วิธีรับมือภาวะ Burnout เมื่อนักการตลาดต้องเจอแรงกดดันจาก

Last updated on มิ.ย. 16, 2021

Posted on มิ.ย. 16, 2021

ในโลก Digital Marketing ทุกวันนี้ มีเรื่องอะไรบ้างที่นักการตลาดต้องรู้และตามให้ทันอยู่ตลอดเวลา

Facebook เปลี่ยนอัลกอริทึมใหม่
การมาของ iOS รุ่นล่าสุดที่ส่งผลกระทบกับงานของเรา
Instagram Reels กับพฤติกรรมใหม่ของผู้ใช้งาน
Google Chrome ประกาศจะเลิกเก็บ Cookies
Google เปลี่ยนวิธีจัดอันดับเว็บไซต์ใหม่
PDPA ประกาศเลื่อนการใช้ไปอีก 1 ปี
การตั้งค่า Event ใน Google Analytics ที่ซับซ้อน
MarTech กับเรื่องการใช้วางแผนและวัดผลทางการตลาด
Setup ระบบ Marketing Automation ที่ต้องแม่นยำ
เรียนรู้และอัปเดตเทคนิคการทำ SEO ใหม่อยู่ตลอดเวลา
รวมถึงต้องติดตามเทรนด์ที่คนกำลังสนใจบนโลกออนไลน์

นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนที่นักการตลาดดิจิทัลจะต้องอ่าน ต้องรู้ เรียกได้ว่ามีเรื่องใหม่ที่ต้องอัปเดตทำความเข้าใจกันทุกสัปดาห์ ยอมรับเลยว่ามันค่อนข้างใช้พลังเยอะสุดๆ ที่จะต้องตามทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Digital Marketing ให้ทัน 

ผมเชื่อว่านักการตลาดหลายท่านอาจรู้สึกว่า ข้อมูลทุกอย่างมากมายถาโถมเข้ามา กดดันให้เรา “ต้องรู้” อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นเสน่ห์ของความท้าทายในชีวิตการทำงานของนักการตลาดดิจิทัลก็ตาม แต่หลายคนอาจจะประสบปัญหาอาการ Burnout เอาได้ง่าย 

ล่าสุดผมได้อ่านบทความบทหนึ่งบน ThinkWithGoogle.com ที่ชื่อว่า Inside Google Marketing: The challenge of today’s digital marketer ซึ่งได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน พร้อมบอกเคล็ดลับเกี่ยวกับ FAILs mindset ที่จะช่วยให้เรารับมือกับความท้าท้ายเหล่านี้ได้ บวกกับประสบการณ์ในวงการนี้ของผมมาหลายปี จึงอยากนำมาแชร์ให้กับนักการตลาดทุกท่านเพื่อนำไปปรับใช้ต่อไปครับ

1. เลือกรับข้อมูลเฉพาะเรื่องที่จำเป็นกับเรา

เราต้องสร้างเกราะป้องกันหรือตัวกรองข้อมูลให้ตัวเองระดับหนึ่ง โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ผมเชื่อว่าหลายครั้งเมื่อนักการตลาดใช้เวลาบนสื่อโซเชียลมีเดีย ต้องเจอหลายโพสต์ที่พูดถึง Digital Marketing ซึ่งเราก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปกดอ่าน เพราะกลัวจะตามเทรนด์ไม่ทัน

ดังนั้นแทนที่จะรับข้อมูลทุกอย่าง ให้ลองเลือกเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราในเวลานี้ก่อนครับ เช่น เราอาจจะดูแลแบรนด์ FMCG (Fast-Moving Consumer Goods – สินค้าอุปโภคบริโภค​ทั่วไป) ที่เน้นสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย End Consumer เป็นหลัก หรือที่เรียกว่า B2C

ดังนั้นการเห็นข่าวสารด้านการตลาดบน Linkedin ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Profesional Network ซึ่งแอคทีฟกับสินค้าและบริการแบบ B2B มากที่สุด ตรงนี้เราเลือกที่จะไม่รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Linkedin เลยก็ได้ ในเมื่อเวลานี้ Linkedin ไม่ได้เหมาะสมกับแบรนด์ที่เราดูแลอยู่ ไว้ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนงานที่ต้องดูแลด้านการสื่อสารแบบ B2B เราค่อยไปเริ่มเรียนรู้ได้ก็ไม่สายจนเกินไปครับ กรองเฉพาะข้อมูลที่ควรรู้ในตอนนี้ก่อนก็พอ

