จี – จีระวุฒิ เขียวมณี กับการทำหนังสือเพื่อตอบคุณค่าการมีชีวิตของคนอ่าน

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on ธ.ค. 8, 2021

ชวนเสวนากับนักทำหนังสือผู้ที่ทำหนังสือมาเกินครึ่งชีวิต ในบทความที่จะพาคนอ่านมาซึมซับชีวิตการทำหนังสือ พร้อมเรียนรู้วิธีการทำงานที่รักให้ตอบทั้งในเรื่องของรายได้ และตอบทั้งเรื่องของความรู้สึกทางจิตวิญญาณ ผ่านประสบการณ์ที่ตกผลึกอย่างงดงามของแขกรับเชิญคนพิเศษของ The Key Message คุณ จี – จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหาร แห่ง ‘Biblio’ สำนักพิมพ์ที่อวลไปด้วยหนังสือที่โอบกอดความอ่อนไหวในระหว่างการมีชีวิต


ในยุคที่คนพากันไปอยู่บน online และเศรษฐกิจไม่ดี ทำไมถึงเราถึงตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมา?

ด้วยความที่ผมเองก็ทำงานอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน เคยทำนิตยสารมาก่อน เนื้อหาของคอนเทนต์หลายๆ อย่างที่เราทำมันก็ลงเว็บไซต์ด้วยเหมือนกัน มันก็ไม่ได้ลงแค่นิตยสาร เราเองพอมองเห็นการวิวัฒน์ของคอนเทนต์ที่มันดำเนินมาตั้งแต่สิบปีที่แล้วจนถึงวันนี้ เรายังถึงคิดว่าพ็อคเก็ตบุ๊คหรือว่าตัวหนังสือ มันยังเป็นธุรกิจที่ไปได้

จริงๆ แล้ว คนมักจะถามผมหลายครั้งว่าหนังสือตายแล้วสิ่งพิมพ์ตายแล้วทำไมเรายังถึงลงไปจับเอามาทำอยู่ ซึ่งผมก็บอกทุกๆ คนไปอีกครั้งว่า จริงๆแล้ว ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังไม่เคยตายนะ จริงๆ แล้วแทบจะไม่เคยตายไปจากไหนด้วย ร้านหนังสือเองก็ยังแข็งแรงอยู่ ร้านหนังสือที่เป็น Chain store หลักๆ ทั้ง SE-ED, นายอินทร์, B2S หรือว่ากระทั่ง Kinokuniya หรืออีกร้านหลายๆ ร้านก็ยังแข็งแรง แล้วก็มีฐานลูกค้าประจำของเขารองรับอยู่เหนียวแน่น คือถ้ามองว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ตายไป ร้านหนังสือก็คงไปก่อนอันดับแรก แต่จริงๆ ร้านหนังสือก็ยังอยู่ได้ แปลว่ามันยังมีหนังสือที่ยังขายได้อยู่ แล้วเราก็มองว่าถ้าร้านหนังสือตายจริง ทำไมเราถึงยังเห็นร้านค้าปลีกย่อยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งร้านค้าออนไลน์เอง หรือว่าร้านหนังสือเล็กๆ ที่มาทำธุรกิจออนไลน์ด้วย หรือร้านหนังสือออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบอย่าง Readery ทำไมถึงยังเกิดขึ้น ก็เลยมองว่าในภาพรวม ความเข้าใจของคนอาจมองว่าคอนเทนต์มันไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์หมด แต่จริงๆ แล้ว เวลาที่คนอยากจะอ่านอะไรจริงจัง อยากจะอ่านอะไรที่มันเป็นข้อมูลเชิงลึก จริงๆ เขาก็ต้องมาหาจากหนังสือนะ เปิดจากหนังสืออ่าน หรือว่าพูดแบบโลกสวยหน่อยก็คือ หนังสือมันยังมอบประสบการณ์แบบที่แพลตฟอร์มออนไลน์ยังมอบให้ไม่ได้ เป็นการที่เราวางเทคโนโลยีทุกอย่างลงเพื่อมาจับหนังสือแล้วก็มีสมาธิไปกับมัน

การอ่านหนังสือมันก็เหมือนเป็นการบำบัดตัวเราเองจากเทคโนโลยีด้วยเหมือนกัน ในทางเดียวกันหนังสือเองก็ยังมอบความรู้ มอบจินตนาการหรือยังมอบผลผลิตทางความคิดใหม่ๆ ให้กับคนอ่านได้อย่างไม่หยุดหย่อนด้วย เราก็เลยยังมั่นใจว่าหนังสือยังไม่ตายไปแน่นอน


การกำหนดแบรนด์ของ ‘Biblio’

จริงๆ แล้ว บรรณาธิการบริหารหรือว่าคนทำหนังสือในยุคใหม่ๆ ผมว่าแต่ละท่านเองก็มองเห็นว่า เวลาเราทำหนังสือหรือว่าทำแบรนด์ออกมาที่เกี่ยวกับหนังสือ เราสะท้อนความเป็นตัวเองไปด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกปัจจัยที่สำคัญ คือการมองเทรนด์ของคนอ่านว่าเขากำลังชอบอะไร หรือกำลังค้นหาอะไรอยู่ ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้เป็นสิ่งที่อธิบายออกมาได้เป็นเปเปอร์ให้เราได้อ่านกันเป็นข้อๆ มันไม่มีใครมาสรุปให้เราเป็นข้อๆ ว่า คนอ่านกำลังต้องการอะไร มันเป็นการที่เราต้องเข้าไปอยู่ในกระแสของคนอ่านจริงๆ เพื่อที่จะได้ศึกษาว่าตอนนี้นิยายแปลญี่ปุ่นกำลังได้รับความสนใจนะ หรือหนังสือ non-fiction ที่เกี่ยวกับเรื่ององค์ความรู้ที่เชื่อมโยงเรากับโลกและสังคมกำลังได้รับความสนใจ เราก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็พยายามที่จะนำเสนอเนื้อหาในแนวทางนี้ออกมา โดยผ่านแบรนด์ที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นมิตรกับคนอ่านตลอด


ตอนที่ผม set identity ของ Biblio คือเรามองว่า Biblio มันคือการสร้างประสบการณ์ร่วมกัน ระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่าน เพราะว่าขณะที่เราเองทำหนังสือ เราก็คิดถึงคนอ่านอยู่ตลอดว่าเขาน่าจะชอบหรือไม่ชอบอะไร ขณะที่คนอ่านเองเขาอาจจะมีความรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันกำลังจะบอกเล่าอะไรกับเขา 

Biblio มันคือสิ่งที่เราทำขึ้นมาเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเราก็มองว่า Biblio มันก็คือการที่เรากลับไปหาจุดต้นกำเนิดของการทำหนังสือเล่มนึงขึ้นมา ก็คือการคัดเลือก การใส่ใจ แล้วก็การนำเสนอ แล้วก็การบอกกล่าว สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เราพยายามที่จะยึดถือไว้ในการทำหนังสือแต่ละเล่มของเรา มันก็เลยเกิดความเป็น Biblio ขึ้นมา 


นิยามของแต่ละคนอาจจะมองว่า Biblio มันคือร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ที่เหมือนร้านหนังสือ หรืออาจจะเป็นร้านขนมปังที่ทำหนังสือก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นร้านกาแฟหรือโฮมสเตย์ที่มีหนังสือที่น่าสนใจให้อ่าน หรือจะเป็นบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งที่มีแต่หนังสือที่อบอุ่นใจเต็มไปหมดก็ได้ คือมันเป็นไปได้หมดเลยตามความรู้สึกของคนอ่าน เพียงแต่ว่าหลักที่เรายึดถือกก็คือการใส่ใจ การคัดเลือก การบอกกล่าวก็คือสิ่งที่เราพยายามที่จะร้อยเรียงกระบวนการแต่ละ process ตรงนี้ให้มันต่อเนื่องเป็นไดนามิกเดียวกัน คนอ่านก็จะรับรู้ได้ ส่วนการตีความนั้นเราให้อิสระคนอ่านเต็มที่ในการจะนิยาม


เกณฑ์การคัดเลือกหนังสือของ Biblio คืออะไร?

