‘เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องเล่าผู้อพยพแมนฮัตตัน

Last updated on เม.ย. 30, 2020

Posted on เม.ย. 30, 2020

งานวิจัยงานหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ระบุว่าผู้คนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะบ่อยๆ ทุก 2-3 เดือนต่อครั้งหรือมากกว่านั้น พวกเขามีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตช้าลง 31% หากเทียบกับคนที่ไม่เสพงานศิลปะ และการได้ไปโรงละครหรือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพียงครั้งสองครั้งต่อปีทำให้มีความเสี่ยงเสียชีวิตน้อยลงถึง 14%

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์กับศิลปะไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ดังนั้นการเดินชมพิพิธภัณฑ์ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจเป็นเรื่องที่ดีต่อใจของเขา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ ทุกคนทราบกันถ้วนหน้าว่าเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ชีวิตที่เคยเป็นวิถีเดิมต้องปรับเปลี่ยน จากที่เคยอยู่ใกล้กันต้องสร้างระยะห่างทางสังคม หรือจากเมื่อก่อนจะไปสถานที่ไหนๆ บนโลกใบนี้ก็สามารถหมด ขอแค่มีเงินและเวลา แต่ตอนนี้เราต้องพับแพลนเที่ยวเก็บไว้ก่อน 

เช่นเดียวกับการถูกสั่งให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ปิดบริการอย่างไม่มีกำหนดตามมาตรการควบคุมโรคของแต่ละรัฐบาลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ประเทศฝรั่งเศส ที่จัดแสดงภาพ ‘โมนาลิซา’ อันโด่งดัง พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์ (Van Gogh Museum) ศูนย์รวมผลงานของพ่อหนุ่มสีน้ำมันใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว (Tokyo National Museum) ที่ว่าด้วยเสน่ห์ของอาคารโทโยคังและสวนซากุระ ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

การปิดพิพิธภัณฑ์จึงหมายความว่ารายได้จากค่าเข้าชม ตอนนี้เท่ากับเป็นศูนย์ทันที และถ้ายังต้องปิดทำการต่อไปเรื่อยๆ พิพิธภัณฑ์ต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งร้ายแรงจนนำไปสู่การปิดพิพิธภัณฑ์บางแห่งอย่างถาวรแม้จะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

Tenement หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสั่งปิด ส่งผลให้รายได้จากการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หยุดชะงักแน่นอนว่ามันเริ่มสร้างปัญหาต่อพิพิธภัณฑ์ แต่ทว่าผู้คนภายในพิพิธภัณฑ์พยายามระดมวิธีต่างๆ เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาหวังอย่างสุดใจว่า อนาคตข้างหน้าพิพิธภัณฑ์ Tenement ต้องกลับมาเปิดได้อีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ Tenement ถนนออร์ชาร์ดหมายเลขที่ 97, แมนฮัตตัน

อพาร์ทเม้นท์คลาสสิคสีแดงอิฐ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Tenement ขนาบข้างบนถนนออร์ชาร์ด 97 ฝั่งตะวันออกตอนล่างแมนฮัตตัน ย่านดังที่ได้รับความนิยมอย่างมากในนครรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

หากใครเคยรับชมภาพยนตร์สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ น่าจะคุ้นตาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่บ้าง เพราะเป็นต้นแบบบ้านพักเจคอบ (Jacob) เพื่อนมักเกิ้ลของพระเอกนิวท์ สคามันเดอร์ (Newt Scamander) 

พิพิธภัณฑ์ Tenement ก่อตั้งขึ้นปี 1988 โดยการค้นพบตึกแถวทรุดโทรมบนถนนออร์ชาร์ด 97 ที่ถูกบดบังมากว่า 50 ปี จากนักประวัติศาสตร์ อัมบรา (Abram) และนักกิจกรรมทางสังคม จาคอบเซนต์ (Jacobsen) ภายในสิ่งก่อสร้างที่สภาพเกือบจะเป็นซากปรักหักพังนั้น กลับพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ชิ้นส่วนเอกสาร ภาพถ่าย และเฟอร์นิเจอร์ โดยเจ้าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้คือครอบครัวผู้อพยพที่เข้ามาในอเมริการะหว่างปี 1860 ถึง 1930  

จากการค้นพบครั้งนั้นจึงนำไปสู่การบูรณะและกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ Tenement ในที่สุด 

การเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เข้าใจว่ากว่าจะมาเป็นอเมริกา ไม่ได้เกิดมาจากความเป็นอัตลักษณ์เดียว แต่มาจากความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เป็นภารกิจหลักของพิพิธภัณฑ์  Tenement 

โดยให้ความรู้ผ่านการสัมผัสจากสถานที่จริงและถ่ายทอดเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาตามสิ่งที่ค้นพบ เช่น ชีวิตของบริดเก็ต (Bridget) และโจเซฟมัวร์ (Joseph Moore) ผู้อพยพชาวไอริชที่เคยอาศัยอยู่ในอาคารปี 1867 เขาสูญเสียลูกสี่คนในแปดคนไปด้วยความยากจนและโรคภัยไข้เจ็บ หรือชีวิตของครอบครัวชาว Rogarshevskys ที่มีลูกหกคนพักอาศัยอยู่ในห้องพักขนาด 325 ตารางฟุต พ่อแม่พวกเขาทำงานเย็บปักถักร้อย และในวันบวชทางศาสนาคริสต์ชาว Rogarshevskys จะจัดชุดโต๊ะพิเศษสำหรับมื้อเย็นประกอบไปด้วยขนมปัง challah และเชิงเทียนประดับ 

พิพิธภัณฑ์ Tenement ส่งเสริมสังคมด้วยการรวบรวมข้อมูลและให้ความสำคัญกับบทบาทของการย้ายถิ่นฐาน ผู้อพยพ คนลี้ภัย ตั้งแต่เปิดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

‘we are going to do it’ 

‘หากเกิดการสูญเสียพิพิธภัณฑ์ Tenement คงเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ เพราะขณะที่มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของคนรวยที่ว่าด้วยคฤหาสน์ คอลเลกชันศิลปะ และรสนิยมความงาม แต่มีเพียงไม่กี่สถานที่ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของคนจน’
ดวอร์คิน (Dvorkin) บรรณาธิการและผู้อำนวยการนโยบายส่วนกลางเพื่ออนาคตแห่งเมืองกล่าว

หายนะกำลังจะเกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ Tenement เมื่อต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2020 จนถึงปัจจุบัน เพราะการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ Tenement มีงบการจัดการไม่ได้สูงมากอยู่ที่ประมาณ 11.5 ล้านเหรียญดอลลาร์ แต่รายได้มากกว่า 75% มาจากการขายบัตรเข้าชมหน้างานและการขายของที่ระลึก นั่นหมายความว่าตั้งแต่ถูกสั่งปิด พิพิธภัณฑ์ขาดราย 3 ใน 4 ซึ่งเป็นตัวเลขจำนวนมากต่อการจัดการภายในพิพิธภัณฑ์

และเป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าย่านแมนฮัตตันมีมูลค่าพื้นที่สูงที่สุดในนครรัฐนิวยอร์ก ข้อมูลจาก zillow ระบุว่า ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในแมนฮัตตันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,376 ดอลลาร์ต่อตารางฟุต โดยมีหลายเว็บไซต์วิเคราะห์ว่า ถ้าหากใครอยากมาอยู่ที่แห่งนี้จะต้องทำรายได้ต่อปีให้ถึง 6 หลักในค่าเงินดอลลาร์ 

ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ Tenement ก็ยังมีหนี้จำนองอาคารบนย่านแมนฮัตตันนี้เกือบ 9.5 ล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งต้องจ่ายต่อเดือนประมาณ 5 หมื่นเหรียญ และยังต้องจ่ายเงินเดือนพนักงานราวๆ เกือบ 7 แสนเหรียญดอลลาร์

ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงต้องปลดพนักงาน 13 คนออกจากการปฏิบัติหน้าที่ และพนักงานพาร์ทไทม์ 70 คน พนักงานเต็มเวลา 30 คน อนุญาตให้ลาพักงาน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ถึง 70% โดยเงินเดือนพนักงานพาร์ทไทม์และเต็มเวลาถูกลดลงมาประมาณ 7 เท่าจากที่เคยจ่ายตอนนี้เหลืออยู่ที่ 1 แสนเหรียญดอลลาร์

