เส้นบาง ๆ ระหว่างคำด่ากับคำสอน

Last updated on ก.ย. 17, 2019

Posted on ก.ย. 17, 2019

เส้นบาง ๆ ระหว่างคำด่ากับคำสอนอยู่ห่างกันแค่นิดเดียวเท่านั้น ในมุมมองของลูกน้องอาจจะคิดว่า อยากได้คำสอนหรือ Feedback จากหัวหน้า แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคำบ่นหรือคำด่าแทน ในขณะที่มุมมองของหัวหน้าอาจจะคิดว่าสิ่งที่พูดหรือบ่นคือเป็นการสอนต่างหาก

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นลูกน้อง เทคนิคง่าย ๆ ในการอยากได้คำสอนจากหัวหน้า คือ เดินเข้าไปหาหัวหน้าและลองเปิดบทสนทนาด้วยความเห็นเชิงลบก่อน

โดยการพยายามนำเสนอข้อบกพร่องหรือจุดบอดในตัวคุณออกมาให้หัวหน้าได้รับรู้ เพื่อให้หัวหน้าเห็นจุดประสงค์ของคุณว่าต้องการแก้ไขปัญหาในเรื่องใด เช่น คุณเป็นคนทำงานเร็ว แต่อาจมีข้อบกพร่องบางจุดที่คุณอยากจะพัฒนาจึงอยากให้หัวหน้าช่วยแนะนำ

แน่นอนว่าเมื่อหัวหน้าได้รับฟังแล้วเขาก็จะรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่น่าให้คำสอนเพราะรู้จักที่จะพัฒนาตนเองและทำให้เขาพร้อมที่จะส่งคำสอนดี ๆ กลับมา

แต่ถ้าคุณคิดไปเองก่อนว่า หัวหน้าไม่เคยสอนงาน วัน ๆ เอาแต่บ่น ด่าน่ารำคาญ หัวหน้าก็จะไม่รู้ว่าคุณอยากได้คำสอนที่ดี และเมื่องานเกิดข้อผิดพลาด เขาก็จะด่ากลับมาอย่างที่คุณคิดไว้

ดังนั้นถ้าอยากได้คำสอนที่ดีจากหัวหน้าเพื่อที่คุณจะสามารถพัฒนาตนเองได้ ต้องเริ่มต้นที่ตัวของคุณเองก่อน ด้วยการพยายามเปิดใจ ตั้งเป้าหมายและกำหนดประเด็นว่า คุณจะไปคุยกับเขาเรื่องอะไร พร้อมกับรับฟังความเห็นด้านลบและรับมือกับคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ได้

แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้า คุณต้องระลึกเสมอว่า คุณมีหน้าที่ดูแลลูกน้องในทีมของคุณ ไม่ว่าจะอายุน้อยกว่าหรือมากกว่าก็ตาม ถึงแม้ว่าในบางครั้งความกดดันในหลาย ๆ ด้านจะทำให้คุณหงุดหงิดและกรุ่น ๆ ในใจอยู่บ้าง แต่เมื่อลูกน้องเข้ามาปรึกษาหรือขอคำสอน คุณอาจจำเป็นที่จะต้องโยนเรื่องที่หงุดหงิดใจทิ้งไปก่อน จะนำเรื่องนั้นมาพาลใส่ลูกน้องไม่ได้

ฉะนั้น อย่างแรกที่คุณต้องทำเลยคือ ต้องตั้งสติ พยายามวางเรื่องทุกอย่างลง และสนใจว่าลูกน้องต้องการจะคุยเรื่องอะไร แต่ถ้าคุณไม่พร้อมที่จะให้คำสอน ก็ต้องบอกเขาไปตรง ๆ ว่าคุณไม่พร้อม

อย่างที่สองคือ ทำข้อตกลงกับลูกน้องไว้ว่า คุณพร้อมที่จะให้คำสอน แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ นั่นจะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับความเครียดของตนเองได้ แน่นอนว่าถ้าคุณบอกกับเขาตรง ๆ เขาก็ต้องเข้าใจ

สุดท้ายคือ ต้องทำความเข้าใจระหว่างคำว่า Feedback กับ Noice ให้ดี Feedback คือ การที่คุณรับฟังลูกน้อง เมื่อเห็นข้อผิดพลาดของเขาแล้ว ก็ให้คำสอนเขากลับไปด้วยเหตุและผล เช่น ลูกน้องทำงานเร็วแต่พลาด คุณก็ต้องดูว่า เขาทำงานเร็วจริงหรือไม่ แล้วปัญหาที่ทำให้งานมีข้อผิดพลาดคืออะไร เมื่อคุณรู้ว่าเหตุผลในการทำงานผิดพลาดไม่ใช่การทำงานเร็ว แต่เป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาดของเขา คุณก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณใส่อารมณ์ในระหว่างที่ให้คำสอนลูกน้อง จาก Feedback ก็จะกลายเป็น Noice ทันที

