Greenflation เมื่อปรากฏการณ์รักษ์โลกเป็นหนึ่งในต้นเหตุเงิน?

Last updated on ก.พ. 1, 2022

Posted on ม.ค. 27, 2022

ในขณะที่ทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวและพยายามสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อลดภาวะโลกร้อน จนเกิดเป็นแคมเปญ Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

การที่โลกอุณหภูมิสูงขึ้นกลายเป็นวาระระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ ประเทศต่างๆ ต้องพยายามหาทางร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการปล่อยของเสียจากบ้าน รถยนต์ โรงงาน อะไรก็ตามที่เกิดการเผาไหม้


เงินเฟ้อ คือ อะไร 

เงินเฟ้อ เกิดได้สองปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ความต้องการของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่สองคือ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เกิดสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นก็เกิดจากทั้งสองปัจจัย เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากความอัดอั้นที่ไม่ได้ซื้อมานาน (Revenge Spending) ความต้องการสินค้าจึงเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิต ผลิตสินค้าและบริการไม่ทัน ทำให้เกิดอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ในขณะเดียวกัน ต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง เหล่านี้ก็ราคาสูงขึ้นด้วย เพราะการผลิตหยุดชะงักไปในช่วงการระบาดของโรค รวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สะดุดในช่วงนี้ด้วย (Supply Chain Disruption)


แล้ว Net Zero เกี่ยวอะไรกับเงินเฟ้อ

เมื่อทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อลดการใช้พลังงานจากถ่านหินซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากในการผลิต แต่เราก็ลืมกันไปว่า วัตถุดิบในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือ แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้นต่างต้องใช้วัตถุดิบ “สินแร่หายาก” อย่าง ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี ซึ่งเดิมทีก็ถูกนำไปใช้กับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีความต้องการมากขึ้นเพื่อนำมาผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และรถไฟฟ้า จึงยิ่งผลักดันให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้สูงขึ้นไปอีก เราเรียกสถานการณ์เงินเฟ้อที่มาจากการรักษ์โลกนี้ว่า “Greenflation” หรือ “เงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม” 

กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) แบบที่เราเห็นกันอยู่ในตอนนี้กำลังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ความกดดันที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศออกกฎหมายบังคับภาคเอกชนให้ทำตามด้วย เมื่อธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหันมาใช้พลังงานทางเลือกแบบนี้ ความต้องการทางวัตถุดิบเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าจะลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กันต่อไป 


แม้ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหลายคนจะออกมาให้ความเห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อ นั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น แต่หากเรารู้ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันอย่าง Greenflation แบบนี้เรา เราอาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่แล้วว่าจะมีทางแก้ไขอย่างไรที่ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการดูแลโลกและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันได้ 


ที่มาของข้อมูล


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

trending trending sports recipe

Share on

Tags