน์ด้วยจำนวนเงินอยู่ที่ระหว่าง 40,000 – 31,900 เหรียญสหรัฐฯ และได้เปลี่ยนแปลงราคาขั้นต่ำของการซื้อขายเป็นราวๆ 30,000 ไปจนถึงสูงสุดที่ราวๆ 63,500 เหรียญสหรัฐฯ ภายในเวลาไม่ถึงปี (ข้อมูลจากเดือนกรกฎาคม 2021) แต่ทั้งที่ Cryptocurrency นั้นเปลี่ยนแปลงง่ายและมีความผันผวน แต่ผู้ใช้ในประเทศโลกที่สามก็ยังคงรักมัน

ซึ่ง Butterfill บอกว่า บนโลกใบนี้ยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินอยู่ราวๆ 1.7 พันล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม กว่า 48% ของประชากรโลกนั้นมีสมาร์ทโฟน และด้วยเปอร์เซ็นต์นี้ ในทางทฤษฎีแล้ว พวกเขาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับ Cryptocurrency

ขณะที่ในฟากลาตินอเมริกา มีเพียง 30% ของประชากรที่อายุเกิน 15 ปี เท่านั้น ที่มีบัญชีธนาคาร สำหรับเรื่องนี้ Butterfill บอกว่า ‘ผมคิดว่า จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่บิทคอยน์จะช่วยกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้เข้าถึงการสร้างกำไรได้’

ขณะเดียวกันก็มีการเติบโตของการใช้ Cryptocurrency ในโซนแอฟริกาใต้เช่นกัน ทั้งในฝั่งของประเทศกาน่า , เคนย่า , แอฟริกาใต้ , บอตสวาน่า และซิมบับเว

Reitz จาก Luno บอกว่า แม้ภูมิภาคนี้อาจไม่มีใครสังเกตถึงการพัฒนาและการใช้สกุลเงินคริปโตฯ เท่าไหร่ แต่แอฟริกา เป็นหนึ่งในทวีปที่แสดงถึงสัญญาณการเติบโตในอนาคต และเป็นภูมิภาคที่ปรับใช้สกุลเงินคริปโตฯ เนื่องด้วยการหลอมรวมทางเศรษฐกิจและด้านประชากรศาสตร์ที่มีความเฉพาะตัว

และหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ประชากรในแอฟริกาใช้สกุลเงินคริปโตฯ ก็คือค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน จากการรายงานของ World Bank ในปี 2020 บอกว่าการส่งเงินไปแอฟริกาผ่านธนาคารแบบดั้งเดิมนั้นมีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 8.9% เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 6.8% ซึ่ง Cryptocurrency สามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้

แม้อาจจะดูเสี่ยงจากความผันผวนและไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่ถ้าความเสี่ยงนั้นคุ้มค่าไม่ว่าเป็นใครก็พร้อมจะลอง


อ้างอิงจาก: Businessinsider

trending trending sports recipe

Share on

Tags