มันไม่มีสูตรนะ ไม่เหมือนเกมเพลย์ที่เราเล่นๆ แล้วกดสูตรติดแล้วมันก็เกิด powerup ผ่านด่านนั้นได้ คือหนังสือเล่มนึงเนี่ย การคัดเลือกของเราเนี่ยค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับว่า ถ้าเราเลือกหนังสือเล่มนี้มามันจะตอบโจทย์ทางความรู้สึกหรือทางอารมณ์ทางสังคมของคนอ่านในเวลานั้นยังไง เช่น ตอนที่เราเซ็ต Biblio ขึ้นมา เราก็นึกถึงว่ามันน่าจะมีนิยายญี่ปุ่นแนว feel good หรือจะเรียกว่านิยายที่มีแง่มุมมีรายละเอียดที่ให้ความหวังกับการมีชีวิตอยู่ ผมรู้สึกว่า

ตรงนี้คือจุดที่สำคัญของคนอ่านในยุคนี้ คือเขาต้องการเหตุผลในการจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ในการที่เขาจะตื่นเช้าขึ้นมา แล้วลุกขึ้นไปใช้ชีวิตทำงานแล้วก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้อย่างที่มันควรจะเป็น

มันจะมีนิยายหลายๆ เล่มที่มีคุณค่าเล็กๆ บางอย่างซ่อนอยู่ มันอาจจะต่างจากหนังสือปรัชญาอย่างที่เราทำมาก่อน เพราะมันจะต้องชัดเจนในการบอกเล่าเรื่องราวแบบนี้อยู่แล้ว พอเป็นนิยายปุ๊บ เราจะหาคุณค่าที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอันดับแรก อันดับต่อมาก็คือเค้าโครงหรือพล็อตเรื่องที่มันน่าสนใจ น่าสนุกในการที่จะบอกเล่า คือถ้านิยายมันบอกเล่าแบบตรงไปตรงมา ชีวิตที่ดีควรเป็นอย่างนี้หนึ่งสองสามสี่ คนก็คงจะไม่สนใจ แต่ว่าถ้ามันถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวที่มันอาจจะแฟนตาซีบ้าง หรือเรื่องราวที่เป็นชีวิตคนจริงๆ บ้าง อย่างขนมปังของพรุ่งนี้แกงกะหรี่เมื่อวันวาน มันเป็นเล่มที่เราค่อนข้างชอบมาก เพราะเรารู้สึกว่าคนที่ได้อ่านหลายคน เขาสามารถที่จะเก็บรายละเอียดในแต่ละมุมที่มัน touch กับพื้นฐานประสบการณ์ชีวิตของเขาได้ บางคนก็ touch กับเรื่องที่เขาสูญเสียกับคนที่รักไป บางคนก็ touch กับความมีครอบครัว ที่ไม่ได้สมบูรณ์​ หรือบางคนก็ touch กับความเป็นมิตรภาพบางอย่างที่สอดแทรกอยู่กับหนังสือเล่มนั้น

ตราบใดที่เรายังรักษาเรื่องของคุณค่าการมีชีวิตในนิยายที่เราทำ เรารู้สึกว่าคนอ่านเองก็จะน่าจะให้ความสนใจ

แล้วก็ส่งต่อไปในทางที่ว่า มันจะประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขายไหม ในฐานะคนทำ เราหวังอยู่แล้วว่ามันน่าจะประสบความสำเร็จด้านยอดขาย แต่มันไม่มีสูตรกะเกณฑ์ได้เลยว่ามันจะขายได้เท่านั้นเท่านี้แน่ๆ มันไม่มีสูตรแบบนั้นเราเลยต้องใช้วิธีว่าเราต้องทำงานหลังบ้านให้ละเอียดที่สุดก่อน แล้วก็ค่อยมาวางแผนเรื่องการตลาด การขายอีกทีนึง


มาตรฐานการทำหนังสือของ Biblio คือการทำหนังสือให้ตอบคุณค่าชีวิตของคนอ่าน?