2. ใช้แนวคิด FAILs ในการทำงาน

อ้างอิงจาก ThinkWithGoogle.com FAILs ย่อมากจาก First Attempt In Learning หรือหากแปลให้เข้าใจง่ายๆ น่าจะประมาณ “ลองให้รู้” หมายถึง แนวคิดการทำงานที่เปิดรับกับการลองอะไรใหม่ๆ และยอมรับกับความผิดพลาด เพื่อนำไปเรียนรู้

เนื่องจาก Digital Marketing มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และอัปเดตใหม่อยู่ตลาดเวลา และหลายเรื่องที่เราอาจยังรู้ไม่พอหรือยังไม่รู้ การมี FAILs mindset อย่างที่กล่าวไป จะทำให้เราและทีมงานไม่กลัวที่จะบอกว่าไม่รู้ และพร้อมที่จะลองอะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน

เพราะหากปราศจาก FAILs mindset นั่นหมายถึง คนทำงานทุกคนจะต้องกดดันตัวเองให้ต้องรู้และเก่งอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยกับความรวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ของวงการ Digital Marketing

โดยเฉพาะนักการตลาดระดับผู้บริหาร ต้องโอบรับแนวคิดของ FAILs และนำไปใช้กับทีมงาน ให้พวกเขาไม่กลัวที่จะล้มเหลว ยอมรับว่าไม่รู้ แล้วกล้าที่จะลองทำเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปครับ

3. พัฒนาทักษะตัวเองในแบบ T-Shape

ในโลกของการทำงานมีหลักการพัฒนาทักษะคนทำงานอยู่สองแบบ

แบบแรกคือ Generalist คือรู้กว้างมีทักษะในหลายๆ เรื่อง เพียงพอกับความจำเป็นในตำแหน่งหน้าที่และสายงานที่ตัวเองอยู่

แบบที่สองคือ Specialist คือมีทักษะเป็นผู้เชี่ยวไปเลยเรื่องใดเรื่องเดียวแล้วเก่งเรื่องนั้นให้สุดๆ ไปเลย ซึ่งในอาชีพนักการตลาดดิจิทัล

การเป็น Generalist ก็ดูเหมือนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในเมื่อมันมีหลายอย่างมากที่ต้องรู้ และมีทักษะให้มากพอเพื่อจะทำงานร่วมกับทีมภายในและเอเจนซี่ได้ แต่อาจจะดีกว่าถ้ามี “หนึ่งเรื่อง” ที่เรารู้สุดๆ ไปเลยในจักรวาลของ Digital Marketing จึงเป็นที่มาของการพัฒนาทักษะตัวเองแบบ T-Shape

การพัฒนาทักษะตัวเองแบบ T-Shape คือ รู้กว้างหลายๆ เรื่องแบบด้านบนตัว T แต่มีเพียงหนึ่งหรือสองเรื่องที่เรารู้แบบผู้เชียวชาญ เปรียบดังการลากเส้นตรงของหางตัว T ลงมา

T-Shape ยังเป็นวิธีที่ทางสถาบัน General Assembly ของสหรัฐอเมริการะบุเอาไว้ในคอร์สเรื่องเรื่อง Digital Marketing โดยแนะนำเอาไว้ว่านักการตลาดดิจิทัลควรเลือกหนึ่งเรื่องที่เหมาะสมกับจริตและความสนใจของตัวเอง แล้วพัฒนาความรู้หรือทักษะนั้นให้ลึกสุดๆ ไปเลย ควบคู่กับความรู้แบบกว้าง

ยกตัวอย่างเช่น มีนักการตลาดดิจิทัลบางคนที่เก่งเรื่อง Inbound Marketing แบบสุดๆ ไปเลย แต่ก็ยังรู้รอบในเรื่องการตลาดดิจิทัลอื่นๆ ที่เพียงพอกับการทำงานไปด้วย ซึ่งเรื่องอื่นอาจจะให้ทีมงานหรือเอเจนซี่ช่วย แต่พอเป็นเรื่อง Inbound Marketing สิ่งนี้จะเป็นสิ่งเดียวที่นักการตลาดคนนี้จะทำเอง เป็นต้น

มันไม่ง่ายครับ บอกเลยว่าการอยู่ในวงการ Digital Marketing กินเวลาและพลังชีวิตมาก แต่ถ้านี่เป็นทางที่เราเลือกแล้วและยังสนุกกับมัน ในการทำงานทุก ๆ วัน เรายังมองว่าเป็นความท้าท้ายที่ยังอยากเอาชนะอยู่ ก็ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเอง เพื่อหาจุดสมดุลในการทำงาน ไม่ต้องเกิดอาการ Burnout และเครียดจนเกินไปนะครับ

คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

เรื่อง: ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา CEO & Co-Founder TWF Agency

trending trending sports recipe

Share on