คำสอนจากหัวหน้า

Noice คือ สิ่งที่ลูกน้องฟังแล้วรู้สึก แต่ไม่รู้ว่าคำสอนนั้นคืออะไร เพราะในประโยคมีแต่คำพูดที่รุนแรง รวดเร็วจนฟังไม่ทันและหยาบคาย จนทำให้เขาไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงคำสอนที่เป็นใจความสำคัญอันแท้จริงจากคำพูดของคุณ ซึ่งถ้าคุณไม่เคยให้คำสอนดี ๆ แต่ดึง Noice ขึ้นมาเป็นบริบทใหญ่ในการสอน ก็ไม่แปลกใจเลยว่าถ้าลูกน้องส่งงานกลับมาแล้วทำให้คุณไม่พอใจอยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นเพราะคุณให้ Feedback ได้ไม่ดีพอนั่นเอง

แต่ในอีกด้าน Noice กลับมีประโยชน์ตรงที่ว่าถ้าหัวหน้าคอมเมนต์แบบนุ่มนวล ลูกน้องอาจจะไม่มีแรงมากระตุ้นให้อยากทำงาน แต่ในขณะที่ถ้าคอมเมนต์แบบจริงจังกลับเกิดพลังในการทำงานขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของหัวหน้าในการกระตุ้นลูกน้องให้ทำงาน กล่าวคือ คุณต้องรู้ว่าเมื่อไรต้องดุ เมื่อไรต้องเด็ดขาด เพื่อให้ลูกน้องรู้ว่า งานนี้คุณเอาจริง

คำว่า Noice นอกจากจะหมายถึงการที่หัวหน้าใส่อารมณ์ลงไปในคำสอนแล้ว ในมุมของลูกน้องยังหมายถึงความลำเอียงอีกด้วย

บางครั้งหัวหน้าสอนลูกน้องดีมาก แต่ Noice กลับไปอยู่ที่ลูกน้องแทน เช่น ถ้าลูกน้องไม่ชอบหัวหน้า เมื่อหัวหน้าสอนหรือให้ Feedback อะไรมา ก็จะปิดกั้น ไม่สนใจฟัง มองว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ หรือถ้าลูกน้องไม่เชื่อถือบุคลิกของหัวหน้าอย่างเช่น การแต่งกาย การนั่ง การทำท่าทาง เขาก็จะเกิดความสงสัยและไม่เชื่อมั่นในตัวหัวหน้า

นอกจากนี้ลูกน้องยังสามารถใช้ประโยชน์จาก Noice ได้เหมือนกัน กล่าวคือ หากได้รับคอมเมนต์ที่ดีหรือไม่ดี จากคนที่ดีหรือจากคนที่ไม่ดีมันช่วยทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้ เช่น ถ้าทำงานแล้วเจอคนประเภทที่ทำงานไม่ได้เรื่อง เขาสามารถเรียนรู้จากคนประเภทนี้ว่าไม่ควรทำตาม โดยที่เขาไม่ต้องเป็นคนแบบนั้นเอง หรือถ้าเจอคนที่ทำงานเก่ง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เขาก็สามารถเรียนรู้จากตัวอย่างของคนประเภทนี้ได้เหมือนกัน

ดังนั้นลูกน้องจึงควรเปิดใจที่จะเรียนรู้ และจัดการกับ Noice ออกไปให้ได้ และเมื่อได้รับสารจากหัวหน้าแล้ว ก็จะต้องเรียนรู้ว่า สิ่งใดคือใจความที่ควรเก็บและสิ่งใดคือใจความที่สามารถโยนทิ้งไปได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำด่าหรือคำสอนจากใครก็ตาม ให้คิดเสียว่ามันมีประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า สุดท้ายแล้วคุณสามารถพัฒนาตัวเองดีขึ้นจริง ๆ หรือเปล่าหรือคุณแค่อยากบ่นคนอื่นไปวัน ๆ แล้วหวังว่าตัวเองจะดีขึ้น ซึ่งถ้าคุณเลือกอย่างหลังแล้วล่ะก็ คุณไม่มีทางที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างแน่นอน

ภาพจาก Jason Rosewell,  Charles

ถอดความจาก: Creative Wisdom Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

เรียบเรียงโดย ณัฐณิชา เปรมเดชา
นักศึกษาจบใหม่เอกวิทยุและโทรทัศน์แห่งคณะวารสารฯ ผู้สนใจเรื่องราวในสังคมแบบครอบจักรวาล หลงรักการนอนหลับเป็นชีวิตจิตใจ แต่จะนอนไม่หลับหากไม่ได้ติดตามดราม่าทวิตเตอร์ในยามค่ำคืน

trending trending sports recipe

Share on

Tags