หาพาร์ทเนอร์อย่างไรให้เติบโตยั่งยืน

Last updated on ก.พ. 23, 2023

Posted on เม.ย. 6, 2022

การหาพาร์ทเนอร์เป็นเรื่องจำเป็นในการทำธุรกิจ เพราะพาร์ทเนอร์จะช่วยให้คุณขยายตลาด ขยายธุรกิจ หรือสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของคุณได้ในระยะยาว

แต่การหาพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะหาพาร์ทเนอร์อย่างไรให้อยู่กับธุรกิจเราไปนานๆ ยิ่งยากกว่า วันนี้คุณโบ๊ท ผไท ผดุงถิ่น CEO & Co-Founder บริษัท Builk One Group ได้เปิดเผยเคล็ดลับเข้าใจง่ายกับการหาพาร์ทเนอร์ให้พวกเราได้รู้กัน


ก่อนจะเป็นพาร์ทเนอร์

สิ่งแรกเรื่องที่ควรรู้ก่อนจะเป็นพาร์ทเนอร์กัน คือ “จุดประสงค์” ต้องมีร่วมกัน เช่น ถ้าเป็น Startup เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ ย่อมต้องอยากได้คนสนับสนุนในเรื่องของทุน ก็อาจต้องหาทางพาร์ทเนอร์กับเหล่าธนาคาร หรือนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในบริษัทใหม่ๆ แต่ถ้าทำไปสักระยะแล้วเราอาจต้องการพาร์ทเนอร์กับ Corporate ใหญ่เพื่อเพิ่มฐานการเติบโต เป็นต้น 


ลักษณะของ Partnership

  1. Growth Partnership การจับคู่กันแล้วเกิดการเติบโตท้ังด้านความรู้ และประสบการณ์
  2. Revenue Partnership การจับคู่กันแล้วเกิดการงอกเงยของรายได้ทั้งสองทาง
  3. Resource Partnership การจับคู่กันแล้วอาศัยทรัพยากรของอีกฝั่งได้ 

ส่วนตัวคุณโบ๊ทเองได้ยกตัวอย่างไว้ว่า พาร์ทเนอร์ที่เขาประทับใจมีสองแห่ง แห่งแรกคือ บริษัท SCG ที่ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาเกือบปีในการหาจังหวะที่เหมาะสมกันได้ แต่ประทับใจการทำงานของทีมงาน SCG ที่สามารถส่งไม้ต่อให้กันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ SCG เป็นทั้ง Growth Partnership และ Revenue Partnership จนกลายมาเป็นหุ้นส่วนในที่สุด อีกแห่งคือ Kbank ที่เป็น Growth Partnership มีจุดประสงค์ร่วมกันในการต้องการทำให้ SME เติบโตขึ้น แล้วยิ่งพอมีทีม Katalyst ที่เป็นเหมือน Connector คอยหาพาร์ทเนอร์อื่นๆ และยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันให้ความรู้กันเสมอ ยิ่งช่วยให้ Builk One Group ก้าวไปได้ไกลกว่าเดิมอีก 


การหาพาร์ทเนอร์เหมือนหาคู่เต้นรำ

การจะเต้นรำถ้าคู่เต้นของเราและเราไม่สามารถเต้นให้สอดประสานจังหวะกันได้ คนหนึ่งถนัดเต้น Tango อีกคนถนัดเต้น Waltz คงจะมีฝ่ายใดฝ่ายนึงเหยียบเท้ากันแน่ การหาพาร์ทเนอร์ก็เช่นกัน 

แต่ใช่ว่าเมื่อเจอคู่เต้นที่จังหวะตรงกับเราแล้ว จะไม่มีการเรียนรู้ปรับเปลี่ยน เพราะระหว่างทางก็ต้องค่อยๆ ศึกษารายละเอียดอื่นๆ อีก เกิดระหว่างทางร่วมมือกันแล้ว ไม่เวิร์ค ก็ต้องกลับมาสะท้อนว่าปัญหาเกิดจากอะไร คุ้มค่าที่จะเดินหน้าต่อไหม จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ


หากไม่อยากไปต่อต้องบอกกันตรงๆ

การพาร์ทเนอร์กันมีทั้งเวิร์คและไม่เวิร์ค ถ้าไม่เวิร์ค ก็อย่าฝืน อย่าเงียบหาย คนทำธุรกิจต้องมี “มารยาท” ในการทำธุรกิจด้วย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว โปรเจคนี้ไม่เวิร์ค หากมีโอกาสอื่นมาใหม่ โปรเจคหน้าอาจจะเวิร์คก็ได้ 


อย่าตกม้าตายด้วยการไม่ทำสัญญา

ความยากของการเป็นพาร์ทเนอร์กับ Corporate ใหญ่ๆ คือ มีการปรับเปลี่ยนคนในตำแหน่งเป็นประจำ เมื่อคนเปลี่ยน ทิศทางในการทำงานก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำโปรเจคพาร์ทเนอร์กับบริษัทนั้นๆ เรื่องอะไร สิ่งสำคัญคือ “Partnership Agreement” มีการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย Deadline และการวัดผลที่ชัดเจน หากสิ่งเหล่านี้ชัดเจน ต่อให้คนในตำแหน่งเปลี่ยน แต่การทำงานจะต้องไปเปลี่ยนตาม 


บริษัทเล็กก็หาพาร์ทเนอร์ที่ยิ่งใหญ่ได้

หลายคนกังวลว่าตัวเองเพิ่มเริ่มทำธุรกิจ ไม่มี Connection มากมาย ไม่มีทรัพยากรช่วยในการเติบโต แต่หากมองในทางกลับกัน ถ้าคนเพิ่งเริ่มไม่มีเครดิต ก็ย่อมหาคนร่วมลงเรือเดียวกันด้วยยากอยู่แล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ สร้างความน่าเชื่อถือ ทำตัวให้เป็นที่รู้จัก อย่าง Builk One เองก็เริ่มจากการลงประกวด Software หลายงาน จากเวทีเล็กสู่เวทีใหญ่ พอเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็เริ่มมีคนอยากเข้าหา อยากร่วมงานด้วย 

“การหาพาร์ทเนอร์ให้ยั่งยืนก็เหมือนการหาทีมงานในบริษัท ต้องมีการตอบแทนกันให้อย่างเหมาะสม ถามหาความคาดหวัง จากนั้นทำให้ได้ตามที่คุยกันไว้ หากไม่สำเร็จต้องมาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้จะพลาดพลั้งอะไรไป แต่เราต้องแสดงความตั้งใจให้พาร์ทเนอร์เห็นให้ได้” คุณโบ๊ทได้กล่าวปิดท้าย


“If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.” 

trending trending sports recipe

Share on

Tags