เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องสัมภาษณ์พนักงาน

Last updated on ก.ย. 18, 2019

Posted on ก.ย. 17, 2019

ไม่ใช่แค่คนหางานเท่านั้นที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนสัมภาษณ์งาน การรับคนเข้าทำงานขององค์กรต่าง ๆ ทางฝ่ายบุคคลหรือผู้สัมภาษณ์งานก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน เพื่อเฟ้นหาพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงความต้องการและสามารถเข้ากับองค์กรได้ หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องสัมภาษณ์พนักงานใหม่แล้วล่ะก็ วันนี้เรามีวิธีการเตรียมตัวง่าย ๆ มาฝากกัน

1. Ice Breaking 

ผู้ถูกสัมภาษณ์จะมีกรอบและตั้งคาดหวังในการมาสัมภาษณ์งาน รวมทั้งคิดไปต่าง ๆ นา ๆ ว่าตนเองจะเจออะไรบ้าง ดังนั้น คุณจะต้องเริ่มบทสนทนาง่าย ๆ ก่อนเพื่อทลายกำแพงในใจของเขา เช่น วันนี้เดินทางมาอย่างไร รถติดหรือเปล่า ในระหว่างที่คุยใช้ Eye Contact สบตาเขา และหลักการสังเกตให้เป็นประโยชน์ ซึ่งบทสนทนาง่าย ๆ นี้จะช่วยทำให้เขามีความผ่อนคลายมากขึ้น และทำให้คุณเห็นถึงความเป็นตัวตนของเขา ทั้งภาษากาย บุคลิกภาพ และการแต่งกายว่ามีความเหมาะสมหรือไม่  

2. เล่าเรื่องที่ผ่านมา เพื่อดูทัศนคติ

หลังจากคุณเริ่มต้นบทสนทนาง่าย ๆ เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ผ่อนคลายแล้ว หลังจากนั้น จึงให้เขาเล่าเรื่องการทำงานที่ผ่านมาพร้อมลงรายละเอียด เช่น มาสัมภาษณ์เป็น AE งานที่ผ่านมากทำอะไรมาบ้าง ซึ่งบางครั้งอาจจะเจอผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เปลี่ยนสายงานมา แต่บางคนกลับไม่ค่อยมั่นใจว่าเปลี่ยนสายงานมาแล้วจะสามารถเล่าอะไรให้คุณฟังได้บ้าง

การที่คุณให้เขาเล่าเรื่องการทำงานที่ผ่านมาให้ฟังนั้น เพื่อดูทัศนคติของเขาต่อที่ทำงานเก่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง ณ ตอนนั้นเขามีกระบวนการ วิธีการในการทำงาน และจังหวะในการตัดสินใจอย่างไร เช่น ชอบงานท้าทายหรือไม่ ชอบงานรูทีน หรือชอบงานที่ต้องไปเจอคนใหม่  ๆ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ถ้าเจอนักศึกษาจบใหม่ คุณต้องให้เขาเล่าเรื่องในสมัยเรียนว่าทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง หรือถ้าในกรณีที่ไม่ทำกิจกรรม ก็ถามว่าเขาทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับอะไร หรือไปฝึกงานที่ไหนมา ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะทำให้คุณรู้ถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้ถูกสัมภาษณ์และยังได้เปิดสไตล์ความเป็นตัวตนของเขาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งด้วย 

ในการสัมภาษณ์งาน สิ่งที่คุณจำเป็นต้องดูเป็นอันดับแรกคือ ทัศนคติ บางคนเมื่อให้พูดถึงการทำงานบริษัทเก่า ผลที่ออกมาคือ พูดถึงบริษัทเก่าในด้านลบ ซึ่งจะทำให้คุณรู้ได้ทันทีว่า ถ้าคนนี้เข้ามาทำงานและลาออกไป จะต้องพูดถึงบริษัทในด้านลบแน่ ๆ

ทั้งนี้ทัศนคติสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่อาจจะยากกว่าการพัฒนาทักษะในงาน เช่น นักศึกษาจบใหม่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่เป็นคนใฝ่รู้ ถึงแม้วันนี้เขาอาจจะมีทักษะในงานเป็นศูนย์ แต่ถ้าทัศนคติดี ทักษะความเชี่ยวชาญของเขาก็อาจจะไต่ระดับขึ้นมาเป็นสิบ ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ก็เป็นได้ 

3. เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัท ยกเคสที่ผ่านมา แล้วถามการตัดสินใจของเขา

หลังจากที่ผู้ถูกสัมภาษณ์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาแล้ว คุณจะต้องเป็นฝ่ายเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัท พร้อมยกเคสที่เคยเจอมาบ้าง โดยให้เขาลองแก้ปัญหา เพื่อให้คุณรู้ว่าขั้นตอนกระบวนการคิด วิธีการทำงาน จังหวะการตัดสินใจ ในการแก้ปัญหาของเขาใกล้เคียงกับทีมงานในบริษัทหรือเปล่า ซึ่งคำตอบนั้นไม่มีถูก ไม่มีผิด 

4. คำถามผ่อนคลาย เพื่อดึงตัวตนที่แท้จริง

เมื่อคุณรู้แล้วว่าผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นคนอย่างไร จังหวะการตัดสินใจใกล้เคียงกับทีมงานในบริษัทหรือเปล่า หลังจากนั้นลองผ่อนคลาย และสังเกตว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไร หากต้องเข้ามาทำงานในบริษัท เขาจะมีสไตล์หรือเข้าวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไรบ้าง และเมื่อเขาเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย ท่าทาง ภาษากายก็จะออกมามากขึ้น