ส่วนหนึ่งเป็นแบบนั้นเลย เพราะเรารู้สึกว่า เราต้องอ่านความต้องการของคนด้วยว่าเขากำลังต้องการอะไร ในนิยายทุกๆ เล่มมันต้องมีพล็อตเรื่องมีเค้าโครงที่สนุกแตกต่างกันไป บางเรื่องพล็อตหวือหวามาก บางเรื่องพล็อตเรียบง่าย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คุณค่าเหล่านี้มันต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในนิยายเล่มนึง เพราะฉะนั้นคนอ่านก็จะรู้สึกว่าพออ่านจบแล้วเขาจะได้อะไรจากนิยายเล่มนี้ไป เพราะฉะนั้นเราเลยค่อนข้างให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหนังสือที่เราทำด้วย

มันอาจจะมีงานของนักเขียนดังบ้างที่เราเลือกมาทำ แต่ว่าในหลายๆ เล่มจะเป็นนักเขียนที่คนไม่ค่อยรู้จักมาก แต่มันมีคุณค่าบางอย่างมันมีความน่าสนใจจริงๆ บางอย่างที่สอนอยู่ในนั้น เราก็เลยอยากหยิบยกมาทำ และนำเสนอกับคนอ่านให้เขาได้ลองดูสิ ลองชิมขนมปังชิ้นนี้ดู แล้วคุณอาจจะรู้สึกถึงรสชาติอะไรบางอย่างที่สอดแทรกอยู่ในนั้นได้


อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการทำหนังสือสักเล่ม

ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมมองว่าการคัดเลือกต้นฉบับเป็นส่วนที่ยากที่สุด วันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ แต่พอมาถึงยุคนี้ การทำให้หนังสือเล่มนั้นมันโดดเด่นออกมาจากแผงหนังสือหรือแม้กระทั่งบนมือถือของเรา มันก็เป็นงานอีก step นึงที่ยากไม่แพ้กัน

เราจะทำยังไงให้หนังสือของเราได้รับการมองเห็นจากคนทั่วๆไป ทำให้มันโดดเด่นพอเป็นที่จดจำได้ ตรงนี้ที่เป็นกระบวนกันที่มันยากขึ้น เราก็ต้องทำงานร่วมกับทั้งฝ่ายโปรดักชั่นทั้งการทำคอนเทนต์โปรโมตหนังสือ และการออกแบบปกออกมาให้น่าสนใจที่สุด แล้วก็ในส่วนของการจัดจำหน่ายหน้าร้าน ที่ต้องร่วมมือกับตัวแทนจัดจำหน่าย 


หลังจากที่ Biblio ดำเนินมาเกือบ 2 ปี คิดว่า Biblio มาถูกทางแล้วหรือยัง

ต้องบอกว่าเราเลือกทางนี้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเราจะมาในทางไหน พอเรา set สำนักพิมพ์ขึ้นมา สำนักพิมพ์ย่อย เรามองออกแล้วว่าเราจะไปใน way นี้แน่ๆ เพียงแต่ว่าทางที่เราไป มันไม่ใช่ทางเรียบ พอคุณเดินทางเรียบมาได้ระดับนึงแล้ว มันจะมีทางชันแล้ว มันจะไม่ง่ายเหมือนปีแรกแล้ว มีคู่แข่งมากขึ้น มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเหมือนกัน เพื่อที่จะตามคนอ่านทัน คือผมพยายามย้ำตรงนี้กับทุกคนเสมอว่า เราไม่ได้ทำหนังสือเพื่อให้เราอ่านแล้วสบายใจอย่างเดียวนะ โอเคแหละมันต้องมี passion สำหรับคนทำหนังสือ เราต้องมีความรักความชอบในการทำหนังสือเล่มนั้นออกมา ไม่งั้นมันก็คงไม่ออกมาดี

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เราก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปความเปลี่ยนแปลงของคนอ่านด้วย โลกมันเปลี่ยนไปถึงไหนแล้ว คนกำลังโหยหาเรื่องราวแบบไหน โหยหาความเรียงแบบไหน โหยหานิยายแบบไหน

