สี่แยกที่ไม่มีไฟจราจร ดีกว่าแยกที่มีไฟจราจร ... จริงหร

Last updated on มี.ค. 19, 2020

Posted on มี.ค. 17, 2020

https://open.spotify.com/episode/4VVScpufLSL532npj4kSpS

เคยสงสัยไหมว่า บางสี่แยกที่ไม่มีตำรวจ หรือไม่มีไฟจราจร รถจะวิ่งเร็วขึ้น?

คุณสงสัยไม่ผิดครับ เพราะในต่างประเทศมีการออกแบบสี่แยกบนถนนใหม่ โดยเป้าหมายของการออกแบบก็เพื่อลดอุบัติเหตุ เหมาะสมสำหรับยานพาหนะทุกประเภท และแน่นอนคือรถติดน้อยลง และวิธีที่พวกเขาทำคือการนำเอาไฟจราจรออก Hans Mondernman เป็นวิศวกรออกแบบท้องถนนชาวดัชท์ พบว่าปัญหาของวิศวกรที่ออกแบบสี่แยกก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ถนนมีปัญหาต้องแก้ พวกเขาจะต้องใส่บางอย่างเพิ่มเข้าไป แต่สำหรับเขา เขาคิดว่าทางแก้ของปัญหาคือการนำสิ่งต่าง ๆ ออก

Hans Mondernman มองเห็นว่าทุกวันนี้ตามสี่แยกจะมีป้ายต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด ทั้งป้ายถนน ป้ายบอกทาง ป้ายห้ามต่าง ๆ รวมไปถึงไฟจราจร นี่ยังไม่นับสีบนพื้นถนน สีแดงขาวที่ขอบฟุตบาท Hans Monderman มองว่าการออกแบบใหม่ที่จะทำให้แยกจราจรนี้ดีขึ้นคือ ต้องนำป้ายทั้งหมดออก ลบสีที่ถนนทิ้ง และไม่มีไฟจราจร

เพราะป้ายต่าง ๆ เหล่านี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้คนละเลย ไม่สนใจท้องถนน หากลองสังเกตดูว่าบนถนนตามสี่แยกต่าง ๆ มีป้ายมากมายขนาดไหนแล้วล่ะก็ เพียงขอให้คุณดูให้หมดทุกป้าย คุณก็จะไม่เหลือเวลาสำหรับดูท้องถนน รถยนต์ และผู้คนที่เดินข้ามถนนแล้ว ดังนั้นการนำป้ายต่าง ๆ ออกจะทำให้คนโฟกัสมากขึ้น

Hans ได้เริ่มทดลองที่แยกใหญ่แยกหนึ่งในเมืองดาชเทน (Drachten) แยกนี้ปกติมีรถวิ่งผ่าน 22,000คันต่อวัน หลังจากที่ Hans ได้ทำทดลองด้วยการนำป้ายต่าง ๆ รวมถึงไฟจราจรออกจากแยก ผลลัพธ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีอุบัติเหตุอยู่ 36 กรณีใน 4ปี ลดลงเหลืออุบัติเหตุแค่ 2กรณี ใน 2ปี

ทำไมการนำป้ายต่าง ๆ ออกจึงสามารถลดอุบัติเหตุได้?

Hans Mondernman อธิบายว่า เดิมทีเวลาที่เราต้องการให้รถยนต์เป็นระเบียบมากขึ้น หรือลดอุบัติเหตุลง เรามักจะใช้พวกลูกระนาด หรือ speed bumper หรือป้ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Speed Claming” ส่วนเขาเองกลับมองว่าควรจะปรับด้วยวิธีที่ทำให้สี่แยกมีความเป็นถนนน้อยลง และมีความเป็น Village-like มากขึ้น

Hans ใช้วิธีการที่เรียกว่า “Shared Space” คือการแบ่งปันพื้นที่ โดยไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน จักรยาน หรือรถยนต์ก็สามารถแบ่งปันท้องถนนได้

Hans บอกว่า “ถ้าคุณดูแลคนประหนึ่งคนโง่ พวกเขาก็จะทำตัวเป็นคนโง่เช่นกัน” “When you treat people like idiots, they’ll behave like idiots.” ดังนั้นวิธีนี้คือการออกแบบสี่แยกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

การออกแบบสี่แยกที่ปราศจากไฟจราจรและป้ายต่าง ๆ ทำให้คนเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. พวกเขาจะขับรถช้าลงเพราะต้องคอยระวัง
2. พวกเขาจะมองตากันและสื่อสารซึ่งกันและกัน
3. พวกเขาจะต่อรองกันว่าใครจะไปก่อนไปหลัง

การออกแบบสี่แยกใหม่นี้ ทำให้ไม่มีเลนจักรยาน ไม่มีทางเท้า แต่ทุกคนจะใช้ร่วมกัน และด้วยการที่พวกเขาต้องระมัดระวังซึ่งกันและกันมากขึ้น ส่งผลให้อุบัติเหตุนั้นเกิดน้อยลง

นอกจากนี้ การนำสิ่งต่าง ๆ ออกไปจากสี่แยก ทำให้ผู้คนมองเห็นด้วยว่าขณะนี้เราวิ่งเร็วขนาดไหน ด้วย concept ที่เรียกว่า Edge Friction คือเมื่อตัดป้ายรก ๆ ออกแล้ว เราจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบด้านมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นต้นไม้หรือบ้าน ทำให้คนขับรู้ว่าพวกเขาขับรถเร็วมากน้อยแค่ไหนด้วย ถ้าพวกเขาเห็นว่าตัวเองขับเร็ว เขาก็จะขับรถให้ช้าลง

การให้ผู้คนชะลอรถลงด้วยตัวเองและต่อรองกันเองว่าใครจะไปก่อนหลัง ไม่เพียงแต่ทำให้อุบัติเหตุน้อยลง แต่ยังทำให้การจราจรดีขึ้นด้วย หรือที่เรียกว่า Quantifiably more free-flow

สี่แยกจราจรรูปแบบนี้ ได้นำไปทดลองใช้กับหลาย ๆ เมือง เช่น เมืองคริสเตียนฟิลด์ (Christianfield) ประเทศเดนมาร์ก ทำให้ลดอุบัติเหตุจาก 3กรณี จนไม่เหลืออุบัติเหตุเลย หรือที่ อิปสวิช (Ipswich) ประเทศอังกฤษ ที่ลดจาก 23กรณี ใน 3 ปี เหลือ 1 กรณี ใน 1 ปี หรือที่ เคนซิงตัน ไฮสตรีท (Kensington High Street) ที่สามารถลดอุบัติเหตุไปได้ถึง 60%

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะชอบไอเดียไร้ไฟจราจรนี้ มีบางคนโดยเฉพาะบ้านที่มีผู้พิการ และผู้พิการทางสายตา พวกเขาบอกว่ามันยากมากที่จะพาคนเหล่านี้ข้ามถนน หรือให้คนพิการเหล่านี้ข้ามถนนได้เอง ซึ่งยอมรับว่าจริง มีผู้พิการเสียชีวิตจากแยกเหล่านี้จริง ๆ แล้ว และการออกแบบแยกเพื่อให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง การจราจรรวดเร็วขึ้นนั้น คงจะต้องทำกันต่อไป แต่สุดท้าย ก็ตอบคำถามที่คาใจพวกเรามานานได้ว่า “ทำไมรู้สึกว่าแยกที่ไม่มีไฟจราจรเร็วกว่าแยกที่มีไฟจราจร”

ภาพประกอบ : bantersnaps on Unsplash

บทความที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags