5 เคสธุรกิจ คุยเรื่องกฎหมายก่อนเปิดบริษัท และสิ่งที่?

Last updated on มี.ค. 5, 2021

Posted on มี.ค. 3, 2021

มาพูดคุยเรื่องข้อกฎหมายที่ทั้งเจ้าของและพนักงานบริษัทควรรู้ไว้เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนเอง ป้องกันปัญหาจุกจิกที่หากละเลยไป อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากใจกว่าที่คิด

CREATIVE TALK by CIGNA  ชวน ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX หรือ ‘อาจารย์มิก’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมสร้างสรรค์โดย Cigna Thailand ประกันภัย “คิดและทำเพื่อชีวิตที่ดีของคุณ”

จึงลองตั้งคำถามถามชาว Clubhouse ว่าจะตอบถูกกันไหม เพื่อที่จะทดสอบความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายพื้นฐานที่คุณเองอาจยังไม่รู้

คำถามที่ 1 คุณคิดว่าลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของใคร ระหว่าง ‘บริษัท’ ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร กับ ‘พนักงาน’ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน 

ตามกฎหมายแรงงานไทย ผลงานที่ลูกจ้างผลิตขึ้น แม้จะอยู่ในเวลางานก็ยังถือเป็นลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์จะนำไปใช้ต่ออย่างไรก็ได้ เช่น นำไปแสดงผลงาน หรือพัฒนาดัดแปลงนำไปขายต่อได้โดยไม่มีความผิด นอกเสียจากว่านายจ้างอยากครอบครองลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จึงควรทำข้อตกลงเซ็นสัญญากันใหม่ก่อนลูกจ้างจะออกจากบริษัท หรือเซ็นสัญญาป้องกันไว้ตั้งแต่ก่อนเข้างาน

คำถามที่ 2 จะทำอย่างไรหากพบเห็นลูกค้านำไอเดียที่เราเสนอไปใช้โดยไม่ซื้อ 

เราสามารถเอาผิดได้ เพราะตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย ผลงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากความคิดและฝีมือของเราถือเป็นลิขสิทธิ์ของเราในทันทีที่ผลิตออกมา ไม่สามารถละเมิดโดยการนำไปใช้ต่อหรือดัดแปลงได้ หากต้องการพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จะต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม สืบพยานเพื่อหาข้อสรุปว่าแท้จริงแล้วใครคือต้นคิดกันแน่

คำถามที่ 3 อยู่ๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ ลูกจ้างลาออกแบบหักดิบ วันรุ่งขึ้นไม่ยอมมาทำงาน รู้อีกทีก็แอบเก็บของไปหมดแล้ว จะเอาผิดลูกจ้างได้หรือไม่

ลูกจ้างจะมีความผิดก็ต่อเมื่อละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยไม่สมควรแก่เหตุ และไม่แจ้งลาออกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่หากนัดหมายเพื่อบอกกล่าวต่อหน้าผู้บังคับบัญชาให้รับทราบแบบปากเปล่าหรือยื่นจดหมายลาออกแล้ว ตามกฎหมายแรงงานถือว่าขาดจากการเป็นลูกจ้างในทันที โดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าจ้างอนุมัติ แต่เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายควรยื่นจดหมายลาออกและเซ็นใบลาออกเก็บไว้คนละชุด เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันสถานะ ไม่ให้เกิดปัญหายืดเยื้อหากฝ่ายนายจ้างไม่ยินยอมและต้องการกลั่นแกล้งเอาคืนอดีตลูกจ้าง

แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติและมารยาทที่ดีอย่างผู้มีอารยะและวุฒิภาวะ ลูกจ้างก็ไม่ควรทิ้งงานกลางคัน ต้องให้เวลานายจ้างหาคนมาทำงานแทน และถ่ายงานให้กับพนักงานใหม่เสียก่อน เพื่อความสบายใจ ไม่เสียประวัติ และเป็นการลาจากกันด้วยดี

คำถามที่ 4 ร่วมหุ้นเปิดบริษัทกับเพื่อน ควรจะแบ่งหุ้นจดทะเบียนกันอย่างไร ถ้าให้สัดส่วนเท่ากันจะหมดปัญหาจริงหรือเปล่า

จดทะเบียนบริษัทในปัจจุบันต้องมีผู้ร่วมก่อการเป็นจำนวนอย่างน้อย 3 คน และระบุแบ่งจำนวนหุ้นกันอย่างชัดเจนให้เต็มจำนวนทุนจดทะเบียน ซึ่งถ้าหากหารเท่ากันเป๊ะๆ ในทางปฏิบัติแล้วจะทำให้เกิดปัญหาลำบากใจได้ในภายหลัง เนื่องจากเมื่อถึงเวลาบริษัทดำเนินงานจริง ผู้ถือหุ้นแต่ละคนอาจมีบทบาทหน้าที่ไม่เท่ากัน ฝ่ายที่ลงมือทำเยอะอาจรู้สึกบั่นทอนกำลังใจ และเกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมในภายหลังได้ 

รวมถึงในกรณีที่จำเป็นต้องร่วมกันตัดสินใจทางธุรกิจ หากหุ้นส่วน 3 คน เกิดเสียงแตกกันขึ้นมา ฝ่ายที่มีทุนจดทะเบียนน้อยนิดก็อาจกลายเป็นจุดพลิกให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งชนะขาด กลายเป็นเสียงส่วนมาก สามารถกำหนดทิศทางของบริษัทได้ จึงจำเป็นที่ผู้ก่อตั้งจะตกลงกันให้ดีและทำสัญญากันก่อนจดทะเบียน

คำถามที่ 5 เปิดอีกบริษัทเพื่อแยกจ่ายภาษีดีกว่าไหม

จะไม่คุ้มเสียเหมือนทำไร่เลื่อนลอย ที่มองไม่เห็นอนาคตเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เห็นตัวเลขแสดงการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ อาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน หรือจะเกิดปัญหาทางบัญชี หากวางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

สำหรับบริษัทที่ยังทำรายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท/เดือน จะนับตามเกณฑ์ว่าเป็น SME ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ได้ลดหย่อนภาษี 20% แต่เมื่อไหร่ที่ยอดขายไปแตะที่ 30 ล้านบาท/เดือน จะถือว่าสิ้นสถานะ SME ในทันที

และการปิดบริษัทไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายดายอย่างตอนที่สมัคร เพราะต้องตรวจสอบบัญชีและให้สรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลังทั้งหมด และยังต้องชำระค่าดำเนินการปิดบริษัทหลักแสนบาท

สนใจฟัง Session ย้อนหลังแบบเต็มๆ ผ่าน podcast ตามช่องทางต่อไปนี้

🎧 SoundCloud: http://bit.ly/3uLXIbo
🎧 Spotify: http://spoti.fi/3kH9hfa
🎧 PodBean: http://bit.ly/3b89fKn
🎧 Apple Podcast: http://apple.co/305ItMa

trending trending sports recipe

Share on

Tags