เราต้องศึกษาคนอ่านอยู่เป็นระยะเหมือนกัน พูดง่ายๆ มันก็เหมือนการตามเทรนด์แฟชั่น ทำไมพวกดีไซน์เนอร์ถึงคาดการณ์ได้ว่าปีหน้าเราจะฮิตสีนี้ เสื้อผ้าแบบนี้กำลังจะมา คำว่ากำลังจะมาถ้าพูดถึงวงการหนังสือ มันก็คือการมองแหละว่านิยายแบบไหนที่น่าจะเป็นที่ได้รับความสนใจใน 5 หรือ 6 เดือนข้างหน้า พราะเวลาเราทำหนังสือแต่ละเล่มเราไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วออกพรุ่งนี้เลย มันใช้เวลา 5-6 เดือนเป็นอย่างต่ำ กว่าที่หนังสือเล่มนึงจะออกมา 5-6 เดือนตรงนั้นมันเป็น curve ที่เราต้องคาดคะเนล่วงหน้าให้ได้ว่ามันจะบิดไปทางไหน เปลี่ยนแปลงไปทางไหน เราก็ต้องซื้อหนังสือที่เรามองอนาคตไปด้วย ว่าหนังสือเล่มนี้ในอีก 5-6 เดือนหน้า พอมันออกมาแล้ว มันจะได้รับความสนใจอยู่ มันเป็นการที่เราต้องคิดตรงนั้นพร้อมกันไปด้วย passion อย่างเดียวมันไม่พอ


ยุคที่ท้าทายสำหรับคนทำหนังสือ แต่คนอ่านได้กำไร

ความท้าทายในแง่ที่ว่า คนอ่านเองก็เปลี่ยนโจทย์ของตัวเองทุกครั้งเหมือนกัน ถ้าเขาอ่านนิยายประมาณนี้มาจนอิ่มตัวแล้ว เขาก็ต้องโหยหาอะไรใหม่ๆ เขาอาจจะยังไม่แน่ใจหรอกว่า อะไรใหม่ๆ มันคืออะไร มันก็เป็นโจทย์ของสำนักพิมพ์แล้วว่า เราจะต้องไปหาอะไรใหม่ๆ มาเสนอคนอ่านให้ได้ เพราะมันเป็นหน้าที่ของเราที่เราต้องหาหนังสือที่มันน่าจะตอบโจทย์คนอ่านในเวลานั้นออกมา มันก็เลยไม่ได้ท้าทายแค่ Biblio อย่างเดียว มันก็ท้าทายทุกสำนักพิมพ์ แล้วผมก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการนี้ตรงที่หลายสำนักพิมพ์ก็หันมาให้ความสำคัญในการคัดเลือกหนังสือแล้วก็ให้ความสำคัญในการนำเสนอหนังสือของตัวเองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีของอุตสาหกรรมนี้ที่เราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้อยู่ เพราะแต่ละคนก็ทำการบ้าน ทำงานหนัก พยายามงัดของดี ที่ตัวเองมีอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งผลประโยชน์มันก็จะตกไปสู่คนอ่าน


หนังสือของ Biblio เป็นอะไรสำหรับคนอ่าน?

หนังสือทุกๆ เล่ม มันทำหน้าที่เป็นจิ๊กซอว์ในการเติบโตของคนคนนึง เพียงแต่ว่าจะเติบโตในมุมไหน ในมิติไหนแค่นั้น อาจเป็นการเติบโตทางอารมณ์หรืออาจจะเป็นการเติบโตทางความคิด หรืออาจจะเป็นการเติบโตทางเรื่องประสบการณ์ชีวิตก็ได้

เวลากำลังจะเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยนึงไปสู่อีกวัยนึง เราต้องการรอยต่อ เราต้องการทางเชื่อม ต้องการสะพานเล็กๆ อันนึงที่เราจะเชื่อมตัวเราเองไปสู่อีกจุดนึงได้ บางคนก็เดินทางท่องเที่ยว บางคนก็ดูหนัง หรือทำอะไรก็ตามแต่ บางคนก็ใช้เวลากับการอ่านหนังสือ และเรามองว่าหนังสือที่เราทำออกมา มันเหมือนเป็นสะพานเล็กๆ ที่เชื่อมคนอ่านให้เขาก้าวจากวัยนึงมาสู่อีกวัยนึงได้ 

ซึ่งในหนังสือแต่ละเล่มก็จะทำงานกับคนที่ช่วงอายุวัยที่แตกต่างกันออกไป อย่างเราทำนิยายเรื่องปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ มันอาจจะเป็นทางเชื่อมเล็กๆ ของคนที่ไม่เคยเข้าสู่วงการมาก่อน ไม่เคยรู้จักหนังสือของนักเขียนดังๆ มาก่อน แล้วเขามาเริ่มจากเล่มนี้ บางทีเขาอาจจะอยากไปอ่านงานของคนอื่นๆ ต่อจากนี้ก็ได้ ซึ่งเราก็มองว่าหนังสือทุกเล่มเป็นทางเชื่อมเล็กๆ เสมอในการที่จะพาคนอ่านจากจุด a ไป จุด b แล้วจากจุด a ไปจุด b นั้น มันก็คือความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นในทางใดทางหนึ่ง 

