Stagflation คืออะไร ทำไมเงินถึงเฟ้อและฝืด พร้อมกันได้

Last updated on ก.พ. 1, 2022

Posted on ม.ค. 14, 2022

ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินแค่คำว่า เงินเฟ้อ (inflation) หรือเงินฝืด (deflation) กันมาโดยตลอด แล้ว คำว่า ‘Stagflation’ คืออะไร แล้วมาจากไหน ลองมาทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นกัน

หลังจากที่มีการประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED (The Federal Reserve) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ อย่างเป็นทางการ บรรดาธนาคารกลางหลายๆ ประเทศต้องหามาตรการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อกันยกใหญ่ ทว่าเมื่อหันมามองบ้านเรา กลับพบปัญหาอื่นที่มากกว่าเรื่องเงินเฟ้อ เพราะ “เงินฝืด” ก็กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เนื่อจากสินค้ามีราคาสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ แต่คนส่วนใหญ่กลับมีปัญหาว่าเงินไม่พอจ่าย

คำว่า ‘Stagflation’ จึงนิยามถึง ปรากฏการณ์ที่ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน จนทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ “ชะงักงัน”


แล้วเราเข้าสู่ภาวะ ‘Stagflation’ กันได้อย่างไร?

สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ไม่ต่างอะไรกับภาวะหลังสงครามโลก ทั้งปัญหาการเกิดขึ้นของโรคระบาดครั้งใหญ่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้สภาวะเศรษฐกิจไม่เพียงแค่ชะลอตัว แต่กลับหยุดชะงัก มาตรการล็อกดาวน์และการห้ามการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้ธุรกิจหลักของไทยอย่าง การท่องเที่ยวโดนแช่แข็ง ส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสเงินสดหายไปจากระบบ พร้อมกันนั้นสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีราคาสูงขึ้นด้วย ไม่ว่าจะสินค้าพลังงาน, เหล็ก, สินค้าเกษตร หรือ ปศุสัตว์

ซึ่งการที่ราคาของสินค้าเหล่านี้พุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก และต้นทุนของสินค้าก็ย่อมสูงขึ้นตาม ตามด้วยประเด็นการจัดการอุปทานต่างๆ ภายในประเทศ เช่น ปัญหาปริมาณหมูในตลาด และปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็ยังส่งผลต่อการสะดุดของ Supply Chain เนื่องจากหลายโรงงานปิดตัวทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามรอบปกติ

แม้ในความเป็นจริง ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจของไทยนั้นกลับสวนทาง เพราะเราเติบโตตามประเทศอื่นไม่ทัน จนเกิดเป็นภาวะ Stagflation อย่างที่เห็นในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม Stagflation อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกภาคส่วน เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน (K-Shaped Recovery) ธุรกิจบางประเภท อาทิ ภาคอุตสาหกรรมส่งออก ภาคการเงิน หรือ ภาค ICT เริ่มมีการเติบโตกลับมาแล้ว ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว และการบริการ ส่วนมากยังไม่ฟื้นตัวดี

สิ่งที่น่าเป็นห่วง จึงเป็นคนส่วนมากที่ได้รับผลกระทบจาก Stagflation ซึ่งก็คือ กลุ่มชนชั้นกลางและล่าง ที่นอกจากรายได้จะเท่าเดิมหรือน้อยลงแล้ว ยังต้องควักเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่สูงขึ้นด้วย จึงไม่แปลกที่วาระนี้กำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติ


‘แนวทางในการแก้ไขคืออะไร?’

โดยปกติแล้ว หากเกิดภาวะเงินฝืด วิธีกาiแก้ไขก็คือ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ในขณะที่การแก้ภาวะเงินเฟ้อ นั้นคือ การเอาเงินออกจากระบบ ไม่ว่าจะโดยการออม หรือ การควบคุมระดับราคา แต่รัฐบาลจะทำอย่างไรเมื่อภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

การแก้ปัญหา Stagflation จึงถือเป็นเรื่องยากและท้าทายมากถึงมากที่สุด เพราะการแก้ปัญหาในระดับมหภาค โดยไม่ได้มองระดับจุลภาคเลย ก็อาจจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์โดมิโน่ที่เชื่อมถึงกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ในตอนนี้มีปัญหาหมูแพง ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคอื่นๆ ราคาสูงตาม หากรัฐแก้ปัญหาโดยการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ แล้วผู้ประกอบการในไทยจะทำอย่างไรกับหมูตัวเอง ขณะที่ต้องแบกรับภาระด้านการดูแลโรคระบาดในหมูไปด้วย พร้อมกับขายหมูก็ไม่ได้ นอกจากนี้หากปล่อยให้มีปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อเรื่องของค่าแรง ซึ่งก็จะเกิดปัญหา Wage/Price Spiral (ค่าครองชีพสูง – ค่าแรงสูงตาม) ตามไปอีก

ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่ออกมาเตือนว่าประเทศไทยจะเกิด Stagflation ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว และหลายๆ คนก็ได้ออกความเห็นว่ารัฐควรจะเตรียมตัวจัดการเรื่องนี้ด้วยการออกนโยบายการคลังมาบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่ก็ยังไม่มีใครเอาเรื่องนี้มาใส่ใจจริงจังมากนัก เพราะช่วงปีที่แล้วสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง จนกระทั่งมาเจอกับไวรัสสายพันธ์ุใหม่ที่โผล่มาช่วงจังหวะที่ไทยกำลังจะเปิดประเทศพอดี

การคาดการณ์ที่ดีที่สุดในตอนนี้ ต่อการที่ประเทศจะสามารถพ้นจากสภาวะนี้ได้ ก็คือ การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินในทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการที่กำลังรอโอกาสจะได้ลืมตาอ้าปาก รวมถึงภาคการลงทุนจากต่างประเทศ

แต่แน่นอนว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่ประชาชนทั่วไปมองเห็น และผู้ที่สามารถออกมาตรการนโยบายการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งหากเศรษฐกิจภายในประเทศ ถูกปล่อยให้เติบโตอย่างเชื่องช้าแบบนี้ต่อไป ประชาชนทุกภาคส่วนในฐานะที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ คงจะต้องรอลุ้นกันต่อไปว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาที่แสนจะท้าทายนี้ต่อไปอย่างไร


ที่มาของข้อมูล


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

trending trending sports recipe

Share on

Tags