Sleep Gummies นอนไม่หลับงั้นหรือ ลองเยลลี่นอนหลับดูไหม

Last updated on ธ.ค. 2, 2021

Posted on ธ.ค. 2, 2021

เชื่อว่าคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนจำนวนไม่น้อยน่าจะเคยเห็น Sleep Gummy หรือเมลาโทนินกัมมี่เคี้ยวหนุบรสผลไม้กันมาบ้าง จากหลากหลายแบรนด์ ที่แปะป้ายว่าเป็นตัวช่วยเรื่องการนอน

ซึ่งเจ้าเมลาโทนินกัมมี่หน้าตาน่ากิน เหมือนเยลลี่ ก็อาจเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ไม่อยากพึ่งยานอนหลับ หรือคนที่ไม่ชอบทานยาเม็ด ทว่าเจ้ากัมมี่ช่วยหลับเหล่านี้ ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า หรือมันมีผลข้างเคียงอะไรไหม ปลอดภัยกับคนทานจริงหรือเปล่า ลองมาหาคำตอบกัน


ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจก่อนว่า ‘เมลาโทนิน’ ที่อยู่ใน Sleep Gummy คืออะไร?

Melatonin’ เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่ต่อมไพเนียลในสมองของเราผลิตขึ้นมา โดยฮอร์โมนตัวนี้มีหน้าที่ปรับนาฬิการ่างกายของเรา และช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านสภาวะระหว่างการหลับและตื่น ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีเมลาโทนินตามธรรมชาติไม่เท่ากัน และยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนาฬิการ่างกายของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน , เรื่องของความเครียด , อาหารที่เรากินและดื่ม รวมถึงสิ่งแวดล้อมเวลาที่เรานอนหลับ

สำหรับหลายคนที่ทุกข์ทรมานกับการนอนไม่หลับอาจรู้สึกสิ้นหวังต่อการจะเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ให้ดีขึ้นภายในวันสองวัน จนคิดจะพึ่งอาหารเสริม จำพวกวิตามิน หรือเมลาโทนิน ทว่าในความเป็นจริง กัมมี่ช่วยนอนหลับอาจช่วยเร่งการนอนให้เร็วขึ้นได้ แต่มันก็ไม่ใช่ของขบเคี้ยวมหัศจรรย์ ถ้าคุณยังตกอยู่ภายใต้ปัญหาอื่นๆ ที่กระทบการนอนแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข


และนี่คือ 5 สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับกัมมี่ช่วยนอนหลับ หรือ sleep gummies ที่คุณไตร่ตรองสักนิดก่อนจะเริ่มทานมัน

1. Sleep Gummies ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานอนหลับในระยะยาว

แม้มันจะมีหลักฐานบางอย่างที่บอกว่าการใช้กัมมี่ช่วยหลับ จะมีประสิทธิภาพในระยะสั้นๆ สำหรับผู้ที่ประสบปัญหา jet lag ชั่วคราวได้ หรือผู้ที่มีปัญหาการนอนและการตื่นที่ไม่เป็นเวลา และผู้ที่ทำงานเป็นกะ แต่มันไม่ได้มีหลักฐานด้านการใช้กัมมี่ช่วยนอนหลับในระยะยาว และในบางกรณี การใช้ sleep gummies ก็อาจช่วยให้คุณกลบปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับแก้ไขเท่านั้น

เพราะปัญหาการนอนไม่หลับในบางกรณีนั้น จริงๆ แล้วอาจเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจชั่วคราว , อาการขาอยู่ไม่สุข หรือภาวะอาการขากระตุกระหว่างนอนหลับ ,อาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ซึ่งในกรณีเหล่านี้ เมลาโทนินก็ไม่อาจช่วยได้ มันทำหน้าที่เพียงแค่กลบปัญหาเหล่านี้ชั่วคราวเท่านั้น และถ้าปัญหาเหล่านี้ยังถูกทิ้งเอาไว้ โดยไม่รับการรักษา อาการเหล่านี้ก็อาจจะแย่กว่าเดิมหรืออาจจะนำไปสู่ความซับซ้อนที่มากขึ้นได้


2. ผลข้างเคียงของ Sleep Gummies

แม้กัมมี่เหล่านี้จะซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา และดูเหมือนจะไม่มีอันตรายใดๆ แต่ก็ใช่ว่ากัมมี่ช่วยหลับพวกนี้จะไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลย

เพราะแม้จะเป็นปริมาณหรือโดสน้อยๆ แต่ผลข้างเคียงบางอย่าง ก็รวมถึงอาการง่วงซึม , ปวดหัว และงุนงงได้ และสำหรับเด็กก็อาจก่อให้เกิดอาการอยู่ไม่สุข หรือเกิดการให้ปัสสาวะรดที่นอนได้


3. Sleep Gummies ไม่ใช่ตัวช่วยการนอนสำหรับทุกคน

ถึงจะไม่ใช่ยานอนหลับ แต่เราก็ควรใช้ Sleep Gummies ในปริมาณที่พอเหมาะ และปริมาณที่ปลอดภัย และสำหรับบางคนก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะทาน ​Sleep Gummies โดยเฉพาะกลุ่มคนเหล่านี้

  • หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผู้ที่กำลังรักษาอาการความดันโลหิต
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • ผู้ป่วยโรคลมชัก

4. Sleep Gummies แต่ละแบรนด์ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นตามมาตรฐานเดียวกัน

เช่นเดียวกับวิตามินอื่นๆ ที่วางเรียงอยู่ในท้องตลาด Sleep Gummies ไม่ได้ถูกควบคุมหรือจัดระเบียบโดย U.S. Food and Drug Administration ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ Sleep Gummies เหล่านี้ไม่ได้ถูกทดสอบในด้านความปลอดภัยหรือด้านประสิทธิภาพ และมันอาจประกอบด้วยส่วนผสมบางอย่างที่ซ่อนไว้ ที่อาจแปรผันตามปริมาณของโดส


5. ก่อนทาน Sleep Gummies อาจลองปรึกษาแพทย์ก่อน

ในระยะเวลาสั้นๆ นั้นกัมมี่ช่วยหลับอาจทำหน้าที่เหมือนตัวช่วยในเรื่องการนอน แต่มันก็อาจจะกลบปัญหาบางอย่างให้ถูกซ่อนไว้ได้ หรือมีผลกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่คุณมีโอกาสจะเป็น และไม่ควรทาน Sleep Gummies เหล่านี้ เป็นประจำต่อเนื่องในระยะยาว


อ้างอิงข้อมูลจาก

trending trending sports recipe

Share on

Tags