อย่างหนังสือ the why cafe คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง ถ้าในมุมมองของนักอ่านที่เจนโลกเจนการอ่านหนังสือมาแล้ว มาอ่านเล่มนี้ก็อาจรู้สึกว่ามันเล็กจัง มันไม่ได้มีจุดใหญ่ใจความอะไรที่จะทำให้เขารู้สึกเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่สำหรับคนที่อายุประมาณยี่สิบต้นๆ หรือคนที่กำลังจะเติบโตจากวัยรุ่นเป็นคนหนุ่มสาว คนที่กำลังตั้งหลักหาเส้นทางที่ตัวเองกำลังอยากจะก้าวออกไป หรือยังมีความกลัวที่จะก้าวออกไปจากคอมฟอร์ทโซนเดิมๆ ของตัวเอง นักอ่านบางคนที่เขาอ่านเล่มนี้ แล้วส่งข้อความมาหาเราว่า หนังสือเล่มนี้มันทำให้เขากล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตเขามากขึ้น ซึ่งที่เราบอกอย่างนี้ เราไม่ได้บอกว่า the why cafe คือหนังสือที่ดีที่สุดนะ แต่เราหมายถึงว่าหนังสือทุกๆ เล่มจะทำหน้าที่แบบนี้กับคนอ่าน ไม่ว่าจะหนังสือของ Biblio หรือหนังสือของสำนักพิมพ์ไหนก็ตาม

ณ จุดใดจุดนึงจะทำหน้าที่แบบนี้ได้กับคนอ่าน เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วสำหรับหนังสือเล่มนั้น ในเรื่องของคุณค่าที่เรามอบให้ไป


เสน่ห์ของการทำงานหนังสือ จากการที่ทำสิ่งนี้มาเกินครึ่งชีวิต

เคยไปเดินงานหนังสือใช่ไหมครับ เราโตมากับการเป็นคนอ่าน เราเป็นทั้งคนขายและคนอ่านในเวลาเดียวกัน

เวลาเรามาออกงานหนังสือ เราจะมองเห็นคนอ่านทั้งหมดเลย คนอ่านที่ผ่านหน้าบูธเราเขาเป็นเป็นคนยังไง เขาคิดยังไง เขารู้สึกอะไร กระทั่งว่าเขามีปัญหาชีวิตเรื่องอะไร บางทีเราก็รับรู้ได้จากการขายหนังสือข้างหน้าเหมือนกัน

บางทีเขาก็บอกมาเลยว่าเขากำลังเจอปัญหาแบบนี้อยู่ มีหนังสือเล่มไหนที่น่าจะช่วยเขาได้บ้าง เขาก็ถามแบบนี้เลย เหมือนเป็นเภสัชเลยตอนนั้น คือเหมือนต้องจัดยาให้เลยมา โอเค ประมาณนี้ใช่มั้ยครับ งั้นเอาเล่มนี้ไปอ่าน มีปัญหาเรื่องโลกส่วนตัวใช่มั้ย เอาเล่ม introvert ไปอ่าน เผื่อจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งมันก็คือการที่เราได้สัมผัสกับคนอ่านอย่างใกล้ชิด ในฐานะคนทำหนังสือ แล้วเราก็เห็นว่าสิ่งตรงนี้แหละ ประสบการณ์ร่วมกันตรงนี้ การได้ sharing อะไรบางอย่างต่อหน้า มันทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์ที่ยังทำให้เรายังอยู่กับตรงนี้มาได้ตลอด คือหลายครั้งนะมันก็มีในระหว่างที่ผมทำสำนักพิมพ์ เคยคิดเหมือนกันว่า เบื่อและ เริ่มเบื่อและ ไปทำอย่างอื่นดีไหม ไปทำอาชีพอื่นดีมั้ย แต่สุดท้ายปีต่อไปเราก็กลับมาออกบูธ มาจัดงานหนังสือ มาเจอคนอ่าน ทำหนังสือออกมาอยู่ดี คือมันเหมือนกับว่าพอเราได้ลองคิดว่าเราจะไปทำอย่างอื่นต่อไปข้างหน้า ยังไงบ้าง สุดท้ายมันก็วกกลับมาที่เรื่อง เออ น่าจะทำเป็นหนังสือเล่มนี้ออกมาแฮะ น่าจะหาหนังสือแนวนี้กลับมาแทน มันก็วนลูปกลับมาที่เดิมว่าสุดท้ายแล้วเราก็หนีไม่พ้นการที่อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเรื่องการทำหนังสือออกมา ซึ่งมันก็วนเวียนกับชีวิตผมมาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งมันก็จะไม่เคลื่อนไปไหนง่ายๆ แน่ อีกอย่างนึงเราเองก็ยังมีความสุขนะ 

