มองโอกาสของ Startup ไทย

Last updated on ก.พ. 23, 2023

Posted on ม.ค. 12, 2023

เราต่างต้องยอมรับว่าปี 2022 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ธุรกิจทุกภาคส่วนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจผันผวนจากสถานการณ์ต่างๆ รอบโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ต่างก็เจอกับความท้าทายทุกรูปแบบและรอบด้าน

วันนี้ Katalyst Talk จึงชวนคุณ ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX นายกสมาคม Thai Startup มาบอกทิศทาง โอกาส และความเป็นไปได้ทางธุรกิจในปี 2023 สำหรับเหล่า Startup และ SME ไทยโดยเฉพาะ 


ภาพรวมปี 2022 

ท่ามกลางความวุ่นวายของปีที่ผ่านมา คุณยุทธนายอมรับว่าไม่ใช่ปีที่ดีของธุรกิจทั่วโลก  และปีหน้าก็ยังไม่มีข่าวดี กลับกลายเป็นยิ่งต้องระมัดระวังตัวให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ปี 2023 ยังไม่ใช่จังหวะที่หวังจะลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เก็งกำไรระยะยาวได้ โดยคุณยุทธนาแนะนำว่าให้ Startup และ SME ถือโอกาสนี้ในการลองผิดลองถูกแบบเล็กๆ ลงทุนไม่เยอะ รวมถึงลับมีดให้คม เพื่อรอจังหวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจะได้พร้อมที่จะลุยไปให้ไกลกว่าเดิมได้

อุตสาหกรรมเดียวในปีนี้ที่มีแนวโน้มว่ากำลังกลับมาและน่าจะมีโอกาสสดใสที่สุด คือ การท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทยมายาวนาน หลังจากที่ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องจำศีลมาเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาแล้ว การท่องเที่ยวของไทยจึงเริ่มกลับมาคึกคัก และปีหน้าก็ยังพอคาดหวังได้ว่า น่าจะยังค่อยๆ เติบโต อย่างค่อยเป็นค่อยไป


จุดเด่นของไทย

คุณยุทธนาได้ให้ความเห็นว่า “เป้าหมายของสมาคม Thai Startup คือ การเปลี่ยนประเทศไทยจาก User ทางด้านเทคโนโลยี ให้กลายเป็น Maker ให้ได้” หากมองในมุมผู้บริโภคแล้ว ประเทศไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถกวาดอันดับต้นๆ ในการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้านอินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ, Social Media, Cryptocurrency, หรือแม้กระทั่ง E-Commerce 

ไทยเป็นประเทศที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเครื่องมือ เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องมือดังกล่าวให้กลายเป็นเครื่องมือทำธุรกิจได้ด้วยในแบบที่ชาติอื่นก็นึกไม่ถึง เช่น เราสามารถเปลี่ยนการ Live Content ต่างๆ ให้กลายเป็นช่องทางในการซื้อขายของ คนพร้อม CF กันแบบกระจุยกระจาย อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมุมผู้ผลิต ไทยกลับไม่ได้รับความน่าเชื่อถือมากนัก แม้กระทั่งจากคนภายในประเทศไทยเอง


อุปสรรคของ Startup ไทย

อุปสรรคแรกของ Startup ใหม่ๆ ในไทย คือ “แหล่งเงินทุน” เพราะมีจำกัด และหลายครั้งด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ผู้ให้เงินลงทุนก็มักให้โอกาส Startup เก่าที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า หาก Startup ใหม่พึ่งแต่งบจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอในการต่อยอดในระยะไกลได้ คุณยุทธนาในฐานะนายกสมาคม Thai Startup จึงบอกว่าทางสมาคมเองกำลังหาทางจับมือแหล่งเงินทุนให้เข้าถึง Startup ใหม่ๆ ให้มากขึ้น 

อุปสรรคที่สองของ Startup ไทย คือ การเปรียบเทียบกับ Startup ต่างชาติโดยผู้ใช้คนไทยเอง คุณยุทธนาชี้ประเด็นนี้ว่า “ให้มองว่า กว่า Startup ต่างชาติจะเข้ามาไทยได้ พวกเขามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาหลายเวอร์ชั่นแล้ว เมื่อคนไทยใช้จึงเห็นความผิดพลาดน้อย ในขณะที่ถ้าเอาเวอร์ชั่นแรกของทั้ง 2 Startup มาเปรียบเทียบกัน ของคนไทยอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ แต่เรามักมีภาพจำว่าถ้าเป็นของคนไทยเองยังสู้คนต่างชาติไม่ได้” คุณยุทธนาจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยลองปรับมุมมองความคิดใหม่และให้โอกาส Startup ไทยมากกว่านี้ 


เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจในปี 2023

คุณยุทธนาเสริมว่า ธุรกิจที่น่าจับตามองนับแต่นี้ต่อไป คือ “ความยั่งยืน” (Sustainability) เพราะเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ และเริ่มลงมือช่วยกันทำให้เป็นจริง การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรให้อยู่กับโลกเราไปได้นานๆ คือสิ่งที่ทางภาครัฐและเอกชนทั่วโลกกำลังให้การสนับสนุน ที่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องนี้ “นั่นแปลว่าเรายังมีโอกาสในการแข่งขันในเวทีระดับโลก” 

คุณยุทธนาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก Startup สนใจที่จะลงทุนพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล หากภาครัฐให้การสนับสนุนมากกว่านี้ก็น่าจะมีโอกาสเติบโตแข่งขันกับนานาชาติได้ เพราะถึงอย่างไร คนไทยก็มีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนที่ดีอยู่แล้ว 

ในขณะเดียวกัน ต่อให้ธุรกิจของคุณไม่ใช่ธุรกิจด้านความยั่งยืนโดยตรง แต่ Startup และ SME ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันธนาคารหลายแห่งเริ่มใช้ความยั่งยืนมาเป็นปัจจัยพิจารณาในการกู้ เพราะไม่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือโลก 

อีกมิติที่คุณยุทธนาเห็นว่าเป็นโอกาสสำหรับเทรนด์ธุรกิจในอนาคตของไทย คือ “Soft Power” ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร นวดแผนไทย มวยไทย ดนตรี หรือแม้กระทั่งซีรีส์วาย ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ภาครัฐเองก็กำลังพยายามผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เติบโตแข็งแกร่งสร้างเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับคนไทยได้มากกว่านี้

นอกจากนี้ยังมีตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และ ตลาดผู้สูงวัย หรือ คนวัยเกษียณ (Aging Society) ที่ก็น่าสนใจและ Startup หลายรายควรหันมามอง เพราะเป็นตลาดใหญ่และความต้องการกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี


สุดท้ายคุณยุทธนาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ Startup ไทยควรเสริมในยุคนี้ คือ “Resilience” (การล้มแล้วลุกให้ไว) ซึ่งเป็นทักษะที่ดีสำหรับคนทำธุรกิจทุกคน และ ความสามารถในการมองเห็นปัญหาของลูกค้าจากมุมมองของลูกค้าเองให้ออก จนสามารถทำสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นได้ เมื่อ Startup แต่ละรายสามารถพัฒนาสองทักษะนี้จนเติบโตได้แล้ว ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วย เพราะประเทศที่มีแหล่ง GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หลักมาจาก SME คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง 

trending trending sports recipe

Share on

Tags