วิธีรับมือชาวโซเชียล เปลี่ยนผู้ติดตามมาเป็นลูกค้าและแฟนตัวยง

Last updated on เม.ย. 1, 2024

Posted on พ.ย. 17, 2020

ปี 2021 จะเป็นปีที่เหล่า ‘นักสร้างคอนเทนต์’ และ ‘นักการตลาด’ ต้องเจอความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงยิ่งต้องแตกต่าง สร้างสรรค์ ใส่ใจคำพูด เปิดกว้างรับฟัง และรู้จักเป็นนักจัดการความสัมพันธ์ที่ดี ถึงจะก้าวทันพฤติกรรมของผู้ติดตามที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

พฤติกรรมที่สังเกตได้ชัด หลังทั่วโลกมีมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ทุกคนต้องติดแหง็กอยู่กับบ้าน กลับเป็นจังหวะแจ้งเกิดของแอปพลิเคชั่นสัญชาติจีนสุดปังอย่าง ‘TikTok’ ที่ให้ผู้คนทั่วโลกมีส่วนร่วมกันผ่านแคมเปญสนุก ๆ ในช่วงเวลาที่เบื่อ เซ็ง ออกไปไหนไม่ได้ จนขึ้นแท่นแอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จนซิลิคอนวัลลีย์ยังต้องสะเทือน

ใครที่เริ่มกระโจนมาสร้างฐานแฟน ทำวิดีโอคอนเทนต์สั้น ๆ เพื่อปั้นตัวเองให้มีโอกาสแจ้งเกิดเป็นดาวโซเชียลคนใหม่ที่โด่งดังได้ชั่วข้ามคืน แต่นั่นก็อาจเป็นดาบสองคมที่อาจสร้างกระแสลบตีกลับได้เช่นกัน

CREATIVE TALK ขอสรุป 5 วิธีรับมือชาวโซเชียล เปลี่ยนผู้ติดตามมาเป็น ‘ลูกค้า’ และ ‘แฟนตัวยง’ ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับ Creator ทุกคน

1. แตกต่างเป็นตัวเอง

อย่าพยายามเป็นคนอื่น บุคลิกที่ชัดเจนจะช่วยสร้างภาพจำได้มากกว่า ตามหลักแล้วคนที่มีความมั่นใจ เป็นตัวเองสูง มีพลังบวก จะดึงดูดคนเข้ามาหาได้มากกว่าคนที่ยิ่งอยู่ด้วยยิ่งไม่รู้จัก หรือทำให้รู้สึกเหงา

แต่อย่างไรก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดี ถ้าเปรียบเป็นคนก็ประหนึ่งวลีฝรั่ง ที่ให้คำจำกัดความว่า ‘Down to Earth’ หมายถึงคนที่เพียบพร้อมไปหมดทุกอย่าง แต่ก็เดินดินกินข้างแกงได้ เป็นกันเอง เรียบง่าย จิตใจดี มีอารมณ์ขัน อยู่กับความเป็นจริง ไม่โลกสวย ให้อารมณ์เหมือนเป็นเพื่อนพระเอกนางเอกในหนังฟีลกู้ด

2. ตีสนิท

คุณจะต้องหาทางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน หมั่นชวนคุย เปิดบทสนทนา สร้างความสนิทสนมคุ้นเคย อย่างพ่อค้าแม่ค้าอารมณ์ดีที่ทำให้ลูกค้าติด เหมือนเป็นเพื่อนที่เราไว้วางใจ มักนึกถึงและอยากให้อยู่ในสายตา ถ้าจะขายของก็ขายกันตรงๆ ไม่ต้องเนียน แต่จะให้ดีควรส่งมอบหน้าที่ป้ายยาให้เหล่า influencer ทำแทนจะดีกว่า

3.ใส่ใจคำพูด คำนึงถึงความหลากหลาย

ก่อนจะสื่อสารอะไรออกไปหาคนหมู่มาก ต้องทำความเข้าใจชุดความคิดและความซับซ้อนของผู้คนที่หลากหลาย จึงต้องเอาใจใส่ความรู้สึกของผู้คนด้วยท่าทีประนีประนอม ใจเย็น น้ำเสียงอ่อนน้อม คอยระมัดระวังคำพูดที่เอ่ยถึงประเด็นอ่อนไหว แต่ก็สามารถรักษาจุดยืนของตัวเองได้โดยการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

4. ถามได้ตอบไว

พร้อมรับแรงกระแทกพร้อมทำแทนให้ได้ทุกอย่าง บริการทุกระดับประทับใจ เพราะลูกค้ายังไงก็รู้สึกดีกว่าที่ได้ถามกับคนที่มีหัวใจบริการ พร้อมจะให้คำตอบ เพราะการให้เวลาลูกค้าแปลว่ากำลังให้ความสำคัญ และยิ่งถ้าเป็นลูกค้าใหม่ด้วยนั้นมักจะไม่ค่อยอยากเสียเวลาค้นหาคำตอบเอง

5. ผิดพลาดต้องรีบแก้ไข

ทำผิดต้องแสดงคำขอโทษและความรับผิดชอบอย่างจริงใจอย่างทันท่วงที อ่อนน้อมพร้อมจะปรับปรุง ไม่ทิ้งช่วงล่วงเลยเนิ่นนานหรือรอให้เรื่องเงียบไปเอง ยิ่งอ้อมค้อมตอบวกวน หรือหลบเลี่ยงที่จะตอบ ยิ่งน่าโมโห เพิ่มความรู้สึกติดลบต่อกันมากขึ้น อย่าลืมว่าความเงียบและความเพิกเฉย (ignorance) ก็เป็นคำตอบแบบหนึ่ง

‘แฟนตัวยง’ ก็มีความหมายเดียวกับศัพท์การตลาดเก่า ใช้เรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่า ‘Evangeline’ ที่พร้อมจะอินไปด้วยกับเราง่ายๆ คอยติดตามอุดหนุนผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ พร้อมออกโรงปกป้องด้วยความรู้สึกผูกพันทั้งกับตัวบุคคลหรือแบรนด์ ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของนักการตลาด เพราะเท่ากับคุณสามารถสร้างลูกค้าประจำที่จะกลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

อ้างอิงเนื้อหาส่วนใหญ่จากงาน CTC2021 Pre-Event ครั้งที่ 1 session 2 ‘What’s Next for Online Audience Behaviour’ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 63 เสวนาโดย คุณกล้า ตั้งสุวรรณ CEO บริษัท Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของไทย กับ คุณกุลธิดา​ กันต์พิทยา Food​ blogger ผู้ก่อตั้งเพจ ‘​เพนกวิ้นรีวิว’, ‘GuinHungry’, และ ‘Hungry Biz Podcast’ และส่วนหนึ่งจากแอดมินเอง

คุณสามารถรับชม LIVE ย้อนหลัง ได้ที่ https://bit.ly/2HaIqJq


[mautic type=”tags” values=”Article, Digital marketing”]

trending trending sports recipe

Share on

Tags