มันไม่ได้เป็นความสุขแบบความสุขล้นปรี่อะไรขนาดนั้น แต่มันเป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงให้เรายังทำงานสายนี้ได้ ความสุขที่ว่าก็เกิดจากการที่เราเห็นคนอ่านเขามีปฏิสัมพันธ์กับหนังสือที่เราทำ มีความรู้สึกที่เขาถ่ายทอดออกมา เวลาที่เขาได้จับต้องหนังสือของเรา เวลาที่เขาพูดถึง หรือเป็นคำติคำชมก็ได้ คำติเราก็ฟังทุกอัน มันก็เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงเราเหมือนกัน ว่าเราก็ต้องแก้ไข ต้องทำสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับคนอ่าน มันก็เป็นพันธะที่เราผูกพันกันอยู่ และมันคงยังดำเนินอย่างนี้ไปอีกหลายปีเลยแหละ จนกว่าคนอ่านจะเบื่อเราไปซะก่อน


รางวัลที่ดีกับหัวใจที่สุดในฐานะคนทำหนังสือ

การที่คนอ่านส่งเสียงเล็กๆ ข้อความเล็กๆ บอกกับเราว่าหนังสือที่เราทำมันช่วยให้เขาคลี่คลายตัวเองได้ยังไง หรือทำให้เขากล้าตัดสินใจกับชีวิตได้ยังไง ทำให้เขารู้สึกอยากกลับไปทบทวนเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คนที่แวดล้อมในชีวิตเขายังไง ถ้าเรามองเรื่องการทำธุรกิจ การทำหนังสือมันก็คือการทำให้หนังสือมันขายได้ หล่อเลี้ยงบริษัทได้ อะไรก็ตามแต่ มันทำให้เราอยู่ได้ในเชิงกายภาพ

แต่ในเชิงจิตวิญญาณในเชิงจิตใจเราเนี่ย สิ่งที่มันทำให้เราอยู่ต่อได้จริงๆ ก็คือมันมีคนที่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังนำเสนออยู่ สัมผัสได้ในสิ่งที่เรากำลังนำเสนออยู่ แล้วก็สิ่งที่เรานำเสนอไปมันมีประโยชน์กับเขาจริงๆ

เราไม่อยากทำหนังสือที่มันไม่มีคุณค่าอะไรกับเขาเลยออกไป เราพยายามจะทำหนังสือที่อย่างน้อยคุณค่าอาจจะไม่ใหญ่โตมาก แต่มันต้องเป็นส่วนที่สำคัญพอที่จะทำให้เขา คนอ่านที่เขาสัมผัสถึงได้ เขาสามารถที่จะไปต่อได้ในทางใดทางนึง อันนี้ถามว่าเป็นรางวัลมั้ย

ผมว่ามันเป็นคำชมที่ไพเราะที่สุด ในฐานะที่คนที่ทำงานหนังสืออยากจะได้ยิน


ฟัง The Key Message Podcast EP.7 - 'สิ่งที่หล่อเลี้ยงคนทำหนังสือ คือการตอบคุณค่าการมีชีวิตของคนอ่าน' ย้อนหลังได้ที่
🖥️ YouTube: https://youtu.be/XJNXb8QaM6M
🎧 SoundCloud: https://bit.ly/31u8JnH
🎧 Spotify: https://spoti.fi/3DlGAfu
🎧 PodBean: https://bit.ly/3djeB5E
🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3rye743
trending trending sports recipe

Share on

Tags