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดต้นทุน และไม่ควรที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้นอีก ผมเชื่อว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งพวกเราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ โวเกิล (Vogel) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เอ่ยขึ้น 

นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์สีแดงอิฐก็พยายามหาเงินเพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการโน้มน้าวใจผู้คนให้มาบริจาคเงินช่วยเหลือ ด้วยวิธีการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ของตนเอง 

‘โปรดช่วยให้พิพิธภัณฑ์รอดชีวิต’

ตัวอักษรสีแดงเข้มเลื่อนไปมาบนหน้าเว็บไซต์ www.tenement.org ทั้งนี้มีเงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาถึง 88,115 เหรียญดอลลาร์ในเว็บไซต์ และได้เข้ามาเพิ่มอีกจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก 20,229 เหรียญดอลลาร์ 

เกลวอร์ก (Gelwarg) และลิบคินท์ (Lipkind) ผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกถนนออชาร์ด 97 ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Tenement ประมาณ 20 ครั้งในปีที่แล้ว ทั้งคู่บอกว่ามีความสุขที่ได้บริจาคเงินหลายพันดอลลาร์ 

‘พวกเราเสพติดการอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มันเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลา’ เกลวอร์กและลิบคินท์กล่าว

ในทุกๆ ปีพิพิธภัณฑ์จะจัดงานกาล่าเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ทว่าปีนี้ต้องยกเลิกงานกาล่าประจำปีออกไป แต่ได้ขอให้ผู้สนับสนุนมีส่วนร่วมในการซื้อตั๋วและโต๊ะเสมือนจริง โดยปกติงานกาล่าจะทำเงินประมาณ 7 แสนเหรียญดอลลาร์ แต่เป้าหมายประจำปีนี้หวังว่าจะได้สัก 2 ล้านเหรียญดอลลาร์

พิพิธภัณฑ์ Tenement ยังได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 2.5 แสนเหรียญดอลลาร์จากกองทุนตอบสนองและผลกระทบกองทุนโควิด-19 ของ New York Community Trust (สนับสนุนโดยมูลนิธิเช่น Bloomberg, Carnegie และ Ford) และยังได้สมัครขอกู้เงิน CARES Act จากการบริหารธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐอเมริกาด้วย

แม้ในขณะที่ต้องพยายามหาทางออกทั้งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้จากส่วนอื่นๆ แต่พิพิธภัณฑ์ Tenement ก็ยังให้ความสำคัญในหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์ต้องพึงปฏิบัติ คือ การเป็นศูนย์รวมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้อพยพในอเมริกา พวกเขาต้องพัฒนาเว็บไซต์บนโลกออนไลน์ให้มีเนื้อหาเสมือนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของจริงควบคู่ไปด้วย เช่น ข้อมูลชีวิตและความตายที่ตึกแถวว่าด้วยโรคระบาดในอดีต โรคอหิวาตกโลก โรคไข้เหลือง โรควัณโรค และโรคเอดส์ 

สุดท้ายนี้คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่? และจะสร้างผลกระทบอีกมากขนาดไหน? แต่ที่เรารู้ คือ วินาทีนี้มีผู้คนไม่ยอมแพ้และยังออกมาต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด อย่างน้อยที่สุดก็คือ พิพิธภัณฑ์ Tenement

“เราอาจต้องทำออนไลน์ เราอาจต้องพึ่งพาการบริจาคแทนรายได้ เราอาจต้องเลิกจ้างพนักงาน แต่เพื่อให้พิพิธภัณฑ์คงอยู่ เราก็จะทำ” โวเกิลทิ้งท้าย

เรื่อง : รชา เหลืองบริสุทธิ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

อ้างอิง :
nytimes.com/2020/04/21/arts/design/tenement-museum-coronavirus.html?action=click&module=Well&pgtype=Homepage&section=Art%20%20Design
tenement.org
zillow.com/manhattan-ny/home-values/
investopedia.com/articles/personal-finance/012315/how-expensive-new-york-city-really.asp
edition.cnn.com/style/article/art-longevity-wellness/index.html
muggle-v.com/25446

trending trending sports recipe

Share on

Tags