ในการสัมภาษณ์ควรจะถามคำถามที่เขาสามารถตอบได้ เช่น งานอดิเรกคืออะไร ช่วงนี้ตามข่าวอะไรอยู่บ้าง เป็นต้น เพราะถ้าถามคำถามที่ค่อนข้างละเอียด เช่น การเมือง เศรษฐกิจ เขาอาจจะเครียดได้ ซึ่งคำถามเพื่อความผ่อนคลาย ให้คุณค่อย ๆ หยอดถามไปทีระยะ ๆ เช่น หลังจากผ่อนคลายแล้วกลับมาคุยเรื่องงาน บางครั้งเขาจะเริ่มรู้สึกเกร็ง ดังนั้นเมื่อจบคำถามเกี่ยวกับงาน จึงค่อยกลับเข้าสู่คำถามผ่อนคลายอีกครั้ง และเมื่อเขาผ่อนคลาย ก็ค่อยกลับเข้าคำถามเรื่องงานต่อ เป็นต้น เพราะการสัมภาษณ์ที่ดีคือการที่คุณสามารถดึงตัวตนจริง ๆ เขาออกมาให้ได้มากที่สุด 

หลังจากสัมภาษณ์แล้ว ไลฟ์สไตล์ของผู้ถูกสัมภาษณ์สามารถบ่งบอกถึงลักษณะของเขาว่าเป็นคนประเภทใด เหมาะกับที่นี่หรือไม่ และทำให้รู้ว่า จังหวะที่เขาจะพัฒนาตนเองนอกเหนือจากการทำงานมีบ้างหรือไม่ หรือเขาเป็นคน work-life balance หรือเปล่า 

5. ข้อดี-ข้อเสียของเราคืออะไร

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ลองวิเคราะห์ตนเองว่า มีอะไรที่ควรทำเพิ่ม และมีอะไรที่ควรลดลง ถ้าคุณทำให้ Ice Breaking ของเขาหลุดออกมาไม่มากพอ อาจทำให้ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ในข้อนี้กลับมา แต่จะได้คำตอบที่เขาเตรียมมาแทน

เพราะฉะนั้นข้อนี้จะได้หรือไม่ได้คำตอบ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณพยายามมาตลอดทาง นอกจากนี้ เป้าหมายในอนาคตก็เป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้เหมือนกันว่าเขาคิดอะไร เช่น อีก 3 เดือนต่อจากนี้ คุณจะเห็นตนเองเป็นแบบใด เป็นต้น

เมื่อคุณทำความรู้จักผู้ถูกสัมภาษณ์มากเพียงพอแล้ว คุณก็จะต้องเล่ารายละเอียดของฝั่งคุณเหมือนกัน เช่น เล่าว่าคุณเป็นใคร ทำอะไร ทีมคุณมีกี่คน ข้อดีข้อเสียของคุณคืออะไร สไตล์ของคุณเป็นอย่างไร หลังจากที่รู้เรื่องของทั้งคุณและเขามากเพียงพอแล้ว ขมวดปมตอนสุดท้ายคือ ให้เขาตั้งคำถาม เพราะบางทีเขาอาจจะยังเล่าให้ฟังไม่หมด หรือบางอย่างที่เขาอยากจะรู้เพิ่มเติม คุณก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาถามคำถามได้ ดังนั้นการสัมภาษณ์ คือ การที่คุณทำความรู้จักกับคน ๆ หนึ่ง วันหนึ่งเขาอาจจะเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ หรือวันหนึ่งเขาอาจจะกลายเป็นคนที่มาจ้างเราอีกทีก็ได้ เพราะถ้าเขามาสมัครตำแหน่งนี้ นั่นแปลว่า เขาก็อยู่ในวงการนี้นั่นเอง

การทำความเข้าใจมนุษย์ในเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง ไม่สามารถทำให้คุณรู้จักเขาได้เพียงพอ เห็นได้จากบางครั้ง เมื่อสัมภาษณ์ผ่านเข้ามาทำงานแล้ว แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ทีมงานรู้สึกประทับใจ ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการสัมภาษณ์ของคุณที่สัมภาษณ์ไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่รู้จักตัวตนของเขาจริง ๆ แต่รู้จักในสิ่งที่เขาตั้งคำตอบมาเรียบร้อยแล้ว หรือเมื่อละลายพฤติกรรมเข้ามาอยู่ในบริษัทแล้ว เขากลับไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิดไว้ ทั้งนี้ในช่วงประเมิน 3 เดือน สำคัญมาก เพราะจะทำให้คุณรู้จักเขามากขึ้นว่า ตอนเขาทำงานกับโจทย์ที่ได้รับจริง ๆ เขาจะเป็นอย่างไร อย่าไปคิดว่าดูแลเขาเหมือนกับเป็นแค่พนักงานทดลอง เพราะถ้าคุณคิดแบบนั้น คุณก็จะไม่ได้อะไรที่ดีกลับมา

ภาพจาก John Hoang

ถอดความจาก: Creative Wisdom Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

เรียบเรียงโดย ณัฐณิชา เปรมเดชา
นักศึกษาจบใหม่เอกวิทยุและโทรทัศน์แห่งคณะวารสารฯ ผู้สนใจเรื่องราวในสังคมแบบครอบจักรวาล หลงรักการนอนหลับเป็นชีวิตจิตใจ แต่จะนอนไม่หลับหากไม่ได้ติดตามดราม่าทวิตเตอร์ในยามค่ำคืน

trending trending sports recipe

Share on

Tags